เอแบคโพลล์: สำรวจความแข็งแกร่งมั่นคงของรัฐบาลในสายตาประชาชน และข้อเสนอต่อทางออกของปัญหารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่อง “ชนชั้นผู้ต้องสงสัย”

ข่าวผลสำรวจ Monday March 12, 2012 07:08 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจความแข็งแกร่งมั่นคงของรัฐบาลในสายตาประชาชน และข้อเสนอต่อทางออกของปัญหารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่อง ชนชั้นผู้ต้องสงสัย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ เลย สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ยะลา และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,181 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ — 10 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ระบุรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังมีความแข็งแกร่งมั่นคงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดยร้อยละ 46.8 ระบุว่านายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังมีความเป็นผู้นำมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 23.1 ระบุลดลง

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อแกนนำนักการเมืองผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง (กลุ่มบ้านเลขที่ 111) กลับมาเป็นรัฐมนตรีแก้ปัญหาเดือดร้อนของชาวบ้าน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 เชื่อมั่น เชื่อมือ ในขณะที่ร้อยละ 38.3 ไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อมือ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงรูปแบบที่ควรจะเป็นในการปรับคณะรัฐมนตรีโดยเปิดโอกาสให้กลุ่มแกนนำนักการเมืองผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง (กลุ่มบ้านเลขที่ 111) กลับมาเป็นรัฐมนตรีนั้น พบว่า ร้อยละ 44.8 ระบุควรปรับเข้ามาแบบค่อยเป็นค่อยไป ร้อยละ 25.2 ระบุควรปรับใหม่หมดทั้งคณะ และร้อยละ 11.7 ไม่ควรปรับ ในขณะที่ร้อยละ 18.3 ไม่มีความเห็น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความกังวลต่อเรื่องสองเรื่องคือ กังวลต่อความขัดแย้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับความกังวลเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.9 กังวลเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 24.0 กังวลเรื่องความขัดแย้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า และร้อยละ 12.1 ไม่มีความเห็น และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.8 รับรู้ต่อข่าวรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของชาวบ้าน ค่อนข้างน้อยถึงไม่รับรู้รับทราบเลย ในขณะที่ ร้อยละ 38.2 รับรู้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในข้อมูลข่าวสารที่รับรู้ช่วงนี้ พบว่า ร้อยละ 47.7 ระบุภาพลักษณ์ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 26.7 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 25.6 ระบุแย่ลง

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการเร่งด่วนใน 5 อันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.9 ต้องการให้แก้ปัญหาราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 68.5 ต้องการให้เร่งแก้ไขเรื่องที่ทำกิน การถือครองทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่อันดับที่สาม ร้อยละ 66.3 ระบุความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาชญากรรมและยาเสพติด อันดับที่สี่ ได้แก่ ร้อยละ 63.8 ระบุการแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม มลพิษหมอกควัน และดินโคลนถล่ม ส่วนอันดับที่ห้า ได้แก่ ร้อยละ 54.1 ระบุเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคม

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันจำเป็นต้องเร่งทำงานหนักทุ่มเทให้กับประชาชนเพื่อปิดประตูปิดทาง “ไม่” ให้เกิดสภาวะที่กลุ่มนักการเมืองและข้าราชการประจำถูกมองด้วยอคติแบบเหมารวมว่าเป็น “ชนชั้นผู้ต้องสงสัย” ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นสภาพที่ทำลายบรรยากาศประชาธิปไตย ทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่น่าไว้วางใจ มีแต่โกงกิน ไม่ยอมทำงาน มุ่งแต่ผลประโยชน์และการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งก็มีแต่พวก “เด็กตั๋วเด็กฝาก” ที่คนเหล่านี้พอได้เข้าสู่ตำแหน่งก็มักไม่ยอมรับใช้สาธารณชน หรือถ้าทำก็มีแต่การสร้างภาพหลอกตาอยู่ในหน้าจอทีวีและสื่ออื่นๆ เท่านั้น

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ทางออกคือ ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลที่กำลังมีความแข็งแกร่งมั่นคงเวลานี้ต้องเร่งดำเนินการที่เรียกว่า “สองขั้นสองช่วง” คือ ในช่วงสองปีแรกของวาระการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลต้องเร่งปฏิรูปกฎหมายที่เน้นผลลัพธ์ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์ทั้งเรื่อง “สิทธิแห่งความเป็นเจ้าของทรัพยากร สิทธิแห่งความปลอดภัยและสิทธิแห่งความเป็นธรรมทางสังคมที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ” และหลังปรับปรุงกฎหมายใดๆ แล้วเสร็จ จากนั้นขั้นตอนที่สองเป็นเรื่องของ “การกระจายทรัพยากรและความสุข” ไปยังสาธารณชนทุกหมู่เหล่า โดยมีหลักประกันว่าทรัพยากรจะไม่ตกไปยังมือของกลุ่มนายทุนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จึงจำเป็นต้องทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ของประเทศเกิด “ความเป็นเจ้าของ” ในทรัพยากรเหล่านั้นและมีความสุขอย่างแท้จริง กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องมีการประเมินผลที่เชื่อถือได้ไม่ใช่ให้พรรคพวกหรือกลไกความสัมพันธ์ส่วนตัวประเมินผลงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ เพราะมันจะเกิดสภาวะปกปิดความเป็นจริงหรือหมกเม็ดข้อมูลไม่ยอมให้ชาวบ้านได้รับรู้ ผลร้ายที่จะตามมาคือ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะ “ชนชั้นผู้ต้องสงสัย” ของสังคม

“สังคมไทยเวลานี้จึงจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่า อำนาจพิเศษจะทำได้ ดังนั้นต้องกลับไปเริ่มที่ฐานประชาชนขนาดใหญ่ของประเทศที่ถือว่าเป็นพลังแผ่นดินอย่างแท้จริง ทำให้ชาวบ้านเกิดการรับรู้ข้อมูลความเป็นจริงที่รอบด้านและเข้าใจ เกิดความตระหนัก ยอมเสียสละ ออกมาจากโลกของตนเองสู่โลกภายนอกที่ต้องการเห็นปฏิบัติการของภาคประชาชน (Public Operations) และภาคประชาสังคม เชื่อมโยงรัฐบาล กลุ่มผลประโยชน์และเจ้าหน้าที่รัฐให้เร่งดำเนินการเพื่อความสุขมวลรวมของสาธารณชนที่มีความหลากหลาย (Diversity) ทั้งความเชื่อ ทัศนคติ ชาติพันธุ์ ชนชั้นและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง เพราะการดำรงความหลากหลายให้อยู่ได้ในเอกภาพของความมั่นคงภายในประเทศนั้นต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกภาคส่วน ผลที่ตามมาคือ สภาวะ “ชนชั้นต้องสงสัย” ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐน่าจะลดลง กลายเป็นทางออกอีกแนวทางหนึ่งของสภาวะขัดแย้งแตกแยกของคนในสังคมไทยเวลานี้” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 48.1 เป็นชาย

ร้อยละ 51.9 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 6.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 22.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 28.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 76.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ในขณะที่ ร้อยละ 23.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 34.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 28.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 12.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 11.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.8 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 4.7 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 1.1 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความแข็งแกร่งมั่นคงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ลำดับที่          ความแข็งแกร่งมั่นคงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน          ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด                           76.4
2          ค่อนข้างน้อย ถึงไม่มั่นคงเลย                        23.6
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0
ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
ลำดับที่          ความคิดเห็น                               ค่าร้อยละ
1          มีความเป็นผู้นำมากขึ้น                             46.8
2          เหมือนเดิม                                     30.1
3          ลดลง                                         23.1
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0
ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่น เชื่อมือต่อ แกนนำนักการเมืองผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง(กลุ่มบ้านเลขที่ 111) กลับมาเป็นรัฐมนตรี แก้ปัญหาเดือดร้อนของชาวบ้าน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                               ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่น เชื่อมือ                                  61.7
2          ไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อมือ                              38.3
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0
ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รูปแบบที่ควรจะเป็นในการปรับคณะรัฐมนตรีโดยเปิดโอกาสให้กลุ่มแกนนำนักการเมืองผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง (กลุ่มบ้านเลขที่ 111) กลับมาเป็นรัฐมนตรี
ลำดับที่          ความคิดเห็น                               ค่าร้อยละ
1          ควรปรับเข้ามาแบบค่อยเป็นค่อยไป                    44.8
2          ปรับใหม่หมดทั้งคณะ                               25.2
3          ไม่ควรปรับ                                     11.7
4          ไม่มีความเห็น                                   18.3
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0
ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลต่อความขัดแย้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับ ความกังวลเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า ค่าครองชีพสูงขึ้น
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                          ค่าร้อยละ
1          กังวลเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า ค่าครองชีพสูงขึ้นมากกว่า          63.9
2          กังวลเรื่องความขัดแย้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า               24.0
3          ไม่มีความเห็น                                              12.1
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0
ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ต่อข่าวรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของชาวบ้าน
ลำดับที่          การรับรู้                                        ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างน้อยถึงไม่รับรู้รับทราบเลย                          61.8
2          ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด                                  38.2
          รวมทั้งสิ้น                                            100.0
ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร ในข้อมูลข่าวสารที่รับรู้ช่วงนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                 ค่าร้อยละ
1          ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากขึ้น          47.7
2          เหมือนเดิม                                        26.7
3          แย่ลง                                            25.6
          รวมทั้งสิ้น                                         100.0
ตารางที่ 8 แสดง 5 อันดับแรกที่ต้องการให้รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการเร่งด่วน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งต้องการเร่งด่วน                                                     ค่าร้อยละ
1          ปัญหาราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้น                                              73.9
2          ที่ดินทำกิน การถือครองทรัพยากรธรรมชาติ                                         68.5
3          ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาชญากรรม และยาเสพติด                         66.3
4          การแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม มลพิษหมอกควัน ดินโคลนถล่ม      63.8
5          ความไม่เป็นธรรมทางสังคม การเลือกปฏิบัติ                                        54.1

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ