เอแบคโพลล์: พฤติกรรมการกินผักผลไม้แปรรูปของคนกรุง: กรณีศึกษาตัวอย่างที่มีอายุ 15-60 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร

ข่าวผลสำรวจ Thursday June 20, 2013 13:32 —เอแบคโพลล์

นางสาวปภาดา ชินวงศ์ ผู้จัดการโครงการวิจัย ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, SIMBA) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการกินผักผลไม้แปรรูปของคนกรุง: กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 15 -60 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 620 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา พบว่า

เมื่อถามถึงพฤติกรรมการรับประทานผักและผลไม้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ระบุผลไม้สด รองลงมาร้อยละ 84.8 ระบุผักสด ร้อยละ 78.8 ระบุผลไม้แปรรูป ร้อยละ 71.0 ระบุผักปรุงสุก และร้อยละ 65.9 ระบุผักแปรรูป ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงประเภทของผัก ผลไม้แปรรูปที่เลือกซื้อเป็นประจำ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 เลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทผลไม้ไทย เช่น ขนุนอบกรอบ มะม่วงอบ ทุเรียนทอด กล้วยตาก เป็นต้น ร้อยละ 57.6 เลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทผักพื้นบ้านของไทย เช่น กระเจี๊ยบเขียวอบแห้ง เห็ดนางฟ้าทอดหรืออบกรอบ ผักกาดกระป๋อง เป็นต้น ส่วนผัก ผลไม้แปรรูปนำเข้าจากต่างประเทศ พบว่า ร้อยละ 24.6 เลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทผลไม้ เช่น ลูกเกด แอปเปิ้ลอบกรอบ เป็นต้น และร้อยละ 12.3 เลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทผัก เช่น เห็ดกระป๋อง แตงกวาญี่ปุ่นดอง เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อสอบถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกซื้อผัก/ผลไม้แปรรูป พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 51.2 ซื้อเพื่อกินเป็นของว่าง รองลงมา ร้อยละ 44.1 ระบุหาซื้อง่าย ร้อยละ 31.0 ระบุความสะอาด ปลอดภัย และมีเครื่องหมายหรือตรารับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 30.5 ระบุราคาและโปรโมชั่นของสินค้า และร้อยละ 30.1 ระบุชอบกิน มีรสชาติอร่อย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ อีก อาทิ นำมาผสมหรือปรุงเป็นอาหาร/เครื่องดื่ม ควบคุมน้ำหนัก ไม่สะดวกในการซื้อผัก/ผลไม้สดมารับประทาน เป็นต้น

ส่วนสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างไปเลือกซื้อผัก/ผลไม้แปรรูปเป็นประจำ อันดับแรก ร้อยละ 50.3 ระบุซุปเปอร์มาร์เก็ต อันดับสอง ร้อยละ 47.8 ระบุตลาดสด อันดับสาม ร้อยละ 35.7 ระบุร้านสะดวกซื้อ อันดับสี่ ร้อยละ 31.8 ระบุห้างสรรพสินค้า และอันดับห้า ร้อยละ 25.5 ระบุร้านขายของชำ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.8 มีความกังวลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้แปรรูปว่าจะมีสารปนเปื้อนและสารตกค้าง เช่น ยาฆ่าแมลง ฟอร์มาลีน ในขณะที่ร้อยละ 24.6 กังวลเรื่องความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ในการผลิตหรือถนอมอาหาร ร้อยละ 18.3 กังวลเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาผลิต ร้อยละ 15.4 กังวลเรื่องกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาดไม่ได้มาตรฐาน และร้อยละ 12.9 กังวลเรื่องกระบวนการผลิตที่ทำลายคุณค่าทางอาหาร

โดยเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47.6 ระบุมีความเชื่อมั่นปานกลางต่อคุณภาพกระบวนการผลิตในการรักษาคุณค่าทางสารอาหารของผัก ผลไม้แปรรูป ในขณะที่ร้อยละ 32.0 ระบุเชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 20.4 ระบุเชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ผู้จัดการโครงการกล่าวว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงมีความสนใจในการบริโภคผัก ผลไม้แปรรูปของไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจประเภทนี้ เพียงแต่พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญต่อการบริโภคผักและผลไม้สดแต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเวลาในการประกอบอาหารหรือการไปซื้อของสด คนจำนวนมากจึงหันมาบริโภคผัก ผลไม้แปรรูปควบคู่ไปด้วย สิ่งที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐต้องพิจารณาคือความกังวลต่อสารปนเปื้อนและสารตกค้างที่อาจจะมีอยู่ในผัก ผลไม้เหล่านั้น ดังนั้นจึงฝากถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น เพิ่มการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานอย่างจริงจัง รวมถึงหามาตราการควบคุมผู้จัดจำหน่ายอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังควรต้องให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและการบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.0 เป็นหญิง ร้อยละ 48.0 เป็นชาย รายได้ส่วนตัวต่อเดือน ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 47.7 รายได้ต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 30.0 รายได้ส่วนตัวต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 11.9 รายได้ส่วนตัวต่อเดือน 30,001- 40,000 บาท ร้อยละ 6.3 และรายได้มากกว่า 40,001 ต่อเดือน ร้อยละ 4.1 ระดับการศึกษา ร้อยละ 69.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 27.3 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.1 สำเร็จการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรี (พิจารณารายละเอียดจากตารางด้านล่าง)

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุเลือกรับประทานผัก ผลไม้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    การเลือกรับประทาน          ค่าร้อยละ
  1      ผลไม้สด                    94.7
  2      ผักสด                      84.8
  3      ผลไม้แปรรูป                 78.8
  4      ผักปรุงสุก                   71.0
  5      ผักแปรรูป                   65.9

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประเภทของผัก/ผลไม้แปรรูป ที่เลือกซื้อเป็นประจำ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    ผัก/ผลไม้แปรรูปที่เลือกซื้อเป็นประจำ                                                    ค่าร้อยละ
  1      ผลไม้ไทย เช่น ขนุนอบกรอบ มะม่วงอบ ทุเรียนทอด กล้วยตาก เป็นต้น                            74.6
  2      ผักพื้นบ้านของไทย เช่น กระเจี๊ยบเขียวอบแห้ง เห็ดนางฟ้าทอดหรืออบกรอบ ผักกาดกระป๋อง เป็นต้น       57.6
  3      ผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ลูกเกด แอปเปิ้ลอบกรอบ เป็นต้น                              24.6
  4      ผักนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เห็ดกระป๋อง แตงกวาญี่ปุ่นดอง เป็นต้น                            12.3

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกซื้อผัก/ผลไม้แปรรูป (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    ปัจจัยสำคัญ                                                                       ค่าร้อยละ
  1      กินเป็นของว่าง                                                                     51.2
  2      หาซื้อง่าย                                                                         44.1
  3      ความสะอาด ปลอดภัย และมีเครื่องหมายหรือตรารับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์                            31.0
  4      ราคาและโปรโมชั่นของสินค้า                                                           30.5
  5      ชอบกิน อร่อย                                                                      30.1
  6      นำมาผสมหรือปรุงเป็นอาหาร/เครื่องดื่ม                                                   17.0
  7      ควบคุมน้ำหนัก                                                                      11.3
  8      ไม่สะดวกในการซื้อผัก/ผลไม้สดมารับประทาน                                               11.0
  9      ได้คุณค่าทางสารอาหารใกล้เคียงผักผลไม้สด                                                11.0
 10      อื่นๆ อาทิ พกพาง่าย/สีสันสวยน่ากิน/คนแนะนำ                                              10.2


ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสถานที่ที่ไปเลือกซื้อผัก/ผลไม้แปรรูปเป็นประจำ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    แหล่งที่ซื้อ                                                                       ค่าร้อยละ
  1      ซุปเปอร์มาร์เก็ต                                                                   50.3
  2      ตลาดสด                                                                         47.8
  3      ร้านสะดวกซื้อ                                                                     35.7
  4      ห้างสรรพสินค้า                                                                    31.8
  5      ร้านขายของชำ                                                                    25.5
  6      ร้านขายของฝาก                                                                   23.1
  7      ร้านค้าริมฟุตบาท                                                                   12.7
  8      คนเดินเร่ขาย                                                                      9.9
  9      ร้านโครงการหลวง                                                                  9.0
 10      อื่นๆ อาทิ จากแหล่งผลิตโดยตรง จากการขายตรง                                           7.5

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แปรูป
ลำดับที่    ความกังวล                                                                       ค่าร้อยละ
  1      สารปนเปื้อนและสารตกค้าง เช่น   ยาฆ่าแมลง ฟอร์มาลีน                                     28.8
  2      ความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ในการผลิตหรือถนอมอาหาร                                      24.6
  3      คุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาผลิต                                                           18.3
  4      กระบวนการผลิตที่ไม่สะอาดไม่ได้มาตรฐาน                                                 15.4
  5      กระบวนการผลิตที่ทำลายคุณค่าทางอาหาร                                                  12.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นต่อคุณภาพกระบวนการผลิต ในการรักษาคุณค่าทางสารอาหารของผักผลไม้แปรรูป
ลำดับที่    ความเชื่อมั่นต่อคุณภาพกระบวนการผลิต                                                   ค่าร้อยละ
  1      ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด                                                               32.0
  2      ปานกลาง                                                                         47.6
  3      ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด                                                               20.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ