เอแบคโพลล์: ความเป็นแบบอย่างให้เด็กและเยาวชนของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ และการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ข่าวผลสำรวจ Monday September 9, 2013 06:56 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดโครงการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความเป็นแบบอย่างให้เด็กและเยาวชนของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ และการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,197 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 6 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นและประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.6 ทราบข่าว ส.ส.ฝ่ายค้านทุ่มเก้าอี้แสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของประธานในสภาผู้แทนราษฎร มีเพียงร้อยละ 7.4 ยังไม่ทราบข่าว โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.5 ระบุกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ส.ส.ฝ่ายค้าน หลังมีพฤติกรรมทุ่มเก้าอี้ของ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.0 ระบุกระทบต่อการเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสุภาพบุรุษ สมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาผู้แทนราษฎรต่อเด็กและเยาวชน ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.1 ระบุพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่แย่มาก ถึง มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 32.9 ระบุน้อย ถึง ไม่แย่เลย โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.6 ระบุควรตั้งกรรมการสอบเอาผิดด้านจริยธรรม ความประพฤติของ ส.ส. ที่ทุ่มเก้าอี้ในสภาผู้แทนฯ

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.9 เห็นควรตั้งกรรมการสอบการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ในขณะที่ ร้อยละ 38.1 ระบุไม่ควร

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 คิดว่า ผู้ใหญ่ในสังคมคงปล่อยให้เกิดพฤติกรรมเสื่อมเสีย ของสมาชิกเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 37.5 คิดว่า ผู้ใหญ่ในสังคมจะเอาจริงเอาจังแก้ไขในสิ่งผิด

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม ดร.นพดล กรรณิกา และในฐานะประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์ฯ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ค้นพบครั้งนี้น่าจะชัดเจนเพียงพอว่าประชาชนตอบโต้กับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของ “ต้นแบบ” ของสังคมในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาอันทรงเกียรติอย่างน่าพิจารณา เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ความเสื่อมเสียครั้งแรกที่สาธารณชนรับทราบแต่เคยรับทราบกันมาทั้ง การดูภาพโป๊เปลือย การท้าตีท้าต่อย การใช้ถ้อยคำรุนแรง การขว้างปาสิ่งของ และล่าสุดการทุ่มเก้าอี้ เป็นต้น แต่สังคมของกลุ่มคนที่น่าจะเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีแห่งสภาอันทรงเกียรติก็ปล่อยให้เกิดซ้ำซากกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นกัน ต่อไปอาจจะมีเรื่องร้ายแรงบานปลายขึ้นได้ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ได้ ดังนั้น จึงต้องมีแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหที่น่าพิจารณาดังนี้คือ

ประการแรก ต้องใช้กระบวนการด้านจริยธรรมและความประพฤติของสภาอันทรงเกียรติเข้าดำเนินการเอาผิดเร่งด่วนทั้งในเรื่องการดูภาพโป๊เปลือย การท้าตีท้าต่อย การใช้ถ้อยคำรุนแรง และการทุ่มเก้าอี้ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ของคณะบุคคลในสถาบันและสภาอันทรงเกียรติเกิดขึ้นในเห็นกันในสายตาของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ จนเด็กๆ เหล่านั้นอาจจะลุกขึ้นชี้หน้าบอกผู้ใหญ่ในสังคมว่า “อย่ามาริ บังอาจสอนพวกเรา” ผลที่ตามมาก็คือ บ้านเมืองและสังคมโดยรวมในปัจจุบันและอนาคตอาจจะเลวร้ายจนความเป็นไทยที่รักความสงบสุขก็ยากรักษาไว้ได้

ประการที่สอง กลไกของสภาอันทรงเกียรติต้องทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมให้สมาชิกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มากกว่ามีพฤติกรรมแบบพวกล้าหลังของการพัฒนา และหากปล่อยให้เกิดขึ้นเช่นนี้ต่อไปจะทำลายความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยและฝ่ายการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไม่ใช่กลายเป็นตัวปัญหาความขัดแย้งเสียเอง ดังนั้น ทั้งผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมและผู้ที่ทุ่มเก้าอี้ต้องถูกตั้งกรรมการสอบทั้งสองฝ่าย เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตต่อไป

ประการที่สาม สื่อมวลชนและสังคมน่าจะตัดสินใจดำเนินการประจานความไม่เหมาะสมในพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่องอันจะทำให้ประชาชนทั้งประเทศจำได้ว่าใครมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ที่อาจส่งผลต่อคะแนนนิยมภาพรวมของพรรคการเมืองได้ ถ้าประชาชนในระดับพื้นที่ยอมรับได้พฤติกรรมรุนแรงเช่นนี้

ประการที่สี่ ขอให้ผู้ใหญ่ในสังคมช่วยกันพิจารณาถึงกลไกควบคุมความวุ่นวายในสังคมอันเกิดจากพฤติกรรมของ “คนต้นแบบ” ที่สามารถกลายเป็น “ต้นตออันตราย” ในหมู่เด็กและเยาวชนจนลอกเลียนแบบกันในที่ต่างๆ ที่มี “เก้าอี้” ทั้งที่บ้าน ห้องเรียน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ สถานบันเทิง และที่สาธารณะทั่วไปที่จะเป็นอันตรายไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนอื่นๆ ที่สัญจรไปมาอย่างน่าเป็นห่วง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 8.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 17.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 25.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 25.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 60.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 39.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 34.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 21.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 13.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.8 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 10.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.6 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ทราบข่าว การทุ่มเก้าอี้ของ ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ลำดับที่    การทราบข่าว                                                                               ค่าร้อยละ
  1      ทราบข่าว                                                                                   92.6
  2      ไม่ทราบข่าว                                                                                  7.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                                  100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลกระทบต่อ ส.ส. ฝ่ายค้าน หลังมีพฤติกรรมการทุ่มเก้าอี้ของ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                                 ค่าร้อยละ
  1      กระทบต่อ ภาพลักษณ์                                                                            84.5
  2      ไม่กระทบ                                                                                    15.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                                   100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลกระทบต่อ การเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ของ สุภาพบุรุษ สมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในสภาผู้แทนฯ ต่อเด็กและเยาวชน
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                                  ค่าร้อยละ
  1      กระทบ โดยเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อ เด็กและเยาวชน                                                       91.0
  2      ไม่กระทบ                                                                                      9.0
         รวมทั้งสิ้น                                                                                    100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับความ แย่ ในพฤติกรรมของ ส.ส.ฝ่ายค้าน หลังทุ่มเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎร
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                                 ค่าร้อยละ
  1      แย่มาก ถึง มากที่สุด                                                                             67.1
  2      น้อย ถึง ไม่แย่เลย                                                                              32.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ การตั้ง กรรมการตรวจสอบเอาผิดด้านจริยธรรม ความประพฤติของ ส.ส.ที่ทุ่มเก้าอี้ในสภาผู้แทนฯ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                                 ค่าร้อยละ
  1      ควรตั้งกรรมการตรวจสอบ                                                                        73.6
  2      ไม่ควร                                                                                      26.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                                   100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ การตั้งกรรมการ ตรวจสอบ การทำหน้าที่ของ ประธานสภาผู้แทนฯ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                                 ค่าร้อยละ
  1      ควรตั้งกรรมการตรวจสอบ                                                                        61.9
  2      ไม่ควร                                                                                      38.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                                  100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ ผู้ใหญ่ในสังคมว่า จะเอาจริงเอาจังแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีของ ส.ส. หรือ จะปล่อยให้เกิดพฤติกรรมเสื่อมเสียต่อไป
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                                 ค่าร้อยละ
  1      ผู้ใหญ่ในสังคมคงปล่อยให้เกิดพฤติกรรมเสื่อมเสียของสมาชิกเกิดขึ้นต่อไป                                       62.5
  2      คิดว่า ผู้ใหญ่ในสังคมจะเอาจริงเอาจังแก้ไขในสิ่งผิด                                                     37.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                                   100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ