เอแบคโพลล์: ต้นตอแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Monday March 25, 2013 07:05 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ต้นตอแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะคนที่ติดตามข่าวการเมืองใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส นครศรีธรรมราชและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,159 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 - 22 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.0 ระบุความขัดแย้งในหมู่ประชาชนของสังคมประชาธิปไตยเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคม นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.7 คิดว่านักการเมืองในสังคมประชาธิปไตยต้องมีหน้าที่ช่วยลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงต้นเหตุแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนตามระบอบสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.2 ระบุ นักการเมือง คือต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง รองลงมาคือร้อยละ 41.3 ระบุการปฏิวัติยึดอำนาจ ร้อยละ 36.4 ระบุประชาชนทั่วไป ร้อยละ 35.3 ระบุสื่อมวลชน ร้อยละ 34.1 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 31.8 ระบุนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 30.3 ระบุตำรวจ ร้อยละ 30.1 ระบุองค์กรอิสระ ร้อยละ 29.8 ระบุกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 27.2 ระบุนักวิชาการ และร้อยละ 24.0 ระบุทหาร ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความสงบสุขของสังคมไทยในวันนี้ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ค่าดัชนีความสงบสุขของสังคมไทยวันนี้เพียง 5.64 คะแนนเท่านั้น เมื่อถามความเห็นของประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ รัฐบาลต้องนำรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทมาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้สามารถแกะรอยเส้นทางการใช้จ่ายว่าทุกเม็ดเงินไปอยู่ที่ไหนบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.8 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารต้องถูกแยกออกจากฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาดโดยไม่ให้มีสายสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อป้องกันการฮั้วกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงทางออกของประเทศไทยในวันนี้ที่ดีที่สุด พบว่า ร้อยละ 42.3 ระบุปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ร้อยละ 29.6 ให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป ร้อยละ 12.9 ระบุยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 7.6 ระบุแก้ไขรัฐธรรมูญ ร้อยละ 4.4 ระบุโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ และเพียงร้อยละ 3.2 เท่านั้นที่ระบุว่า ออกกฎหมาย นิรโทษกรรมเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า นักการเมืองกำลังถูกประชาชนส่วนใหญ่มองว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเสียเองนั่นหมายความว่านักการเมืองกำลังไม่ได้ทำ “หน้าที่” ของบทบาทนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่อาสาเป็นตัวแทนของภาคประชาชนในการลดความขัดแย้งจึงจำเป็นที่ต้องเร่งฟื้นฟูบทบาทหน้าที่ของนักการเมืองในสามทางเลือกได้แก่

ทางเลือกแรก ได้แก่ นักการเมืองต้องเร่งปกป้อง “ค่านิยมร่วม” (Common Value) ที่หล่อหลอมสังคมไทยและประชาชนมาหลายร้อยปีที่คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่ามีคุณค่า เช่น การปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การมีไมตรีจิต ช่วยเหลือเกื้อกูลกันบนพื้นฐานของความถูกต้องทั้งหลักศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมือง เพื่อรวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่งเดียวกันบนพื้นแผ่นดินไทย

ทางเลือกที่สอง ได้แก่ ความวางใจของสาธารณชนต่อนักการเมือง (Trust in Politicians) ว่า จะทำงานด้วยความบริสุทธิ์โปร่งใสตรวจสอบได้แท้จริง เช่น การนำข้อมูลการใช้งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทมาเปิดเผยรายละเอียดบนเว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาลให้เห็นตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของทุกเม็ดเงินว่าจำหน่ายไปที่ใดบ้าง และ นักการเมืองต้องจัดระเบียบการใช้อำนาจใหม่โดยแยกกันให้ชัดว่า ฝ่ายบริหาร ไม่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ฮั้วเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน

ทางเลือกที่สาม ได้แก่ นักการเมืองต้องขับเคลื่อนพลังของสังคมให้ไปสู่เป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกัน (Common Goals) โดยเตรียมคุณภาพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้สามารถมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายสาธารณะระหว่างประเทศและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนเศรษฐกิจอาเซียนด้วยความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาจีนได้ ในขณะที่เป้าหมายของความเป็นผู้นำด้านอาหารและการเกษตรจะทำให้ชาวเกษตรกรทำงานหนักกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ เพื่อพัฒนาเชิงคุณภาพและปริมาณ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสังคมประชาธิปไตย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                   ค่าร้อยละ
1          ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคม                    85.0
2          คิดว่าไม่ใช่                                          15.0
          รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีนักการเมืองทำหน้าที่ช่วยลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                     ค่าร้อยละ
1          คิดว่านักการเมืองในสังคมประชาธิปไตยต้องมีหน้าที่ช่วยลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน      68.7
2          คิดว่าไม่ใช่                                                            31.3
          รวมทั้งสิ้น                                                             100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุต้นเหตุแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความคิดเห็น                     ค่าร้อยละ
1          นักการเมือง                           83.2
2          การปฏิวัติยึดอำนาจ                      41.3
3          ประชาชนทั่วไป                         36.4
4          สื่อมวลชน                             35.3
5          เจ้าหน้าที่รัฐ                           34.1
6          นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร      31.8
7          ตำรวจ                               30.3
8          องค์กรอิสระ                           30.1
9          กฎหมายและรัฐธรรมนูญ                   29.8
10          นักวิชาการ                           27.2
11          ทหาร                               24.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าเฉลี่ยของค่าดัชนีความสงบสุขของสังคมไทยในวันนี้จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          ดัชนีความสงบสุขคนไทย             ค่าเฉลี่ยความสงบสุข
1          ค่าดัชนีความสงบสุขของสังคมไทยในวันนี้          5.64

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รัฐบาลต้องนำรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท มาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้สามารถแกะรอยเส้นทางการใช้จ่ายว่าทุกเม็ดเงินไปอยู่ที่ไหนบ้าง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง                 83.6
2          ค่อนข้างเห็นด้วย                          5.2
3          ไม่ค่อยเห็นด้วย                           3.2
4          ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง              7.0
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารต้องถูกแยกออกจากฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาดโดยไม่ให้มีสายสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อป้องกันการฮั้วกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง                 65.8
2          ค่อนข้างเห็นด้วย                          8.6
3          ไม่ค่อยเห็นด้วย                           9.4
4          ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง             16.2
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางออกของประเทศไทยในวันนี้ที่ดีที่สุด
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                          ค่าร้อยละ
1          ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน          42.3
2          ให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป                                    29.6
3          ยุบสภาเลือกตั้งใหม่                                           12.9
4          แก้ไขรัฐธรรมนูญ                                              7.6
5          โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่                  4.4
6          ออกกฎหมายนิรโทษกรรม                                        3.2
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ