เอแบคโพลล์: อุบัติเหตุทางการเมืองต่อกรณีคลิปเสียง และท่าทีของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday July 29, 2013 11:08 —เอแบคโพลล์

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง อุบัติเหตุทางการเมืองต่อกรณีคลิปเสียง และท่าทีของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อ่างทอง ระยอง ราชบุรี นนทบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,219 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 26 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน

จากการศึกษา พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.7 คิดว่าคลิปเสียงระหว่าง รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกับอดีตนายก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรนี้ เป็นคลิปใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ส่วนร้อยละ 47.3 คิดว่าเป็นคลิปเก่า

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือร้อยละ 65.6 ไม่คิดว่าคลิปเสียงระหว่าง รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกับ อดีตนายก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 34.4 คิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.5 คิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์คลิปเสียงระหว่าง รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกับอดีตนายก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ร้อยละ 45.5 คิดว่ามีประโยชน์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 78.5 คิดว่ากรณีคลิปเสียงนี้เป็นการหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 21.5 ไม่คิดว่าเป็นการหวังผลทางการเมือง

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กล่าวว่า จากผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ากรณีคลิปเสียงนี้ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง ดังนั้นฝ่ายการเมืองต้องทบทวนบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพราะหน้าที่ของฝ่ายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือ การลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ไม่ใช่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งบานปลายให้เกิดขึ้นในสังคมซะเอง นอกจากนี้ฝ่ายการเมืองต้องเร่งสร้างความศรัทธาในหมู่ประชาชน อย่าทำให้ประชาชนรู้สึกและมองทุกเรื่องเป็นเรื่องเกมทางการเมืองไปหมด

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.0 เป็นชาย ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.0 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อกรณีคลิปเสียงระหว่าง รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกับอดีตนายก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นคลิปเก่าหรือคลิปใหม่
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อกรณีคลิปเสียง                                         ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าเป็นคลิปเก่า                                                  47.3
  2      คิดว่าเป็นคลิปใหม่                                                  52.7
         รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อกรณีคลิปเสียงระหว่าง รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกับอดีตนายก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชน
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อกรณีคลิปเสียง                                         ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง                                      34.4
  2      ไม่คิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง                                    65.6
         รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อประโยชน์ของการวิพากษ์วิจารณ์คลิปเสียงระหว่าง รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกับอดีตนายก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อประโยชน์ของการวิพากษ์วิจารณ์คลิปเสียง                     ค่าร้อยละ
  1      คิดว่ามีประโยชน์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์                                      45.5
  2      คิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์                                    54.5
         รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อกรณีคลิปเสียงว่าเป็นการหวังผลประโยชน์ทางการเมือง
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อกรณีคลิปเสียงว่าเป็นการหวังผลประโยชน์ทางการเมือง           ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าหวังผลทางการเมือง                                            78.5
  2      ไม่คิดเช่นนั้น                                                      21.5
         รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ