เอแบคโพลล์: ประชาชนคิดอย่างไรต่อ ความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปการเมือง ความรุนแรง และสื่อในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday September 2, 2013 08:01 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อ ความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปการเมือง ความรุนแรง และสื่อในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,103 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 31 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.9 ระบุความขัดแย้งทางการเมืองมีมากถึงมากที่สุดในเวลานี้ ขณะที่ร้อยละ 23.1 ระบุน้อยถึงไม่ขัดแย้งเลย โดยทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนร้อยละ 47.5 ระบุคิดไม่ออก หมดหนทางแก้ไข ปล่อยให้มันเป็นไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด รองลงมาคือ ร้อยละ 18.4 ระบุใช้กระบวนการทางรัฐสภาแก้ไข ร้อยละ 15.2 ระบุยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 9.5 ระบุนายกรัฐมนตรีลาออก ร้อยละ 7.4 ระบุแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 2.0 ระบุอื่นๆ เช่น เจราจาประนีประนอม ประจานพฤติกรรมไม่ดีของนักการเมือง และนิรโทษกรรม เป็นต้น

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ระบุความเห็นต่อการปฏิรูปการเมืองว่า ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ แค่เป็นการสร้างภาพ ไม่แก้ไขอย่างจริงจัง ทำไปเพื่อซื้อเวลา ยังคงมีความแตกแยกของคนในชาติอยู่ เบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของประชาชน กลบปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องและค่าครองชีพ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 19.2 ระบุประสบความสำเร็จ เพราะ รัฐบาลเอาจริงเอาจัง เชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทุกฝ่ายช่วยกัน และเพราะประชาชนสนับสนุน ตามลำดับ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 ยังคิดว่าการปฏิรูปการเมืองทำไปเพื่อตนเองและพวกพ้อง ในขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุทำไปเพื่อประชาชนทั้งประเทศ

เมื่อถามถึงระดับความรุนแรงทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.6 ระบุรุนแรงมาก ถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 46.4 ระบุน้อยถึงไม่รุนแรงเลย โดยร้อยละ 50.1 ระบุความแตกแยกของคนในชาติยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 32.7 ระบุเพิ่มขึ้น และร้อยละ 17.2 ระบุลดลง ส่วนความวุ่นวายของบ้านเมือง พบว่า ร้อยละ 46.8 ระบุยังวุ่นวายเหมือนเดิม ร้อยละ 39.2 เพิ่มขึ้นและร้อยละ 14.0 ระบุลดลง

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.1 ระบุความเห็นต่อการปฏิวัติรัฐประหารว่าไม่ได้ช่วยลดความวุ่นวายของบ้านเมืองลงได้ในขณะที่ร้อยละ 15.9 คิดว่าการปฏิวัติรัฐประหารจะช่วยลดความวุ่นวายต่างๆ ลงได้

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความต้องการต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.7 ระบุ ต้องการให้สื่อมวลชนทำให้คนไทยรักกัน สร้างความสงบแก่บ้านเมือง รองลงมาคือ ร้อยละ 78.3 ต้องการให้สื่อมวลชนเป็นกลางไม่เลือกข้าง ไม่เป็นเครื่องมือรับใช้การเมือง ร้อยละ 75.0 ต้องการให้สื่อมวลชนประจานนักการเมืองที่ประพฤติเสื่อมเสียไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน รองๆ ลงไปคือ ต้องการให้สื่อมวลชนหยุดเสนอภาพรุนแรงในปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องการให้สื่อมวลชนปกป้องผลประโยชน์ชาวบ้านในชุมชน ต้องการให้สื่อมวลชนหยุดแพร่ภาพและข่าวที่ส่งผลเสียต่อความรู้สึกของเด็กและเยาวชน และต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลเพื่อความปรองดอง เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ปลุกปั่นความเกลียด ความหลงในหมู่ประชาชน เป็นต้น

ดร.นพดล กรรณิกา กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์ประเทศใหม่เพราะยุทธศาสตร์ที่ดีต้องประสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่สิ่งที่ปรากฏในการรับรู้ของสาธารณชนกลับพบว่า แนวทางของรัฐบาลที่ทำยังคงมีความขัดแย้งในตัวเอง เช่น ความพยายามที่จะทำให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชาติ แต่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจนอาจกลายเป็นเชื้อไฟสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ดังนั้น เพื่อประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองให้ไปรอดแบบค่อยเป็นค่อยไปบนทางของประชาธิปไตยมากกว่าการเร่งรัดปฏิรูปการเมืองหรือการโค่นล้มห่ำหั่นยึดอำนาจกัน ทางออกที่น่าพิจารณา คือ

ประการแรก ฝ่ายรัฐบาลและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอาจต้อง “เงียบ” และนิ่งสงบบนครรลองครองธรรมบ้างในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง เพราะท่าทีที่เงียบยังสามารถตีความได้ว่ากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ ยกตัวอย่าง เช่น ฝ่ายรัฐบาลกำลังพยายามที่จะโน้มน้าวชักชวนให้สาธารณชนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรม คำถามคือ รัฐบาลควรแสดงความก้าวร้าวตอบโต้ฝ่ายคัดค้านหรือไม่ แกนนำของรัฐบาลควรออกมาพูดจาถากถางใช้คำพูดเสียดสีดูหมิ่นดูแคลนฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ รัฐบาลกำลังทำตามที่เคยประกาศไว้ว่ามาแก้ไขไม่ได้แก้แค้นหรือไม่ ดังนั้น การสื่อสารเชิงบวกเชิงสร้างสรรค์และการเลือกที่จะเงียบสงบสักระยะหนึ่งจึงเป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้

ประการที่สอง เสนอให้ผู้มีอำนาจใช้การตัดสินใจเชิงนโยบายแบบ Skepticism ที่ยอมรับคำถามและข้อสงสัยของสาธารณชนมาปรับปรุงมากกว่าพวกนิยมแนวของ Dogma ที่มักจะคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะยอมรับการตัดสินใจของตนโดยไม่มีคำถามหรือข้อโต้แย้งต่อแนวนโยบาย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ยอมกันไปหมดทุกเรื่อง การทำงานทางการเมืองทุกกลุ่มที่ขึ้นมามีอำนาจรัฐต้องใช้หลักเหตุและผลมากกว่าความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว แต่ควรนำข้อมูลความเป็นจริงที่จับต้องได้มาหักล้างกัน และให้สาธารณชนตัดสินใจ ดังนั้น ทุกอย่างต้องมีขอบเขต เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องอยู่บนกระบวนการทางกฎหมายมากกว่า การกดดันของม็อบกลุ่มต่างๆ ที่มักจะประกาศใช้กำลังหรือการปิดประเทศเมื่อข้อเรียกร้องของกลุ่มตนไม่บรรลุผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ทุกข้อเรียกร้องมีทั้งดีและไม่ดี

ประการที่สาม ทุกฝ่ายควรนำผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่มาวางบนโต๊ะในที่สาธารณะเพราะแต่ละกลุ่มกำลังมีผลประโยชน์แตกต่างกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จะทำให้เห็นว่าฝ่ายใดกำลังทำเพื่อตนเองและพวกพ้องและฝ่ายใดกำลังทำเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนทั้งประเทศ ดังนั้น การนำผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายมาปรากฏในสายตาของสาธารณชนจะทำให้เห็นได้ชัดว่า ภาระหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐคือ ปัญหาของสาธารณชน ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การกล่าวอ้างสิ่งที่เคยทำกันในอดีตเช่น ในทุกครั้งที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจก็มีการนิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้องในอดีต โดยการกล่าวอ้างแบบนี้จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองไม่หลุดพ้นไปจากวัฏจักรความชั่วร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จึงต้องใช้แนวทางใหม่ในการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองเพราะการแก้ไขความขัดแย้งต้องไม่ใช้เพียงการกล่าวอ้างสิ่งที่เคยทำมาในอดีตแบบซ้ำๆ แต่ควรถูกแทนที่ด้วยวิธีการที่ดีกว่าโดยยกระดับคนทุกหมู่เหล่ามาเป็น “หุ้นส่วนของประเทศ” (the Nation’s Partnership)

ประการที่สี่ การสร้างความฝันความหวังร่วมกันของคนในชาติเป็นเรื่องจำเป็นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้เพราะที่ผ่านมาในอดีต คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะไปทางไหน คนในชาติขาดจุดรวมแห่งจิตใจและขาดความฝันร่วมกันในเป้าหมายการแก้ปัญหาประเทศชาติและปัญหาชุมชนของตนเอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเลือกข้างเต่มักถูกผลักถูกแบ่งให้เลือกฝ่ายด้วยประเด็นร้อนทางการเมือง ดังนั้น การรวมคนในชาติจึงต้องเร่งดำเนินการด้วยการทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า เอกลักษณ์ของความเป็นคนไทยที่รักความสงบ มีน้ำใจไมตรีจิตต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ยังคงเป็น DNA หยั่งลึกในพันธุกรรมความรักชาติของคนไทยทั้งประเทศ อย่ายอมให้ใครมาเปลี่ยนพันธุกรรมนี้ได้

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.1 เป็นชาย ร้อยละ 51.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 23.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 29.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 67.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 32.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 31.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 25.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 14.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 12.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.0 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.4 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.8 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้
ลำดับที่    ระดับความขัดแย้งทางการเมือง                                                       ค่าร้อยละ
  1      มากถึงมากที่สุด                                                                    76.9
  2      น้อยถึงไม่ขัดแย้งเลย                                                                23.1
         รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากที่สุด (ตอบได้เพียงข้อเดียว)
ลำดับที่    ทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากที่สุด                                   ค่าร้อยละ
  1      คิดไม่ออก หมดหนทางแก้ไข ปล่อยให้มันเป็นไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด                           47.5
  2      ใช้กระบวนการทางรัฐสภาแก้ไข                                                       18.4
  3      ยุบสภาเลือกตั้งใหม่                                                                15.2
  4      นายกรัฐมนตรีลาออก                                                                9.5
  5      แก้ไขรัฐธรรมนูญ                                                                   7.4
  6      อื่นๆ เช่น เจรจาประนีประนอม ประจานพฤติกรรมไม่ดีของนักการเมือง นิรโทษกรรม เป็นต้น           2.0
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการเมือง
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                    ค่าร้อยละ
1      ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ แค่เป็นการสร้างภาพ ไม่แก้ไขอย่างจริงจัง ทำไปเพื่อซื้อเวลา
ยังคงมีความแตกแยกของคนในชาติอยู่ เบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของประชาชน กลบปัญหาเศรษฐกิจ
         ปากท้อง และค่าครองชีพ เป็นต้น                                                      80.8
2      ประสบความสำเร็จ เพราะ รัฐบาลเอาจริงเอาจัง เชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทุกฝ่ายช่วยกัน
         และเพราะประชาชนสนับสนุน ตามลำดับ                                                 19.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการเมือง ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง หรือ เพื่อประชาชนทั้งประเทศ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                    ค่าร้อยละ
  1      เพื่อตนเองและพวกพ้อง                                                             69.1
  2      เพื่อประชาชนทั้งประเทศ                                                            30.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับความรุนแรงทางการเมือง
ลำดับที่    ระดับความรุนแรงทางการเมือง                                                      ค่าร้อยละ
  1      รุนแรงมาก ถึง มากที่สุด                                                            53.6
  2      น้อย ถึง ไม่รุนแรงเลย                                                             46.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับความแตกแยกของคนในชาติ
ลำดับที่    ระดับความแตกแยกของคนในชาติ                                                     ค่าร้อยละ
  1      เพิ่มขึ้น                                                                         32.7
  2      เหมือนเดิม                                                                      50.1
  3      ลดลง                                                                          17.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับความวุ่นวายของบ้านเมือง
ลำดับที่    ระดับความวุ่นวาย                                                                ค่าร้อยละ
  1      เพิ่มขึ้น                                                                         39.2
  2      เหมือนเดิม                                                                      46.8
  3      ลดลง                                                                          14.0
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปฏิวัติรัฐประหารกับความวุ่นวายของบ้านเมือง
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                    ค่าร้อยละ
  1      การปฏิวัติ รัฐประหาร ไม่ได้ช่วยลดความวุ่นวายของบ้านเมือง                                 84.1
  2      การปฏิวัติ รัฐประหาร ช่วยลดความวุ่นวายได้                                             15.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองปัจจุบัน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                   ค่าร้อยละ
  1      ต้องการให้สื่อมวลชนทำให้คนไทยรักกัน สร้างความสงบแก่บ้านเมือง                            81.7
  2      ต้องการให้สื่อมวลชนเป็นกลางไม่เลือกข้าง ไม่เป็นเครื่องมือรับใช้การเมือง                      78.3
  3      ต้องการให้สื่อมวลชนประจานนักการเมืองที่ประพฤติเสื่อมเสียไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน     75.0
  4      ต้องการให้สื่อมวลชนหยุดเสนอภาพรุนแรงในปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้              73.9
  5      ต้องการให้สื่อมวลชนปกป้องผลประโยชน์ชาวบ้านในชุมชน                                    64.2
  6      ต้องการให้สื่อมวลชนหยุดเผยแพร่ภาพและข่าวที่ส่งผลเสียต่อความรู้สึกของเด็กและเยาวชน            62.8
7      อื่นๆ เช่น สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลเพื่อความปรองดอง สื่อมวลชนเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ปลุกปั่นความเกลียด  19.9
ความหลงในหมู่ประชาชน เป็นต้น

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ