เอแบคโพลล์: ความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday September 9, 2013 11:46 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดโครงการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี อยุธยา ราชบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี หนองคาย สกลนคร ระนอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,119 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม — 7 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7

เมื่อสอบถามถึงประสบการณ์การได้รับความช่วยเหลือ ลดความเดือดร้อนจากนักการเมืองฝ่ายต่างๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 ระบุไม่เคยได้รับการช่วยเหลือลดความเดือดร้อนจากนักการเมืองฝ่ายใดเลย ในขณะที่ร้อยละ 24.3 ระบุเคยได้รับจากฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 7.2 ระบุเคยได้รับจากฝ่ายค้าน เมื่อสอบถามถึง การรับรู้ข่าว การเปิดกว้างมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันของนักการเมืองจากพรรคการเมือง พบว่า ร้อยละ 42.6 ระบุไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย รองลงมาคือร้อยละ 36.1 ระบุฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 21.3 ระบุฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 53.9 ระบุไม่รับรู้เลยว่ามีพรรคการเมืองฝ่ายใดเลยที่แสดงออกซึ่งความรักชาติ รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในขณะที่ร้อยละ 35.4 ระบุฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 10.7 ระบุฝ่ายค้าน

ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 55.4 รับรู้ข่าวชีวิตความเป็นอยู่ที่สบาย หรูหรา มีฐานะการเงินร่ำรวยของฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 28.2 ระบุฝ่ายค้าน และที่เหลือร้อยละ 16.4 ระบุไม่มีจากพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.1 ระบุความร่ำรวยของนักการเมืองทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อนักการเมืองน้อยถึงไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 35.9 ระบุทำให้เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.2 ระบุไม่มีพรรคการเมืองใดที่ลงไปคลุกคลี สัมผัสชีวิตความยากลำบากของชาวบ้านประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ในขณะที่ร้อยละ 28.3 ระบุฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 10.5 ระบุฝ่ายค้าน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ร้อยละ 48.9 รับรู้ถึงพฤติกรรมที่เสื่อมเสียไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนของนักการเมืองฝ่ายค้าน ในขณะที่จำนวนมากเช่นกันหรือร้อยละ 45.7 ระบุฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 5.4 ไม่มีฝ่ายใดเสื่อมเสีย

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 ยังคงเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีนักการเมืองที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 16.3 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลยต่อระบอบประชาธิปไตย

และถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ผลวิจัยพบว่า ความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ร้อยละ 44.6 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ร้อยละ 22.9 ส่วนร้อยละที่เหลือกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ

ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศและการเมืองจึงต้องมุ่งเน้นมาที่ พฤติกรรมและภาพลักษณ์ของนักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นแต่ยังไม่ได้เห็นถึงการทำ “หน้าที่” ของนักการเมืองในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและลดความเดือดร้อนของประชาชนมากเท่าใดนัก แต่กลับเห็นพฤติกรรมที่เสื่อมเสียไม่เหมาะสม ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยยังคงมีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มีความมุ่งมั่นจะทำงานรับใช้สาธารณชนไปอย่างยาวนาน อาจจะพิจารณาเร่งแก้ไขระบบ “เงินทอน” ในกลุ่มคนใกล้ชิดรัฐมนตรีและคณะที่ปรึกษาบางคนให้ได้เพื่อรักษาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.2 เป็นชาย ร้อยละ 53.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 24.9 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 27.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 69.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 30.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์การได้รับความช่วยเหลือ ลดความเดือดร้อน จาก นักการเมืองฝ่ายใดมากที่สุด
ลำดับที่   การรับรู้ต่อฝ่ายการเมือง                                ค่าร้อยละ
  1     ไม่เคยเลย                                           68.5
  2     เคยจากฝ่ายรัฐบาล                                     24.3
  3     เคยจากฝ่ายค้าน                                        7.2
        รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ต่อการเปิดกว้างมีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของนักการเมืองจากพรรคการเมืองฝ่ายใด
ลำดับที่   ฝ่ายการเมือง                                        ค่าร้อยละ
  1     ไม่มีจากพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย                          42.6
  2     ฝ่ายรัฐบาล                                           36.1
  3     ฝ่ายค้าน                                             21.3
        รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ต่อข่าว การแสดงออกซึ่งความรักชาติ รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติของนักการเมืองจากพรรคการเมืองฝ่ายใดมากที่สุด
ลำดับที่   ฝ่ายการเมือง                                        ค่าร้อยละ
  1     ไม่มีจากพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย                          53.9
  2     ฝ่ายรัฐบาล                                           35.4
  3     ฝ่ายค้าน                                             10.7
        รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ต่อ ข่าวชีวิตความเป็นอยู่ที่สบาย หรูหรา มีฐานะการเงินร่ำรวยมากกว่าชาวบ้านของนักการเมืองจากพรรคการเมืองฝ่ายใดมากที่สุด
ลำดับที่   ฝ่ายการเมือง                                        ค่าร้อยละ
  1     ไม่มีจากพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย                          16.4
  2     ฝ่ายรัฐบาล                                           55.4
  3     ฝ่ายค้าน                                             28.2
        รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความร่ำรวย ของนักการเมือง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อนักการเมืองเหล่านั้นมากน้อยเพียงไร
ลำดับที่   ความเชื่อมั่นศรัทธา                                    ค่าร้อยละ
  1     น้อย ถึง ไม่มีเลย                                      64.1
  2     มาก ถึงมากที่สุด                                       35.9
        รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ต่อ ข่าวของนักการเมืองจากพรรคการเมืองฝ่ายใดมากที่สุด ที่ลงไปคลุกคลี สัมผัสชีวิตความยากลำบากของชาวบ้านประชาชนในถิ่นทุรกันดาร
ลำดับที่   ฝ่ายการเมือง                                        ค่าร้อยละ
  1     ไม่มีจากพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย                          61.2
  2     ฝ่ายรัฐบาล                                           28.3
  3     ฝ่ายค้าน                                             10.5
        รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ถึง พฤติกรรมที่เสื่อมเสีย ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ของนักการเมืองจากพรรคการเมืองฝ่ายใดมากที่สุด
ลำดับที่  ฝ่ายการเมือง                                        ค่าร้อยละ
  1    ไม่มีฝ่ายใดเสื่อมเสีย                                     5.4
  2    ฝ่ายรัฐบาล                                           45.7
  3    ฝ่ายค้าน                                             48.9
       รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีนักการเมืองที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี
ลำดับที่   ความเชื่อมั่น                                        ค่าร้อยละ
  1     เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด                                  83.7
  2     น้อย ถึง ไม่เชื่อมั่นเลย                                 16.3
        รวมทั้งสิ้น                                          100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง
ลำดับที่   พรรคการเมือง                                      ค่าร้อยละ
  1     พรรคเพื่อไทย                                        44.6
  2     พรรคประชาธิปัตย์                                     22.9
  3     พรรคอื่นๆ                                           32.5
        รวมทั้งสิ้น                                          100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ