เอแบคโพลล์: เผือกร้อนทางการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ”

ข่าวผลสำรวจ Monday June 10, 2013 11:46 —เอแบคโพลล์

นายเทวินทร์ อินทรจำนงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “เผือกร้อนทางการเมือง” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จากประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,156 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 — 8 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น โดยสุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน

ปรากฎการณ์เผือกร้อนทางการเมืองเป็นปรากฎการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้าไปเป็นเจ้าภาพในการแก้ไข คลี่คลายปัญหาสักเท่าไหร่นัก ส่งผลทำให้เกิดการ “โยนปัญหา”หรือ “ผลักปัญหา” ไปให้คนอื่นๆ เข้าคลี่คลาย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกรณี

กรณีที่แรก กลุ่มมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ (เช่น กลุ่มหน้ากากแดง หน้ากากขาว) พบว่า กลุ่มตัวอย่างประชาชนเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47.6 ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว เพราะ กลัวจะเกิดความวุ่นวายรุนแรงบานปลาย สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรไปมา กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 29.9 เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพราะ เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น และร้อยละ 22.5 ไม่มีความเห็น

กรณีที่สอง กลุ่มมวลชน(คนเสื้อแดง) ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น เมื่อสอบถามความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญในสายตาของประชาชนปรากฏว่าส่วนมากร้อยละ 57.8 ระบุว่ายังคงเชื่อถือต่อศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ไม่เชื่อถือ และร้อยละ 22.6 ไม่มีความเห็น

กรณีที่สาม ความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข(ระหว่างรัฐมนตรีกับแพทย์ชนบทและกลุ่มต่าง ๆ) พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งคือร้อยละ 45.7 กังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวอาจจะมีผลนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสาธารณสุขที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 26.6 ไม่กังวล และร้อยละ 27.7 ไม่มีความเห็นในกรณีดังกล่าว

กรณีที่สี่ ปัญหาระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐบาล เมื่อสอบถามความน่าเชื่อถือระหว่างแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กับแนวทางของรัฐบาล พบว่ากลุ่มตัวอย่างประชาชนมากกว่า 1 ใน 3 คือร้อยละ 37.7 เชื่อถือแนวทางของ ธปท.มากกว่า ร้อยละ 15.8 เชื่อถือแนวทางของรัฐบาลมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 26.9 เชื่อถือทั้งสองฝ่ายพอๆ กัน และร้อยละ 19.6 ไม่มีความเห็น

กรณีที่ห้า ปัญหาการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลปกครองกลางได้พิพากษาสั่งให้เพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้น และต่อมานายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานศึกษาคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว รวมทั้งมีข่าวความสงสัยว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ฟังคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านกฎหมายแล้วจะตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกรณีการที่ถูกเพิกถอนคำสั่งหรือไม่ คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างประชาชนพบว่าเกือบ 1 ใน 3 คือร้อยละ 31.9 เห็นว่ารัฐบาล “ไม่ควร”ยื่นอุทธรณ์ ในขณะที่ร้อยละ 16.5 เห็นว่าควรยื่นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 51.6 ไม่มีความเห็นในกรณีนี้

กรณีที่หก การที่มีนักวิชาการออกมาเตือนให้ทบทวนนโยบายประชานิยมของรัฐบาล กลุ่มตัวอย่างประชาชนส่วนมากหรือร้อยละ 56.8 เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายประชานิยม (เช่นจำนำข้าว 30 บาทรักษาทุกโรค น้ำไฟฟรี รถคันแรก บ้านหลังแรก) ในขณะที่ร้อยละ 23.8 เห็นว่าไม่จำเป็นต้องทบทวน และร้อยละ 19.4 ไม่มีความเห็น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.0 เป็นชาย ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.0 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อกลุ่มมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ เช่นกลุ่มหน้ากากแดง หน้ากากขาว เป็นต้น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                       ค่าร้อยละ
  1      เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว เพราะ เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น          29.9
  2      ไม่เห็นด้วย เพราะ กลัวจะเกิดความวุ่นวายรุนแรงบานปลาย สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรไปมา         47.6
กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป  เป็นต้น
  3      ไม่มีความเห็น                                                                        22.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                            100

ตารางที่ 2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความน่าเชื่อถือของ“ศาลรัฐธรรมนูญ” อันเนื่องมาจากกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่     ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1       ยังคงเชื่อถือต่อศาลรัฐธรรมนูญอยู่                                                         57.8
  2       ไม่เชื่อถือ                                                                          19.6
  3       ไม่มีความเห็น                                                                       22.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                           100

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลว่าความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข  (ระหว่างรัฐมนตรีกับแพทย์ชนบทและกลุ่มต่าง ๆ)  อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสาธารณสุขที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน
ลำดับที่     ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1       กังวลว่าจะกระทบ                                                                    45.7
  2       ไม่กังวล                                                                           26.6
  3       ไม่มีความเห็น                                                                       27.7
          รวมทั้งสิ้น                                                                           100

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความน่าเชื่อถือระหว่างแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กับแนวทางของรัฐบาล
ลำดับที่     ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1       เชื่อถือแนวทางของธปท.มากกว่า                                                        37.7
  2       เชื่อถือแนวทางของรัฐบาลมากกว่า                                                       15.8
  3       พอ ๆ กัน                                                                         26.9
  4       ไม่มีความเห็น                                                                      19.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                          100

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเห็นต่อการยื่นอุทธรณ์ของรัฐบาลกรณีศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งย้าย นายถวิล  เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      ควรยื่นอุทธรณ์                                                                      16.5
  2      ไม่ควรยื่นอุทธรณ์                                                                    31.9
  3      ไม่มีความเห็น                                                                      51.6
         รวมทั้งสิ้น                                                                          100

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ. รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายประชานิยม (เช่นจำนำข้าว  30 บาทรักษาทุกโรค  น้ำไฟฟรี รถคันแรก  บ้านหลังแรก)
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      จำเป็นต้องทบทวน                                                                   56.8
  2      ไม่จำเป็น                                                                         23.8
  3      ไม่มีความเห็น                                                                      19.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                          100

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ