เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของผู้ติดตามชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข่าวผลสำรวจ Wednesday November 28, 2012 09:29 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (ABAC Real-Time POLL)” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวทันต่อเหตุการณ์ จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง : เสียงสะท้อนของผู้ติดตามชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,231 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 — 27 พฤศจิกายน 2555 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย นราธิวาส และสงขลา พบว่า

เมื่อสอบถามประเด็นต่างๆ ของข้อมูลในการอภิปรายระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เช่น การให้ข้อมูลใหม่ ข้อมูลชัดเจน ความน่าเชื่อถือ พูดได้ตรงใจ เป็นห่วงเป็นใยประชาชน และนโยบายแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน พบว่า ในประเด็นการให้ข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ฝ่ายค้าน ได้ร้อยละ 45.0 ฝ่ายรัฐบาล ได้ร้อยละ 29.8 สำหรับประเด็นข้อมูลชัดเจน จับต้องได้ ฝ่ายค้าน ได้ร้อยละ 44.8 ฝ่ายรัฐบาล ได้ร้อยละ 31.3 ในประเด็นความน่าเชื่อถือของข้อมูลพบว่า ฝ่ายค้าน ได้ร้อยละ 43.5 ฝ่ายรัฐบาล ได้ร้อยละ 36.1 อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่พูดได้ตรงตามความคาดหวัง ฝ่ายค้านได้ร้อยละ 36.8 ฝ่ายรัฐบาล ได้ร้อยละ 48.7 ที่น่าสนใจคือประเด็นความห่วงใยประชาชนธรรมดาทั่วไป พบว่า ก่ำกึ่งกันคือ ฝ่ายค้าน ได้ร้อยละ 46.2 ฝ่ายรัฐบาล ได้ร้อยละ 47.8 และประเด็นนโยบายแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน พบว่า ฝ่ายค้านได้ร้อยละ 38.7 แต่ฝ่ายรัฐบาล ได้ร้อยละ 57.2

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือความไว้วางใจของประชาชนที่ติดตามการอภิปรายครั้งนี้ต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ยังคงไว้วางใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ร้อยละ 31.4 ไม่ไว้วางใจ รองลงมาคือ ร้อยละ 56.1 ไว้วางใจ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในขณะที่ร้อยละ 43.9 ไม่ไว้วางใจ และเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.2 ไว้วางใจ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ในสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ร้อยละ 46.8 ไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ ก่ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 50.6 ไว้วางใจ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่ร้อยละ 49.4 ไม่ไว้วางใจ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.8 คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อฝ่ายการเมืองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า คะแนนออกมาค่อนข้างดีทั้งสองฝ่ายและสูสีกันคือ ฝ่ายค้าน ได้ 6.42 ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ 6.34 คะแนน

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว พบว่า ร้อยละ 56.9 ระบุควรปรับคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นออก เพราะถ้าไม่ปรับจะทำให้เสื่อมความนิยมศรัทธาต่อรัฐบาล เกรงจะเกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอีก บ้านเมืองจะวุ่นวาย พรรครัฐบาลยังมีคนดีมีความสามารถอีกมาก และข้อมูลของฝ่ายค้านมีน้ำหนักเพียงพอ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 43.1 ระบุยังไม่ควรปรับ เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล กลุ่มนายทุนพรรคจะไม่พอใจ ข้อมูลฝ่ายค้านยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ รัฐมนตรีชี้แจงได้ คนที่ถูกกล่าวหายังไม่มีโอกาสชี้แจง และต้องให้โอกาสทำงานต่อไปก่อน เป็นต้น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เมื่อวิจัยเชิงคุณภาพสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลและไม่สนับสนุนรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่ระบุว่า ฝ่ายค้านอภิปรายได้ดีและมีการบริหารจัดการด้านสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนได้อย่างดี จับต้องได้ ชัดเจน เข้าใจง่าย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องทุจริตคอรัปชั่นนั้นชาวบ้านมีความเห็นว่า ทุกรัฐบาลก็มีการโกงกินด้วยกันทั้งนั้น “กินบ้างไม่เป็นไรแต่อย่าเยอะ อย่ามากเกินไป” ถึงแม้การอภิปรายครั้งนี้จะทำให้คล้อยตามข้อมูลของฝ่ายค้านบ้างที่ว่ามีการทุจริตคอรัปชั่น แต่ถ้ามีเลือกตั้งอีกก็จะเลือกพรรคเดิมที่ตนเองเคยเลือกมาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีนโยบายหลายนโยบายที่จับต้องได้ในการช่วยเหลือคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย

“ในขณะที่ฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาลกล่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ควรไว้ใจคนใกล้ชิดและพวกพ้องมากเกินไป ซึ่งทั้งฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุนจึงเสนอให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “เข้ม” และติดตามนั่งหัวโต๊ะให้สาธารณชนเห็นกันชัดๆ ในปัญหาที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชน เพราะความเคลือบแคลงสงสัยในความชอบธรรมของรัฐบาลจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา และเสนอแนะให้ “ฝ่ายค้าน” นำนโยบายสาธารณะมาเป็นทางเลือกแข่งขันกับนโยบายสาธารณะของรัฐบาลอีกด้วย” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 34.8 มีสิทธิเลือกตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 21.1 มีสิทธิเลือกตั้งในภาคเหนือ ร้อยละ 10.4 มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 20.1 มีสิทธิเลือกตั้งในภาคกลาง และร้อยละ 13.6 มีสิทธิเลือกตั้งในภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 44.4 เป็นชาย ร้อยละ 55.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.1 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.1 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 36.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประเด็นต่างๆ ของข้อมูลในการอภิปรายระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
ลำดับที่          ประเด็น                             ฝ่ายค้าน       ฝ่ายรัฐบาล       ไม่ตอบ
1          ให้ข้อมูลใหม่ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน               45.0          29.8          25.2
2          ข้อมูลชัดเจน จับต้องได้                       44.8          31.3          23.9
3          ความน่าเชื่อถือของข้อมูล                      43.5          36.1          20.4
4          พูดได้ตรงความคาดหวัง                       36.8          48.7          14.5
5          เป็นห่วงเป็นใยประชาชนธรรมดาทั่วไป            46.2          47.8          6.0
6          นโยบายแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน         38.7          57.2          4.1

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
ลำดับที่          นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย                                  ไว้วางใจ      ไม่ไว้วางใจ
1          น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี                                         68.6          31.4
2          ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ         56.1          43.9
3          พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
           ในสมัยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม                          53.2          46.8
4          พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม                        50.6          49.4

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                ค่าร้อยละ
1          คิดว่าเป็นไปอย่างสร้างสรรค์          68.8
2          คิดว่าไม่สร้างสรรค์                 31.2
          รวมทั้งสิ้น                        100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ย ความพึงพอใจต่อฝ่ายการเมืองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เมื่อคะแนนเต็ม 10
ลำดับที่          ฝ่ายการเมือง          ค่าคะแนนเฉลี่ย
1          รัฐบาล                      6.34
2          ฝ่ายค้าน                     6.42

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น
หลังจากฟังข้อมูลของฝ่ายค้าน
ลำดับที่          ข้อเสนอแนะของประชาชน                                                  ค่าร้อยละ
1          ควรปรับคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น เพราะถ้าไม่ปรับจะทำให้เสื่อม

ความนิยมศรัทธาต่อรัฐบาล เกรงจะเกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอีก บ้านเมืองจะวุ่นวาย

           พรรครัฐบาลยังมีคนดีมีความสามารถอีกมาก และข้อมูลของฝ่ายค้านมีน้ำหนักเพียงพอ เป็นต้น          56.9
2          ไม่ควรปรับ  เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล กลุ่มนายทุนพรรคจะไม่พอใจข้อมูล

ฝ่ายค้านยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ รัฐมนตรีชี้แจงได้ คนที่ถูกกล่าวหายังไม่มีโอกาสชี้แจง และ

           ต้องให้โอกาสทำงานต่อไปก่อน เป็นต้น                                                43.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ