เอแบคโพลล์: สถานการณ์การเมืองหลังเปิดประชุมสภา และเสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ การทำรัฐประหาร และทางออกของประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday July 29, 2013 11:24 —เอแบคโพลล์

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์การเมืองหลังเปิดประชุมสภา และเสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ การทำรัฐประหาร และทางออกของประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 1,987 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 — 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน

เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองหลังจากเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 คิดว่าการเมืองจะรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ไม่คิดว่าการเมืองจะรุนแรง

เมื่อสอบถามถึง สิ่งที่อยากให้มีการพูดคุยกันมากที่สุดในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ พบว่า อันดับที่หนึ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 ระบุว่าการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้อยากให้พูดคุยเรื่องปัญหาปากท้องกันมากที่สุด

เมื่อสอบถามถึงการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องบนท้องถนนให้เปลี่ยนรัฐบาลนั้นจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.7 ไม่คิดว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 37.3 คิดว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.0 ไม่คิดว่าจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อไปแล้วยังคงทำงานเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 33.0 คิดว่าจะดีขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.2 ไม่คิดว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วประเทศชาติจะดีขึ้น แต่ร้อยละ 34.8 คิดว่าจะดีขึ้น เมื่อสอบถามถึงการทำรัฐประหาร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.8 ไม่คิดว่าการทำรัฐประหารจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 ไม่คิดว่าถ้าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง ในขณะที่ร้อยละ 19.9 คิดว่าจะลดลง อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.8 คิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อไปแล้วยังคงทำงานเหมือนเดิมจะไม่สามารถทำให้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นลดลงได้ ในขณะที่ร้อยละ 22.2 คิดว่าจะลดลง อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 77.5 ไม่คิดว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง ในขณะที่ร้อยละ 22.5 คิดว่าจะลดลง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.4 ไม่คิดว่าการทำรัฐประหารจะทำให้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง ในขณะที่ร้อยละ 22.6 คิดว่าจะลดลง

แต่ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.5 คิดว่าการเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้ประชาชนได้ตรวจสอบจะช่วยลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ มีเพียงร้อยละ 16.5 ไม่คิดว่าจะช่วยได้ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.7 คิดว่า การให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประเมินผลงานเจ้าหน้าที่รัฐและใช้เสียงของประชาชนมีผลต่อการโยกย้าย ให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่รัฐและการจัดงบประมาณในพื้นที่ จะช่วยทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานเพื่อความสุขของประชาชนในพื้นที่ได้

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กล่าวว่า จากการศึกษา พบว่า ประชาชนมีความกังวลว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะรุนแรงขึ้นเมื่อเปิดประชุมสภาในไม่อีกกี่วันที่จะมาถึงนี้ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนอยากให้หยิบยกมาพิจารณามากที่สุด คือการหาแนวทางร่วมเพื่อลดทอนความเดือดร้อนปัญหาปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและฝ่ายการเมืองจะต้องสร้างความหวังของประชาชนให้กลายเป็นความจริง ตอบสนองการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เพราะการพัฒนาประเทศต้องให้ความสำคัญกับหลายปัจจัยไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เพียงแค่เกมทางการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่สังคมไทยกำลังอ่อนไหวและเปราะบาง ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองไม่เข้มแข็ง ไม่อยู่บนครรลองครองธรรม ประชาชนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อน ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ขาดการเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง จนอาจเกิดสถานการณ์ที่ว่า ความสั่นคลอนและความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลยังไม่น่ากลัวเท่ากับความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชนที่ยากจะควบคุมได้เพราะมันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทางออกที่น่าพิจารณาคือ

ประการแรก เสนอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่เป็น “รัฐบาลสามัญชน” ที่เน้นการกระจายทรัพยากรไปยังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศตามภูมิภาคท้องถิ่นต่างๆ และไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหน้าที่ทำงานสัมผัสกับประชาชน โดยไม่รวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มคนชั้นนำในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในระดับท้องถิ่นและรวดเร็วฉับไวต่อการแก้ปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชน

ประการที่สอง เป็นรัฐบาลที่น่าไว้วางใจจากสาธารณชน โดยไม่เป็น “รัฐบาลกินรวบ” และไม่ทำให้เกิดการเข้าใจในหมู่ประชาชนว่า รัฐบาลกำลังยึดครองทั้งอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง และผ่านกฎหมายต่างๆ ได้เองเพราะมีเครือข่ายพรรคพวกในระบบอย่างแน่นแฟ้น

ประการที่สาม รัฐบาลต้องมีผลงาน “หน้าจอ” กับ “หน้าบ้าน” ของประชาชนเป็นอันเดียวกัน เพราะโครงการตามนโยบายของรัฐบาลหลายโครงการถูกนำเสนอ “หน้าจอ” ดูดี แต่ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่ “หน้าบ้าน” และในบ้านของประชาชนยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละชุมชนมีโอกาสประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐและสามารถมีส่วนสำคัญในการให้ความดีความชอบ เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งโดยตรง มากกว่าปล่อยให้การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปโดยอำนาจทางการเมืองแต่ฝ่ายเดียวที่มักใช้ตามอำเภอใจและการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

ประการที่สี่ รัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมที่มีบารมี มีอำนาจต้องช่วยกันทำให้สาธารณชนรักษาค่านิยมร่วม (Common Value) แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่สืบทอดกันมานับร้อยปีโดยมีเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกันในหมู่ประชาชน ในขณะเดียวกันต้องเร่งลดทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น และไม่ทำให้สาธารณชนรู้สึกไปว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังกลายเป็นการยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จของตระกูลและพวกพ้องเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่สกัดกั้นพัฒนาการของประชาธิปไตยในสังคมไทย

ประการสุดท้าย ใช้ความโปร่งใสแท้จริง แทนการโฆษณาชวนเชื่อถึงความโปร่งใสในการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐและของพื้นที่โดยรัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้เม็ดเงินตั้งแต่ต้นทางเม็ดเงินจนถึงปลายทางของเม็ดเงินโดยรายละเอียดเหล่านั้นต้องทำให้สาธารณชนแกะรอยตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานรัฐใด บริษัทใด องค์กรใด คณะบุคคลหรือบุคคลได้รับเงินไปเท่าไหร่ตั้งแต่ส่วนกลางไปยังระดับพื้นที่

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.8 เป็นชาย ร้อยละ 52.2 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.1 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.2 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.4 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.5 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และ ร้อยละ 2.4 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองหลังจากเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                     ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าการเมืองจะรุนแรง                                                             59.1
  2      ไม่คิดว่าการเมืองจะรุนแรง                                                           40.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่อยากให้มีการพูดคุยกันมากที่สุดในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้
ลำดับที่    สิ่งที่อยากให้มีการพูดคุยกันมากที่สุด                                                     ค่าร้อยละ
  1      ปัญหาปากท้อง                                                                     87.9
  2      การแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรม                                                         7.6
  3      อื่นๆ เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาสังคมอื่นๆ เป็นต้น                        4.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาลนั้นจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล                                ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้น                                                            37.3
  2      ไม่คิดว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้น                                                          62.7
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อไปแล้วยังคงทำงานเหมือนเดิมประเทศชาติจะดีขึ้น
ลำดับที่    ความคิดเห็นถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อไปแล้วยังคงทำงานเหมือนเดิมประเทศชาติจะดีขึ้น           ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าจะดีขึ้น                                                                      33.0
  2      ไม่คิดว่าจะดีขึ้น                                                                    67.0
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วประเทศชาติจะดีขึ้น
ลำดับที่    ความคิดเห็นถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วประเทศชาติจะดีขึ้น                             ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าจะดีขึ้น                                                                      34.8
  2      ไม่คิดว่าจะดีขึ้น                                                                    65.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการทำรัฐประหารแล้วประเทศชาติจะดีขึ้น
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการทำรัฐประหารแล้วประเทศชาติจะดีขึ้น                                     ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าจะดีขึ้น                                                                      16.2
  2      ไม่คิดว่าจะดีขึ้น                                                                    83.8
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นถ้าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง
ลำดับที่    ความคิดเห็นถ้าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง                                  ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าจะลดลง                                                                     19.9
  2      ไม่คิดว่าจะลดลง                                                                   80.1
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อไปแล้วยังคงทำงานเหมือนเดิมปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง
ลำดับที่     ความคิดเห็นถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อไปแล้วยังคงทำงานเหมือนเดิมปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง    ค่าร้อยละ
  1       คิดว่าจะลดลง                                                                    22.2
  2       ไม่คิดว่าจะลดลง                                                                  77.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง
ลำดับที่    ความคิดเห็นถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง                       ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าจะลดลง                                                                     22.5
  2      ไม่คิดว่าจะลดลง                                                                   77.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการทำรัฐประหารแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง
ลำดับที่     ความคิดเห็นต่อการทำรัฐประหารแล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง                              ค่าร้อยละ
  1       คิดว่าจะลดลง                                                                    22.6
  2       ไม่คิดว่าจะลดลง                                                                  77.4
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้ประชาชนได้ตรวจสอบ
จะช่วยลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้
ลำดับที่     ความคิดเห็นต่อการเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล                        ค่าร้อยละ
  1       คิดว่าช่วยได้                                                                     83.5
  2       ไม่คิดว่าช่วยได้                                                                   16.5
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประเมินผลงานเจ้าหน้าที่รัฐและมีผลต่อการโยกย้าย ให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่รัฐ และการจัดงบประมาณในพื้นที่ จะช่วยทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานเพื่อความสุขของประชาชนในพื้นที่
ลำดับที่     ความคิดเห็น                                                                    ค่าร้อยละ
  1       คิดว่าช่วยได้                                                                     80.7
  2       ไม่คิดว่าช่วยได้                                                                   19.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ