เอแบคโพลล์: ผลวิจัยประมาณการจำนวนผู้ใช้ยาบ้าในประเทศจำแนกตามกลุ่มอาชีพ และผลวิจัยเชิงคุณภาพต่อนโยบายรัฐบาลว่าด้วยการแก้ปัญหายาเสพติด

ข่าวผลสำรวจ Thursday August 30, 2012 10:28 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ปัญหายาเสพติด ผลวิจัยประมาณจำนวนผู้ใช้ยาบ้าในประเทศจำแนกตามกลุ่มอาชีพและผลวิจัยเชิงคุณภาพต่อนโยบายรัฐบาลว่าด้วยการแก้ปัญหายาเสพติด กรณีศึกษาตัวอย่างเยาวชนและประชาชนอายุ 12 — 65 ปี ในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ราชบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม สกลนคร ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง ชุมพร และสงขลา จากกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 48,354,601 คน ดำเนินโครงการระหว่าง เดือน มีนาคม — สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น สุ่มจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน/หมู่บ้าน ครัวเรือน และเยาวชนและประชาชนที่ตอบแบบสอบถามในระดับครัวเรือน จำนวน 12,486 ครัวเรือน มีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

จากการประมาณการด้วยหลักสถิติวิจัยเชิงสำรวจพบว่า ในกลุ่มประชากรกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศมีผู้เคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา 3.7 ล้านคน และผู้เคยใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีก่อนการสำรวจมีอยู่ประมาณเกือบ 3 ล้านคน จึงอาจกล่าวว่าประมาณร้อยละ 80 ของผู้เคยใช้ยาบ้าครั้งหนึ่งในชีวิตยังคงใช้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อจำแนกตามอาชีพในกลุ่มผู้เคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา พบว่าเป็น กลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป กลุ่มเกษตรกร ก่อสร้าง ขับรถ และรักษาความปลอดภัย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.2 ล้านคนเคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา รองลงมาคือ กลุ่มคนว่างงาน กำลังหางานมีประมาณ 7.9 แสนคนที่ใช้ยาบ้านตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา และอันดับสามคือ กลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและลูกจ้างหน่วยงานรัฐมีอยู่ประมาณ 4.8 แสนคน อันดับสี่คือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา มีอยู่ประมาณ 4.5 แสนคน กลุ่มอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัวมีอยู่ประมาณ 2.8 แสนคน กลุ่มรับจ้างที่ต้องใช้ความรู้นอกภาคการเกษตรมีประมาณ 2.1 แสนคน กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนระดับปฏิบัติงานมีอยู่ประมาณ 1.5 แสนคน และกลุ่มอาชีพอิสระมีอยู่ประมาณ 9 หมื่นกว่าคนที่ใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา

เมื่อวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนของผู้ใช้ยาบ้ากลับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นกล่าวคือยังคงมีผู้ใช้ยาบ้าอยู่ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่เคยใช้ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา และเมื่อจำแนกกลุ่มอาชีพแล้วพบว่า อันดับแรกที่ยังใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคือ กลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป กลุ่มเกษตรกร ก่อสร้าง ขับรถ และรักษาความปลอดภัย มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคนที่เคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา รองลงมาคือ กลุ่มคนว่างงาน กำลังหางานทำ มีอยู่กว่า 6.2 แสนคน อันดับสามยังคงเป็นกลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ มีอยู่ประมาณ 3.7 แสนคน และรองๆ ลงไปคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษากว่า 3.5 แสนคน กลุ่มค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว กว่า 2.2 แสนคน และกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ยังคงใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ผลโพลล์ต่างๆ ที่สำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อนโยบายรัฐบาลด้านแก้ปัญหายาเสพติดแล้วพบว่าได้รับความพึงพอใจในอันดับต้นๆ นั้น คณะวิจัยได้ทำวิจัยเชิงคุณภาพกับกลุ่มนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ถูกศึกษาระบุว่าผลโพลล์ความพึงพอใจของประชาชนที่รัฐบาลได้รับจากการแก้ปัญหายาเสพติดนั้นมักจะเป็นข้อมูลแบบ Non-Attitude คือเป็นข้อมูลจากประชาชนที่ตอบออกมาจากสิ่งที่นึกได้อย่างเร็วๆ ไม่ได้ตรึกตรองอย่างลึกซึ้ง โดยมักจะเป็นคำตอบจากอิทธิพลของสื่อต่างๆ เป็นหลักนั่นคือ ผลงานของรัฐบาล “หน้าจอ” แตกต่างไปจาก สถานการณ์ปัญหายาเสพติด “หน้าบ้านในชุมชน” ของประชาชน และการตั้งคำถามในแบบสอบถามของโพลล์ทำให้คนตอบสิ่งที่รีบตอบเพื่อให้จบการสัมภาษณ์โดยเร็วมากกว่า ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามที่ชี้สถานการณ์เพิ่มเติมในการสำรวจ เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน แหล่งมั่วสุมต่างๆ เป็นต้น และการสนทนากลุ่มหรือสัมภาษณ์เจาะลึกซึ่งผลวิจัยก็จะได้คำตอบในอีกลักษณะหนึ่ง

คณะวิจัยยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในเวลานี้ไม่ค่อยแตกต่างไปจากสถานการณ์ปัญหายาเสพติดก่อนที่รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จะประกาศสงครามยาเสพติด แต่ข้อมูลที่ค้นพบผู้ใช้ยาบ้าในช่วง 1ปีที่ผ่านมานี้ต้องไม่นำไปสู่การมีอคติแบบเหมารวมกับกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากระบบที่ใช้ในหลายประเทศที่เรียกกันว่า Profiling แต่ผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่เสนอแนะว่าควรเน้นการแก้ปัญหายาเสพติดไปที่การบำบัดฟื้นฟูและการป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ถูกศึกษายังระบุว่า กลไกการทำงานเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการของรัฐบาลเกือบทุกชุดที่ผ่านมาก็ดูจะด้อยกว่ายุครัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อีกด้วย กล่าวคือ การทำงานมักจะไม่ได้บูรณาการกันอย่างแท้จริงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ก็มีการตั้งกำแพงขึ้นมา โดยผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่ระบุว่า ยิ่งช่วงรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งมีปัญหาในการแก้ปัญหายาเสพติดมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถมีนโยบายที่ดี แตกต่างไปจากช่วงยุครัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อย่างมาก เพราะไม่ค่อยมีกลไกที่จูงใจข้าราชการผู้ปฏิบัติชั้นผู้น้อยในพื้นที่เท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ ผู้ถูกศึกษาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ระบุว่า กฎหมายที่มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด แต่ผู้ถูกศึกษาที่เป็นประชาชนทั่วไปกลับมองว่า กฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นกฎหมายที่ดี แต่รัฐบาลต้องหาแนวทางอื่นในการแก้ปัญหายาเสพติด เช่น จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพิ่มทรัพยากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แก้กฎหมายที่อำนวยต่อการสืบสวนสอบสวน การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และการจัดทำฐานข้อมูลติดตามเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้กฎหมายสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลอีกต่อไป เพราะมีหลักฐานชี้ชัดต่อกลุ่มผู้ต้องสงสัยและน่าจะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นไม่เกิดกรณีฆ่าตัดตอนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

“ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองเหมือนในอดีต แต่ทำไมปัญหายาเสพติดจึงมากขนาดนี้ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะอ้างว่าต้องจัดสรรกำลังไปดูแลม็อบอีกไม่ได้แล้ว ฝ่ายกำหนดนโยบายจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ “ชุมชน” การระดมกำลังสแกนหรือทำเอ็กซ์เรย์พื้นที่การแพร่ระบาดและพื้นที่เสี่ยงอย่างครอบคลุมเพื่อเข้าถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่ใกล้ตัวประชาชนได้อย่างแท้จริง และใช้ “ยาแรง” และการปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณ และส่งเสริมขวัญกำลังใจให้คนที่ทำงานแก้ปัญหายาเสพติดได้มีโอกาสเติบโตก้าวหน้าในสายงานของตนเองอย่างมั่นคง” ผู้ถูกศึกษาจำนวนหนึ่งกล่าวในทิศทางเดียวกัน

ที่น่าเป็นห่วงคือ การสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มผู้ปกครองของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับสารตั้งต้นยาบ้าและส่งผลต่อการจำหน่ายยาในโรงพยาบาลที่มีสารซูโดอีเฟดีน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบนโยบายของรัฐบาลเพราะกระทบต่อยารักษาโรคภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยและไม่ทำความเข้าใจให้ผู้ป่วยทราบทางเลือกในการใช้ยารักษาโรคอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทราบอย่างกว้างขวาง

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ข้อมูลผลวิจัยสถานการณ์ปัญหายาเสพติดชี้ให้เห็นว่า ยาเสพติดกลับคืนมาสู่สังคมไทยอย่างเต็มที่แล้ว และจำนวนผู้เสพยาบ้าในช่วง 1 ปีก็เพิ่มจำนวนเข้าใกล้จำนวนคนที่เคยใช้ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา อาจชี้ให้เห็นว่ามาตราการปราบปรามและการบำบัดรักษากำลังประสบความล้มเหลว เนื่องจากมีตัวตายตัวแทนในขบวนการค้ายาและการบำบัดรักษาที่ขาดระบบติดตามอย่างต่อเนื่องรวมถึงไม่มีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อเปิดโอกาสให้ขบวนการค้ายาเสพติดมีอาชีพสุจริตและเป็นที่ยอมรับของสังคม

“ข้อเสนอแนะคือ รัฐบาลต้องตัดสินใจแต่งตั้งคณะบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรในทุกมิติทั้งในด้านการปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา และการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงแท้จริง ไม่มุ่งเน้นไปเพียงการบังคับใช้กฎหมายและการปราบปรามอย่างเดียว เพราะการมีตัวตายตัวแทนของขบวนการค้ายาเสพติดอาจนำไปสู่สภาวะสงครามยาเสพติดที่ยืดเยื้อไม่มีวันจบสิ้น เปิดช่องให้มีการใช้งบประมาณเพื่อการปราบหวังคะแนนนิยมเพียงอย่างเดียวแต่สถานการณ์ปัญหายาเสพติดบนความทุกข์ของประชาชนยังคงมีอยู่ เพราะปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสังคมและเกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ การทุจริตคอรัปชั่น สภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ดังนั้นจึงต้องการคนที่มีมุมมองในทุกมิติและเอาจริงเอาจังในทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบฐานข้อมูลติดตามกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดทั้งผู้เสพ ผู้ค้าและผู้ผลิตอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆ ปี ไม่ใช่มีระบบติดตามเพียงไม่กี่เดือนกี่ปีอย่างที่มีอยู่ในทุกวันนี้ จึงหวังว่าถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรีและการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ นายกรัฐมนตรีน่าจะมีคณะบุคคลที่รับผิดชอบด้านแก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ดร.นพดล กล่าว จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 50.8 เป็นหญิง ร้อยละ 49.2 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 15.5 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.2 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 21.4 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 20.8 อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 23.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยตัวอย่างร้อยละ 28.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.3 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 11.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ร้อยละ 76.6 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.0 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป

ตารางที่ 1 ผลประมาณการจำนวนผู้ใช้ยาบ้า/ยาม้าทั่วประเทศ จำแนกตามกลุ่มอาชีพ ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา
                จำนวนประชากร / อาชีพ                                     จำนวนประชากรที่ใช้ยาบ้า

เคยใช้ ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา

   รวมทั่วประเทศ              48,354,601
1. กลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป กลุ่มเกษตรกร ก่อสร้าง ขับรถ และรักษาความปลอดภัย             1,295,078
2. ว่างงาน/กำลังหางาน                                                            795,316
3. ข้าราชการ / เจ้าหน้าที่รัฐ / ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ                                    482,021
4. นักเรียน/นักศึกษา                                                               455,599
5. ค้าขาย / ธุรกิจส่วนตัว                                                           285,740
6. รับจ้างที่ต้องใช้ความรู้ (นอกภาคการเกษตร)                                           210,253
7. พนักงานเอกชนระดับปฏิบัติงาน                                                      157,402
8. อาชีพอิสระ                                                                     93,233
   รวม                                                                       3,774,642

ตารางที่ 2 ผลประมาณการจำนวนผู้ใช้ยาบ้า/ยาม้าทั่วประเทศ จำแนกตามกลุ่มอาชีพ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
                 จำนวนประชากร / อาชีพ                                   จำนวนประชากรที่ใช้ยาบ้า
   รวมทั่วประเทศ                          48,354,601                       เคยใช้ยาบ้าใน 1 ปี
1. กลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป กลุ่มเกษตรกร ก่อสร้าง ขับรถ และรักษาความปลอดภัย             1,017,258
2. ว่างงาน/กำลังหางาน                                                            624,705
3. ข้าราชการ /เจ้าหน้าที่รัฐ / ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ                                     378,618
4. นักเรียน/นักศึกษา                                                               357,864
5. ค้าขาย / ธุรกิจส่วนตัว                                                           224,443
6. รับจ้างที่ต้องใช้ความรู้ (นอกภาคการเกษตร)                                           165,152
7. พนักงานเอกชนระดับปฏิบัติงาน                                                      123,636
8. อาชีพอิสระ                                                                     73,232
   รวม                                                                       2,964,908

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ