เอแบคโพลล์: เด็กเล็กเสียชีวิต เด็กโตเสียตัวในมุมมองของพ่อแม่ ผู้ปกครอง

ข่าวผลสำรวจ Thursday May 23, 2013 11:15 —เอแบคโพลล์

ดร. นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และนางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกันแถลงข่าวเปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “เด็กเล็กเสียชีวิต เด็กโตเสียตัว” ในมุมมองของพ่อแม่และผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,531 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 -22 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 ได้ยินข่าวอันตรายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กผ่านสื่อมวลชนบ่อยมากถึงมากที่สุด

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.1 ทราบข่าวเด็กนักเรียนเสียชีวิตในรถตู้และรถโดยสารของโรงเรียน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.4 ระบุว่าคุณครู พี่เลี้ยง พนักงานคนขับรถยังไม่ดูแลชีวิตของเด็กนักเรียนได้ดีเพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 77.8 ระบุรัฐบาลยังไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กนักเรียนได้ดีเพียงพอ และร้อยละ 55.6 ระบุพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ยังดูแลชีวิตของลูกๆ ไม่ดีเพียงพอ

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.7 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลออกกฎหมายเอาผิด พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านเพียงลำพัง และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 เห็นด้วย ถ้าสื่อมวลชนช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะที่ช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตของ เด็กเล็ก

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามพ่อแม่ ผู้ปกครองถึง ประเภทสื่อในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เสี่ยงอันตรายทำให้เด็กโตเสียตัว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.2 ระบุเป็น สังคมออนไลน์ โซเชียลเนตเวิร์ก มากที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 66.2 ระบุเป็น การชักชวนพูดคุย Chat กันในโลกออนไลน์ ร้อยละ 64.9 ระบุเป็นภาพยนต์ แผ่นหนังโป๊ ร้อยละ 55.4 ระบุเป็นละครโทรทัศน์ในฉากเลิฟซีน เพศสัมพันธ์ ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุเป็นการเสนอภาพข่าวโทรทัศน์ข่มขืน ลวนลามทางเพศ และร้อยละ 33.4 ระบุเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตามลำดับ

ดร.นพดล ผอ.เอแบคโพลล์ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ปัญหาสังคมไทยเป็นปัญหาที่สังคมมักจะเอาข้อเท็จจริงมาเล่นแร่แปรธาตุปั่นให้เป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราวและก็มอดดับไปแต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หันมาสนใจปัญหาสังคมมากกว่าการตอบคำถามประเด็นการเมืองโดยเฉพาะการออกนโยบายสาธารณะและกฎหมายที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการดูแลความปลอดภัยมากขึ้นดังนี้

ประการแรก ให้มีกฎหมายดำเนินการเอาผิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านตามลำพัง

ประการที่สอง รัฐบาลมีนโยบายสาธารณะให้หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพโรงเรียนผ่านเกณฑ์ด้านมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนด้วยตัวชี้วัดต่างๆ เช่น มีการขานชื่อเด็กนักเรียนทั้งก่อนและหลังใช้รถโดยสารโรงเรียน มีครู มีพี่เลี้ยงดูแลในสถานที่เสี่ยงต่างๆ อาทิ สระน้ำ ทางข้ามถนน สนามเด็กเล่น เป็นต้น

ประการที่สาม เสนอให้เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ เว็บไซต์จังหวัด หรือเว็บไซต์หน่วยงานรัฐที่ทำการตรวจมาตรฐานโรงเรียนประกาศรายชื่อโรงเรียนผ่านไม่ผ่านเกณฑ์ดูแลความปลอดภัยของเด็กนักเรียนให้สาธารณชนรับทราบนอกจากนี้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา วธ. ยังกล่าวต่อว่า ในระหว่างที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายสาธารณะและกฎหมายที่ชัดเจนในการดูแลความปลอดภัยของเด็กเล็กจึงเสนอให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานของตนเองไปก่อนด้วยวิธีต่อไปนี้

หนึ่ง สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงจุดที่เสี่ยงอันตรายในบ้านและใกล้เคียง ต้องฝึกให้เด็กรู้จักโทรศัพท์หาพ่อแม่ผู้ปกครองได้

สอง บอกเด็กว่าอย่าเปิดประตูพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือแม้แต่เพื่อนบ้านคนที่รู้จักก็ต้องแจ้งพ่อแม่ผู้ปกครองทางโทรศัพท์ให้ทราบก่อนว่ามีเพื่อนบ้านมา

สาม สังเกตว่า เด็กมีความมั่นใจเพียงพอที่จะอยู่บ้านเพียงลำพังได้ ถ้าเด็กไม่มั่นใจ อย่าปล่อยเด็กไว้

สี่ นำเด็กไปฝากที่สถานรับเลี้ยงเด็กชั่วคราว หรือหาพี่เลี้ยงที่มีบุคคลอ้างอิงแนะนำได้และสามารถติดต่อบุคคลอ้างอิงนั้นได้โดยตรงเพื่อพูดคุยหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวพี่เลี้ยง ไม่คิดแต่จะหาพี่เลี้ยงหรือสถานรับเลี้ยงเด็กราคาถูก

ห้า สังเกตดูว่าบุตรหลานของตนเองรู้สึกมีความสุขที่มีพี่เลี้ยงหรือไม่ ถ้าไม่ ให้หาคนอื่นแทน

หก ถ้ามีฐานะเพียงพอ ติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้านดูเด็กที่ถูกปล่อยให้อยู่บ้านลำพัง และหมั่นโทรศัพท์พูดคุยกับเด็กเป็นระยะๆ และต้องกลับบ้านตามเวลาที่บอกเด็กไว้

เจ็ด มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน และศึกษานิสัยใจคอของเพื่อนบ้านอย่างดี ขอความช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน

ขณะที่ นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้รับรู้ รับทราบถึงปัญหา ของเด็ก และเยาวชน มาโดยตลอด โดยปัญหาสื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชนไทย ในสังคมไทยจะสื่อที่ไม่ปลอดภัย สื่อไม่สร้างสรรค์และเป็นปัญหาเชื่อมโยงไปในมิติต่างๆ เช่น การรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชนโดยไม่มีผู้ปกครองดูแลในร้านอินเตอร์เนต ร้านเกมส์ เด็กอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ กลายเป็นเหยื่อ นำไปสู่ถ่ายภาพลามก ส่งไปยังประเทศต่างๆ หรือการค้าประเวณีเป็นต้น

“พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นส่วนสำคัญที่มีส่วนร่วมดูแล เด็ก ให้ตระหนักถึงแนวทางป้องกัน ระวังไม่ให้เด็กเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่สนับสนุนให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ โดยขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และยังกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ จัดอันดับความเหมาะสมของสื่อ ทำเรตติ้งของสื่อทาง ทีวี ที่เราได้มีการดำเนินการไปแล้ว ในส่วนที่กำลังมีการผลักดันต่อไปคือ การเสนอทางกฎหมาย ในด้านนโยบายและแก้ปัญหาเชิงบวก ในเมื่อในบ้านเรามีสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ เราจึงได้มีการผลักดันนโยบาย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนให้มีการสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์ในสังคมไทย เช่น ในโรงเรียนควรมีการจัดเวิร์คช็อปเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในการใช้สื่ออย่างปลอดภัย มีการนำตัวแทนนักเรียนแต่ละโรงเรียนมาเข้าค่ายอบรมรู้เท่าทันสื่อเป็นการอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังวัฒนธรรมให้เด็กและเยาวชนเข้าใจรู้เท่าทันปัญหาและช่วยกันสร้างพื้นที่เชิงบวกแทน และสนับสนุนผู้ประกอบการทางด้านสื่อ โดยให้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ไปสร้างสาระเชิงบวกให้เด็กและเยาวชน เป็นการเสริมสร้างศักยภาพที่ดีให้กับเยาวชน” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กระทรวงวัฒนธรรมกล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 62.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 37.2 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 1.7 อายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 34.2 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 26.1 อายุระหว่าง 30-39 ปีและร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 40-49 ปี ตัวอย่างร้อยละ 17.7 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 42.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 57.1 สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 29.7 ค้าขาย / อาชีพอิสระ ร้อยละ 22.7 พนักงานเอกชน ร้อยละ 11.5 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.9 รับจ้างใช้แรงงาน ร้อยละ 2.3 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 14.6 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 3.2 ว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการได้ยินข่าวอันตรายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กผ่านสื่อมวลชนโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

   ลำดับที่    การได้ยินข่าวอันตรายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กผ่านสื่อมวลชน                       ค่าร้อยละ
     1      ได้ยินบ่อยมากถึงมากที่สุด                                                   92.4
     2      ได้ยินไม่บ่อยถึงไม่เคยได้ยินเลย                                               7.6
                                          รวมทั้งสิ้น                                 100

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการได้ยินข่าวเด็กนักเรียนเสียชีวิตในรถตู้และรถโดยสารของโรงเรียน
   ลำดับที่    การได้ยินข่าวเด็กนักเรียนเสียชีวิตในรถตู้และรถโดยสารของโรงเรียน                 ค่าร้อยละ
     1      ทราบข่าว                                                              86.1
     2      ไม่ทราบข่าว                                                            13.9
                                          รวมทั้งสิ้น                                 100
ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการดูแลชีวิตของเด็กนักเรียนของคุณครู พี่เลี้ยง พนักงานคนขับรถ
   ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการดูแลเด็กนักเรียนของคุณครู พี่เลี้ยง พนักงานขับรถ                  ค่าร้อยละ
     1      ดีเพียงพอแล้ว                                                           13.6
     2      ยังไม่ดีเพียงพอ                                                          86.4
                                           รวมทั้งสิ้น                                100

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อมาตรการของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กเล็กจากการใช้บริการรถตู้ และรถโดยสารของโรงเรียน
   ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อมาตรการของรัฐบาลในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กเล็ก           ค่าร้อยละ
     1      ดีเพียงพอแล้ว                                                            22.2
     2      ยังไม่ดีเพียงพอ                                                           77.8
                                            รวมทั้งสิ้น                                100

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการดูแลป้องกันอันตรายต่อชีวิตลูกของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
   ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการดูแลป้องกันอันตรายต่อชีวิตลูกของพ่อแม่ ผู้ปกครอง                    ค่าร้อยละ
     1      ดีเพียงพอแล้ว                                                             44.4
     2      ยังไม่ดีเพียงพอ                                                            55.6
                                            รวมทั้งสิ้น                                 100

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นว่ารัฐบาลควรออกกฎหมายเอาผิด พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่บ้านเพียงลำพัง
   ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อออกกฎหมายของรัฐบาล                                          ค่าร้อยละ
     1      เห็นด้วย                                                                 55.7
     2      ไม่เห็นด้วย                                                               44.3
                                             รวมทั้งสิ้น                                100

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นว่าสื่อมวลชนต้องช่วยกันผลักดัน นโยบายสาธารณะที่ช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตของเด็กเล็ก
   ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการผลักดันนโยบายของรัฐบาล                                     ค่าร้อยละ
     1      เห็นด้วย                                                                 85.1
     2      ไม่เห็นด้วย                                                               14.9
                                              รวมทั้งสิ้น                               100

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อประเภทของสื่อในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เสี่ยงอันตรายทำให้เด็กโตเสียตัว
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
   ลำดับที่    ประเภทของสื่อในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เสี่ยงอันตรายทำให้เด็กโตเสียตัว                    ค่าร้อยละ
     1      สังคมออนไลน์ โซเชียลเนตเวิร์ก                                                 76.2
     2      การชักชวนพูดคุย Chat กันในโลกออนไลน์                                          66.2
     3      ภาพยนต์ แผ่นหนังโป๊                                                          64.9
     4      ละครโทรทัศน์ในฉาก เลิฟซีน เพศสัมพันธ์                                           55.4
     5      การเสนอภาพข่าวโทรทัศน์ข่มขืน ลวนลามทางเพศ                                     40.2
     6      หนังสือพิมพ์ นิตยสาร                                                          33.4
     7      เว็บไซต์                                                                   29.7

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ