เอแบคโพลล์: สาธารณชนคิดอย่างไรต่อสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลงานรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ข่าวผลสำรวจ Monday July 23, 2012 07:44 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สาธารณชนคิดอย่างไรต่อสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลงานรัฐบาลชุดปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี สตูล ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,144 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 16 - 21 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.8 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.6 คิดว่าความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่จบลง หลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.7 เชื่อว่า ศาล จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ไม่เชื่อว่า รัฐสภา จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ นอกจากนี้ ร้อยละ 65.2 ไม่เชื่อว่า สมาชิกวุฒิสภา จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ ร้อยละ 66.7 ไม่เชื่อนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 67.2 ไม่เชื่อกองทัพ ร้อยละ 68.8 ไม่เชื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 71.6 ไม่เชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านจะช่วยลดความขัดแย้งลงได้

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.9 คิดว่า การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญแล้วความวุ่นวาย ความขัดแย้งจะยังไม่จบลง เพราะ ความแตกแยกของคนในชาติ การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ฝ่ายการเมืองเอาแต่แย่งชิงอำนาจ ต่างฝ่ายต่างชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เป็นเรื่องผลประโยชน์และนิสัยคนไทยคือขี้แพ้ชวนตี เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 37.1 คิดว่าจะจบลง เพราะ ทุกคนต้องการให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า เพราะความสามัคคีของคนในชาติ และถ้าต่างฝ่ายต่างมีความเสียสละไม่ยุยงปลุกปั่นคนในชาติ และถ้าทุกฝ่ายยอมรับกติกา เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อขอให้ประชาชนประเมินผลงานรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 50.4 ระบุปัญหายาเสพติดในชุมชนที่พักอาศัยยังคงมีเหมือนเดิม ร้อยละ 21.9 ระบุแย่ลง ร้อยละ 27.7 ระบุดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 46.4 ระบุปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ราคาสินค้า แย่ลง ร้อยละ 31.7 ระบุมีปัญหาเหมือนเดิม แต่มีเพียงร้อยละ 21.9 ระบุดีขึ้น

เมื่อถามถึง ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ การป้องกันและเยียวยาแก้ไข พบว่า ร้อยละ 45.4 ระบุเหมือนเดิม ร้อยละ 23.8 ระบุแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ระบุดีขึ้น สำหรับปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน พบว่า ร้อยละ 46.3 ระบุเหมือนเดิม ร้อยละ 26.2 ระบุแย่ลง และร้อยละ 27.5 ระบุดีขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ เกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.2 ระบุปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ แย่ลง ในขณะที่ ร้อยละ 39.4 ระบุยังคงมีความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติเหมือนเดิม และร้อยละ 12.4 ระบุดีขึ้น นอกจากนี้ เมื่อสอบถามโดยภาพรวมว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคุณเป็นเช่นไร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ระบุเหมือนเดิม ร้อยละ 18.6 ระบุแย่ลง แต่ร้อยละ 21.1 ระบุดีขึ้น ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.8 ยังคงสนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เข้าสู่โหมดของการปฏิบัติการยื้อแย่งอำนาจในการวางกรอบกติกาสูงสุด เพราะฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจกำลังเล็งเห็นว่า กรอบกติกาในเวลานี้เป็นอุปสรรคสำคัญทั้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและในเสถียรภาพของอำนาจที่มีอยู่ อันอาจจะทำให้ยากต่อการรักษาเสถียรภาพและการเข้าสู่เป้าหมายที่มุ่งหวังไว้ ผลที่ตามมาคือ ความขัดแย้งรุนแรงจะไม่มีวันจบสิ้น เพราะถ้าการวางกรอบกติกาใหม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบความสำเร็จ อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจเข้ามาวางกรอบกติกาใหม่ด้วยวิธีการใดๆ ในอนาคตได้อีก และก็จะเกิดการยื้อแย่งกันไปมาเช่นนี้ตลอดไป ดังนั้นทางออกมีอย่างน้อยสามลักษณะคือ กรอบกติกาที่ดีต้องเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ต้องทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติ และต้องมาจากกลุ่มคนที่เป็นที่ยอมรับเป็นตัวแทนของสาธารณชนอย่างแท้จริง นั่นหมายถึง สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ถ้าจะปรับแก้รัฐธรรมนูญก็น่าจะให้ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และภาคประชาชนลองสร้าง “แบบจำลอง” (Constitutional Simulation) ขึ้นมาหลายๆ โมเดลอย่างน้องสามรูปแบบคือ รูปแบบที่หนึ่งเป็นรูปแบบของการเริ่มสร้างชาติวางกติกากันใหม่ รูปแบบที่สองเป็นรูปแบบของการปรับแก้ไข และรูปแบบที่สาม เป็นการรักษาหวงแหนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ไว้ การสร้างแบบจำลองเหล่านี้น่าจะนำไปสู่แนวคิดแนวปฏิบัติที่รอบคอบของการเปลี่ยนผ่านปัญหาต่างๆ ได้อย่างสันติวิธีบนวิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริง

“ในขณะเดียวกัน อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน (Public Mood) ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะสัมพันธ์กับการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนและฝ่ายการเมือง โดยสาระสำคัญอันดับแรกที่จะทำให้สาธารณชนเกิดการปฏิบัติแนวร่วมสนับสนุน ส่วนหนึ่งคือการทำงานของรัฐบาลที่ต้องจับต้องได้โดนใจสาธารณชนผ่านการทำงานตามแนวนโยบายที่ลดทอนความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เพราะผลสำรวจยืนยันให้เห็นว่า ปัญหายาเสพติดยังมีมากเหมือนเดิมไม่ได้ลดลงตาม “ภาพหน้าจอ” ที่ปรากฏ เพราะในบ้าน หน้าบ้าน ในชุมชนของชาวบ้านยังมีปัญหาเดือดร้อนที่เป็นผลพวงจากปัญหายาเสพติดในครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังคงเห็นว่า คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้ดีขึ้น แต่ยังคงเหมือนเดิมไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดก่อน เหล่านี้เป็นอีก “ขา” หนึ่งที่รัฐบาลน่าจะพิจารณาทำให้ก้าวเดินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโดยทำให้เห็นความแตกต่างไม่ใช่มีแต่เรื่องความสวยความงาม ความมีเสน่ห์น่ารักของผู้นำประเทศ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการความมั่นคงในชีวิต ปลอดภัยจากยาเสพติด มีรายได้มากเพียงพอในการจับจ่ายใช้สอย ไม่เป็นหนี้ล้นพ้นตัว จากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากได้บ้านเมืองที่ดูดี สวยงามและรับประทานได้มากกว่า” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.3 เป็นชาย ร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 36.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 7.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.4 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.0 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          ติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา     ค่าร้อยละ
1          เป็นประจำทุกสัปดาห์                                          85.8
2          ไม่ค่อยติดตามถึงไม่ติดตามเลย                                   14.2
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                          ค่าร้อยละ
1          ความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะจบลง หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน    20.4
2          ไม่จบ                                                     79.6
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุหน่วยงาน องค์กรหรือบุคคล จะเข้ามาช่วยลดความขัดแย้งลงได้
ลำดับที่          หน่วยงาน องค์กร และตัวบุคคล         เชื่อ          ไม่เชื่อ         รวมทั้งสิ้น
1          ศาล                                 52.7          47.3          100.0
2          รัฐสภา                               38.6          61.4          100.0
3          ส.ว (สมาชิกวุฒิสภา)                    34.8          65.2          100.0
4          นายกรัฐมนตรี                          33.3          66.7          100.0
5          กองทัพ                               32.8          67.2          100.0
6          ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล                        31.2          68.8          100.0
7          ส.ส.ฝ่ายค้าน                          28.4          71.6          100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญแล้วความวุ่นวาย ความขัดแย้งจะจบลง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                              ค่าร้อยละ
1          จบ เพราะ ทุกคนต้องการให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า เพราะความสามัคคีของคนในชาติ
           และถ้าต่างฝ่ายต่างมีความเสียสละไม่ยุยงปลุกปั่นคนในชาติ และถ้าทุกฝ่ายยอมรับกติกา เป็นต้น         37.1
2          ไม่จบ เพราะ ความแตกแยกของคนในชาติ การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ฝ่ายการเมืองเอาแต่แย่งชิงอำนาจ

ต่างฝ่ายต่างชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เป็นเรื่องผลประโยชน์และนิสัยคนไทยคือขี้แพ้ชวนตี เป็นต้น 62.9

              รวมทั้งสิ้น                                                                  100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการประเมินผลงานของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน
ลำดับที่          การประเมินผลงานของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน                  ดีขึ้น     เหมือนเดิม        แย่ลง      รวมทั้งสิ้น
1          ปัญหายาเสพติดในชุมชนที่พักอาศัย                            27.7       50.4          21.9        100.0
2          ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ราคาสินค้า                        21.9       31.7          46.4        100.0
3          ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ การป้องกัน เยียวยาแก้ปัญหา           30.8       45.4          23.8        100.0
4          ปัญหาคุณภาพเด็ก และเยาวชน                              27.5       46.3          26.2        100.0
5          ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ                      12.4       39.4          48.2        100.0
6          โดยภาพรวม รัฐบาลชุดปัจจุบันทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคุณเป็นเช่นไร 21.1       60.3          18.6        100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการสนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่          การสนับสนุน            ค่าร้อยละ
1          สนับสนุน                     65.8
2          ไม่สนับสนุน                   34.2
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ