เอแบคโพลล์: กลุ่มประเทศอาเซียน องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ และคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจในความรู้ ความเข้าใจ ของสาธารณชน

ข่าวผลสำรวจ Thursday March 1, 2012 10:07 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC — SIMBA) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียนและในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้าประชาชนคนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัว แต่คำถามที่น่าพิจารณาคือ คนไทยมีความรู้ความเข้าใจต่อกลุ่มประเทศอาเซียน องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศและคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจมากน้อยเพียงไร เอแบคโพลล์จึงได้เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง กลุ่มประเทศอาเซียน องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ และคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจในความรู้ ความเข้าใจ ของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ใน 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา จำนวน 2,539 ตัวอย่าง ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1—29 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ที่ www.abacpolldata.au.edu

เมื่อสอบถามประชาชนถึงความรู้ความเข้าใจต่อจำนวนกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.9 ไม่ทราบว่ามีกี่ประเทศ และตอบผิด ในขณะที่ร้อยละ 39.1 ทราบและสามารถระบุได้ถูกต้อง คือ มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้เมื่อสอบถามกลุ่มคนที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.6 เข้าใจว่าประเทศจีนอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในขณะที่เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.3 เข้าใจว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน และจำนวนมากหรือร้อยละ 41.7 เข้าใจว่าประเทศอินเดียอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

เมื่อสอบถามว่าทราบความหมายของคำว่า “อัตราเงินเฟ้อ” หรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.6 ไม่ทราบว่า “อัตราเงินเฟ้อ” หมายถึงอะไร ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 22.4 ทราบว่า “อัตราเงินเฟ้อ” หมายถึงอะไร

และเมื่อถามต่อถึงความหมายของ “จีดีพี” พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.0 ไม่ทราบว่า “จีดีพี” คืออะไร มีเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้นที่ทราบว่า “จีดีพี” คืออะไร

ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่รู้จักองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ โดยร้อยละ 97.5 ระบุไม่รู้จักธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ร้อยละ 95.2 ระบุไม่รู้จักเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ร้อยละ 91.8 ระบุไม่รู้จักธนาคารโลก (World Bank) และร้อยละ 91.3 ระบุไม่รู้จักกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น

          ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจต่อกลุ่มประเทศอาเซียนและคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจไม่เพียงพอ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มหรือกลุ่มคนที่อยู่บนยอดปิระมิดอาจจะถูกมองได้ว่า เป็นการเกาะกลุ่มรวมตัวกันของกลุ่มผลประโยชน์ (interest groups) และแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มคนบางคนบนยอดปิระมิดนั้น        จึงน่าจะพิจารณาให้การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นการรวมตัวกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยทำรากฐานนั่นคือประชาชนรากฐานใหญ่ของแต่ละประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจต่อคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงเวลานี้ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะหากขั้นตอนแรกของกระบวนการยึดมั่นผูกพันและภาคปฏิบัติยังอ่อนแอ นั่นคือ คนไทยที่เป็นประเทศเปิดเสรีส่วนมากยังไม่รู้ไม่เข้าใจ (Understanding) ต่อคำสำคัญพื้นฐาน เช่น เงินเฟ้อ จีดีพี  เขตการค้าเสรีอาเซียน และสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว จะมีสักกี่คนที่ตระหนักถึงความสำคัญ (Awareness) ของการรวมตัวกัน จะนำไปสู่ความผูกพัน ( Commitment) และภาคปฏิบัติ (Practice) ในการมีส่วนร่วม (Participation) ที่ยั่งยืนและเหนียวแน่นจากภาคประชาชนของแต่ละประเทศที่เป็นรากฐานสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างไร

“ดังนั้น ในระยะสั้น แหล่งข่าวและสื่อมวลชนจึงจะเป็นคณาจารย์ที่สำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้แก่สาธารณชนทราบ เวลาที่อธิบายหรือใช้คำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจในการให้สัมภาษณ์หรือ “เล่าข่าว” น่าจะให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอธิบายถึงความหมายและบทบาทสำคัญของคำศัพท์พื้นฐานด้านเศรษฐกิจต่อวิถีชีวิตของประชาชนคือทำให้เรื่องประชาคมอาเซียนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนให้มากขึ้นน่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่ค้นพบในการวิจัยครั้งนี้” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า               ร้อยละ 60.7 เป็นเพศหญิง

ร้อยละ 39.3 เป็นเพศชาย

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 0.9 ระบุอายุ น้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 11.3 อายุระหว่าง 20-29 ปี

ร้อยละ 23.1 อายุระหว่าง 30-39 ปี

ร้อยละ 30.9 ระบุอายุระหว่าง 40-49 ปี

และร้อยละ 33.8 ระบุอายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 86.0 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 12.7 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 1.3 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

นอกจากนี้ ร้อยละ 40.3 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ

ร้อยละ 32.9 เป็นเกษตรกร/รับจ้างแรงงาน

ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 6.5 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 8.5 ระบุเป็นพนักงานบริษัท

ร้อยละ 1.6 เป็นนักศึกษา

ร้อยละ 1.5 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

                    ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่า        ร้อยละ 16.3 ระบุรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท

ร้อยละ 33.3 ระบุรายได้ 5,001-10,000 บาท

ร้อยละ 20.1 ระบุรายได้ 10,001-15,000 บาท

ร้อยละ 12.9 ระบุรายได้ 15,001-20,000 บาท

และร้อยละ 17.4 ระบุรายได้มากกว่า 20,000 บาท ตามลำดับ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจำนวนกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ลำดับที่          จำนวนกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน                                           ค่าร้อยละ
1          ไม่ทราบ และตอบผิด                                                            60.9
2          ทราบและตอบได้ถูกต้องว่ามี 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา
           เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์                             39.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน (ในกลุ่มคนที่ตอบผิด)
ลำดับที่          ประเทศในภูมิภาคอาเซียน                               ค่าร้อยละ
1          คิดว่าประเทศจีนอยู่ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน                    56.6
2          คิดว่าประเทศญี่ปุ่น อยู่ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน                  52.3
3          คิดว่าประเทศอินเดีย อยู่ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน                41.7

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่าทราบความหมาย “อัตราเงินเฟ้อ”
ลำดับที่          ทราบความหมาย “อัตราเงินเฟ้อ”                         ค่าร้อยละ
1          ทราบว่า “อัตราเงินเฟ้อ” คืออะไร                              22.4
2          ไม่ทราบว่า “อัตราเงินเฟ้อ” คืออะไร                            77.6
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่าทราบความหมาย “จีดีพี”
ลำดับที่          ทราบความหมาย “จีดีพี”                                ค่าร้อยละ
1          ทราบว่า “จีดีพี” คืออะไร                                      6.0
2          ไม่ทราบว่า “จีดีพี” คืออะไร                                   94.0
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่ารู้จักหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไปนี้
ลำดับที่          หน่วยงาน                              รู้จัก         ไม่รู้จัก         รวมทั้งสิ้น
1          ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)              2.5          97.5          100.0
2          เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)                 4.8          95.2          100.0
3          ธนาคารโลก (World Bank)                   8.2          91.8          100.0
4          กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)            8.7          91.3          100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ