เอแบคโพลล์: การตรวจสอบสารตกค้างในข้าวและการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Tuesday July 23, 2013 08:50 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การตรวจสอบสารตกค้างในข้าวและการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,438 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.8 ทราบข่าวการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว ในขณะที่ร้อยละ 11.2 ไม่ทราบ

เมื่อสอบถามถึงความน่าเชื่อถือต่อหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบสารตกค้างในข้าวถุง พบว่าประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 42.9 เชื่อหน่วยงานภายนอกมากกว่า เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 32.9 เชื่อหน่วยงานของรัฐบาลมากกว่าและร้อยละ 24.2 ไม่เชื่อใครเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า ประชาชนยังคงต้องรับประทานข้าวต่อไปท่ามกลางกระแสข่าว เรื่องสารตกค้างในข้าวเพราะไม่มีทางเลือกและรู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลและฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เพราะฝ่ายหนึ่งก็เอาแต่จะรักษาอำนาจของตนไว้อีกฝ่ายหนึ่งก็มุ่งแต่ทำลายความเชื่อถือของรัฐบาล แต่ยังไม่เห็นว่าฝ่ายไหนที่มีแนวทางแก้ปัญหาประเทศที่ดีกว่าเลย สำหรับเรื่องสารตกค้างในข้าวถึงแม้มีข่าวออกมาแต่ก็ต้องกินกันไปเพราะไม่กินข้าวประชาชนจะกินอะไรแทนได้ ถึงแม้ว่าจะมีการกินข้าวโชว์ของนายกฯ และคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้น แต่ยังคงรู้สึกแย่ต่อรัฐบาลและพวกพ่อค้านายทุนทั้งหลายจึงขอให้ช่วยคำนึงถึงหัวอกของประชาชนด้วยอย่ามุ่งเอาแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว

เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาลที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 ไม่เชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในขณะที่ร้อยละ 38.4 เชื่อมั่น

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่น พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 85.2 เชื่อมั่นต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตรวจสอบ มีเพียงร้อยละ 14.8 เชื่อมั่นการตรวจสอบกันเองโดยหน่วยงานของรัฐบาล

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 58.0 รู้สึกท้อและหมดหวังเมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นถูก

กลั่นแกล้งโดยรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 42.0 ไม่รู้สึกอะไรเลย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึง “ความกล้า” ที่จะออกมาพูดหรือเปิดโปง ถ้าหากพบเห็นเหตุการณ์การทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล

หรือฝ่ายการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.0 ไม่กล้าออกมาพูดหรือเปิดโปง ถ้าหากพบเห็นเหตุการณ์การทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล

หรือฝ่ายการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 38.0 ระบุว่ากล้า

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กล่าวว่า การตรวจสอบสารตกค้างโดยรัฐบาลดูเหมือนจะไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาลขึ้นมาได้ในการสำรวจครั้งนี้ แต่ประชาชนจำใจต้องซื้อข้าวรับประทานเพราะไม่มีทางเลือกและเป็นวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่ต้องรับประทานข้าวจนเกิดความรู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลและฝ่ายการเมืองโดยรวมไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์เพราะพรรคประชาธิปัตย์เองถูกมองว่าเคลื่อนไหวเพื่อเข้าสู่อำนาจเป็นรัฐบาลแต่ยังไม่เห็นว่ามีแนวทางเป็นรูปธรรมจับต้องได้ว่าประเทศชาติจะดีขึ้นอย่างไร จึงเสนอให้ฝ่ายการเมืองประกาศแนวทางที่ชัดเจนต่อสาธารณชนว่า มีแนวทางป้องกันปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ชัดเจนอย่างไรที่มากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อว่า รัฐบาลโปร่งใส ต่อต้านคอรัปชั่น ที่สุดท้ายก็มีแต่การสร้างภาพที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้แท้จริง ดังนั้นแนวทางที่เสนอแนะไปคือ การเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ และการมีส่วนร่วมประเมินผลงานโดยประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

“ประกาศการใช้จ่ายงบประมาณในรายละเอียดว่าใครได้รับงบประมาณไปเท่าไหร่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของทุกเม็ดเงิน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้น แทนการแต่งตั้งบุคคลจากภาคประชาชนโดยรัฐบาลมาเป็นกรรมการเพราะ ผู้ใหญ่ในสังคมที่ถูกแต่งตั้งมักจะทำงานตอบสนองบุญคุณและรับผลประโยชน์จากรัฐบาล” ผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.9 เป็นชาย ร้อยละ 52.1 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 37.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 5.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.5 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับทราบข่าวการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว
ลำดับที่    การรับทราบข่าวการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว                                        ค่าร้อยละ
  1      ทราบข่าวการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว                                               88.8
  2      ไม่ทราบ                                                                        11.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความน่าเชื่อถือต่อหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบสารตกค้างในข้าวถุง ระหว่างหน่วยงานของรัฐบาล และหน่วยงานภายนอก
ลำดับที่    ความน่าเชื่อถือต่อหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบสารตกค้างในข้าวถุง                           ค่าร้อยละ
  1      เชื่อหน่วยงานภายนอกมากกว่า เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน เป็นต้น                    42.9
  2      เชื่อหน่วยงานของรัฐบาลมากกว่า                                                     32.9
  3      ไม่เชื่อใครเลย                                                                  24.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
ลำดับที่    ความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐบาล                                                 ค่าร้อยละ
  1      ไม่เชื่อมั่น                                                                      61.6
  2      เชื่อมั่น                                                                        38.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นระหว่าง หน่วยงานของรัฐ กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
ลำดับที่    ความเชื่อมั่นต่อการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่น                                       ค่าร้อยละ
  1      เชื่อมั่นการตรวจสอบกันเองโดยหน่วยงานของรัฐบาล                                      14.8
  2      เชื่อมั่นต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตรวจสอบ                               85.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกเมื่อพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นถูกกลั่นแกล้งโดยรัฐบาล
ลำดับที่     ความรู้สึกท้อหรือหมดหวังต่อการทำความดีหรือการออกมาพูดความจริง                      ค่าร้อยละ
  1       รู้สึกท้อและหมดหวัง                                                            58.0
  2       ไม่รู้สึกอะไร                                                                 42.0
          รวมทั้งสิ้น                                                                  100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกล้าที่จะออกมาพูดหรือเปิดโปง ถ้าหากพบเห็นเหตุการณ์การทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลหรือ
ฝ่ายการเมือง
ลำดับที่    ความกล้าที่จะออกมาพูดหรือเปิดโปง ถ้าหากพบเห็นเหตุการณ์การทุจริตคอรัปชั่น                ค่าร้อยละ
  1      กล้า                                                                       38.0
  2      ไม่กล้า                                                                     62.0
         รวมทั้งสิ้น                                                                  100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ