กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ของประเทศ
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง ความพีงพอใจของประชาชนต่อผลงานรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และข่าวลือการปรับ ครม. กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,885 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2 — 5 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านโดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อสอบถามถึงข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.9 คิดว่าเป็นเรื่องจริง ในขณะที่ร้อยละ 39.1 คิดว่าเป็นข่าวลือ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.6 คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่ควรจะปรับคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ เพราะเพิ่งปรับมาไม่นาน ควรให้โอกาสรัฐมนตรีในการทำงานก่อน จะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการทำงาน และคงไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากนี้ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.4 คิดว่าวัตถุประสงค์หลักต่อข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
สำหรับกระทรวงที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าควรปรับมากที่สุดถ้าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีจริง ได้แก่ อันดับแรกหรือร้อยละ 28.3 ระบุกระทรวงพาณิชย์ อันดับที่ 2 คือ ร้อยละ 22.7 ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันดับที่ 3 คือร้อยละ 20.4 ระบุกระทรวงมหาดไทย อันดับที่ 4 คือร้อยละ 17.9 ระบุกระทรวงการคลัง และอันดับที่ 5 คือร้อยละ 10.7 ระบุกระทรวงศึกษาธิการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ว่าจะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลดีขึ้น พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.0 คิดว่าเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 28.3 คิดว่าดีขึ้น และร้อยละ 15.7 คิดว่าแย่ลง
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 คิดว่าข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้จะเป็นการแทรกแซงการทำงานของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้เมื่อถามถึงบทบาทสำคัญในการตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.2 คิดว่านางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรมีบทบาทสำคัญ แสดงความเป็นผู้นำ และตัดสินใจด้วยตัวเอง ในฐานะผู้นำประเทศ เพราะเป็นอำนาจ หน้าที่อยู่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 29.8 ระบุควรให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 51.7 มีความพึงพอใจในผลงานรัฐบาลโดยภาพรวม ในระดับปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 36.2 พอใจน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 12.1 พอใจมากถึงมากที่สุด
นอกจากนี้ กว่าสองในสามหรือร้อยละ 69.0 คิดว่ารัฐบาลจะสามารถทำงานต่อไปจนครบวาระได้ยาก เพราะ ผลลัพธ์จากนโยบายพ่นพิษของรัฐบาล ความขัดแย้งทางการเมืองและมวลชน และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 31.0 คิดว่าเป็นไปได้ เพราะ รัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหา และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศแก่นานาชาติ เป็นต้น ?จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง ร้อยละ 48.4 เป็นชาย ร้อยละ 5.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 18.9 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 33.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 28.6 ปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.8 อาชีพเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 25.1 ค้าขายส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.9 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.2 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.4 นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.9 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 3.7 ไม่ได้ประกอบอาชีพ
--เอแบคโพลล์--