เอแบคโพลล์: ความรู้สึกของประชาชนต่อพฤติกรรมของสภาผู้ทรงเกียรติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่

ข่าวผลสำรวจ Monday September 30, 2013 06:37 —เอแบคโพลล์

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้สึกของประชาชนต่อพฤติกรรมของสภาผู้ทรงเกียรติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ สงขลา ขอนแก่น ชลบุรี และเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,873 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 — 27 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.3 ติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

ทัศนคติของประชาชนที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.8 รู้สึกผิดหวังต่อข่าวการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติ เพราะเกิดขึ้นซ้ำซาก และคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้วในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือโดนกลั่นแกล้ง ในขณะที่ร้อยละ 24.2 รู้สึกเฉยๆ เพราะพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนเริ่มชิน

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81.1 คิดว่าภาพวีดีโอการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติเป็นเรื่องจริง และร้อยละ 18.9 คิดว่าตัดต่อ

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างกว่าสองในสามหรือร้อยละ 67.8 เริ่มหมดความอดทนต่อพฤติกรรมของรัฐสภา สภาผู้แทนอันทรงเกียรติ ในพฤติกรรมซ้ำซากที่เกิดขึ้นในขณะประชุมสภาฯ ตั้งแต่วันเปิดประชุมสภาฯ มาจนถึงวันนี้ ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ยังทนได้อยู่

สิ่งสำคัญที่ประชาชนฝากถึงสภาผู้แทนอันทรงเกียรติในการประชุมสภาฯ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้คือ ร้อยละ 89.6 ระบุว่าอยากเห็นการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างสุภาพชน มีพฤติกรรมและมารยาทที่เหมาะสม น่าเคารพนับถือในฐานะผู้แทนของประชาชนทั่วทั้งประเทศ มีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่ระบุว่าทำดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 56.3 คิดว่าควรจะเลื่อนการลงมติวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว. เพราะกลัวจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีก ในขณะที่ร้อยละ 43.7 คิดว่าควรดำเนินการต่อไป เพราะคิดว่าน่าจะเป็นไปตามวาระการประชุม

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวว่า ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ค้นพบครั้งนี้น่าจะชัดเจนเพียงพอว่าประชาชนตอบโต้กับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของ “ต้นแบบ” ของสังคมในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาอันทรงเกียรติอย่างน่าพิจารณา เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ความเสื่อมเสียครั้งแรกที่สาธารณชนรับทราบ แต่เคยรับทราบกันมาทั้ง การดูภาพโป๊เปลือย การท้าตีท้าต่อย การใช้ถ้อยคำรุนแรง การขว้างปาสิ่งของ การทุ่มเก้าอี้ และล่าสุดการเสียบบัตรแทนกัน เป็นต้น แต่สังคมของกลุ่มคนที่น่าจะเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีแห่งสภาอันทรงเกียรติก็ปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำซากกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นกัน ต่อไปอาจจะมีเรื่องร้ายแรงบานปลายขึ้นได้ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ได้

ดังนั้น กลไกของสภาอันทรงเกียรติต้องทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมให้สมาชิกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มากกว่ามีพฤติกรรมแบบพวกล้าหลังของการพัฒนา และหากปล่อยให้เกิดขึ้นเช่นนี้ต่อไปจะทำลายความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยและฝ่ายการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไม่ใช่กลายเป็นตัวปัญหาความขัดแย้งเสียเอง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.3 เป็นชาย ร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 36.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 7.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.4 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.3 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่    ติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                                        ค่าร้อยละ
  1      ติดตาม                                                                                  88.3
  2      ไม่ได้ติดตาม                                                                              11.7
         รวมทั้งสิ้น                                                                               100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกต่อข่าวการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติ
ลำดับที่    ความรู้สึก                                                                               ค่าร้อยละ
1      รู้สึกผิดหวัง เพราะเกิดขึ้นซ้ำซาก และคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว
         ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือโดนกลั่นแกล้ง                                       75.8
  2      รู้สึกเฉยๆ เพราะพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนเริ่มชิน                                                24.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                               100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อภาพวีดีโอการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ในสภาผู้แทนอันทรงเกียรติ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                             ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าตัดต่อ                                                                               18.9
  2      คิดว่าเรื่องจริง                                                                            81.1
         รวมทั้งสิ้น                                                                               100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของกลุ่มตัวอย่างระบุ ความรู้สึกที่ยังคงเห็นพฤติกรรมซ้ำซากที่เกิดขึ้นในขณะประชุมสภาฯ ตั้งแต่วันเปิดประชุมสภาฯ มาจนถึงวันนี้
ลำดับที่    ความรู้สึก                                                                               ค่าร้อยละ
  1      เริ่มหมดความอดทนต่อพฤติกรรมของรัฐสภา สภาผู้แทนอันทรงเกียรติ ในพฤติกรรมซ้ำซาก                       67.8
  2      ยังทนได้อยู่                                                                               32.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                               100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อสิ่งที่อยากเห็นในการประชุมสภาฯ ของสภาผู้แทนอันทรงเกรียติในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                             ค่าร้อยละ
1      อยากเห็นการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างสุภาพชน มีพฤติกรรมและมารยาทที่เหมาะสม น่าเคารพนับถือในฐานะ
         ผู้แทนของประชาชนทั่วทั้งประเทศ                                                               89.6
  2      ทำดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร                                                             10.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                               100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการลงมติวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว. ในวันนี้
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                             ค่าร้อยละ
  1      ควรจะเลื่อน เพราะกลัวจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีก                                                   56.3
  2      ดำเนินการต่อไป เพราะคิดว่าน่าจะเป็นไปตามวาระการประชุม                                         43.7
         รวมทั้งสิ้น                                                                               100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ