เอแบคโพลล์: ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ และความสุขของเอสเอ็มอีไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday November 4, 2013 15:03 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญร่วมกับคุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ และความสุขของเอสเอ็มอีไทย กรณีศึกษาตัวอย่างผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 274 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่า

สื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เป็นช่องทางการติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การลงทุนอันดับแรกหรือร้อยละ 78.0 รองลงมาคือ เว็บไซต์ ร้อยละ 76.9 โซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ร้อยละ 66.7 และวิทยุ ร้อยละ 37.9 ตามลำดับ

สำหรับความคิดเห็นต่อการพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทย พบว่า ส่วนมากหรือร้อยละ 90.1 คิดว่ามีความจำเป็นมากถึงมากที่สุดต่อการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ไทยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆในสังคม ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถประสบความสำเร็จได้ในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 74.5 ระบุการมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีจะทำให้ธุรกิจ SMEs ประสบความสำเร็จ รองลงมา หรือร้อยละ 73.7 ระบุการมีแผนงานทางธุรกิจที่ดี ร้อยละ 58.8 ระบุการมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ ร้อยละ 39.1 ระบุการมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี ร้อยละ 38.7 ระบุความมั่นใจและความเชื่อ ร้อยละ 29.6 ระบุการมีแหล่งเงินกู้โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน และร้อยละ 6.2 อื่นๆ อาทิ การควบคุมต้นทุน มีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อสอบถามถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 57.2 คิดว่าว่าแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 18.6 คิดว่าดีขึ้น และร้อยละ 24.2 คิดว่าเหมือนเดิม

ส่วนความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อแนวโน้มที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.8 คิดว่าแนวโน้มการลงทุนในเมืองไทยในอีก 1 ปีข้างหน้าจะดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 28.1 คิดว่าจะเหมือนเดิม และร้อยละ 19.1 คิดว่าจะแย่ลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความพร้อมของกิจการที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.0 คิดว่าพร้อม ในขณะที่ร้อยละ 47.0 คิดว่ายังไม่พร้อม

          สำหรับสามอันดับของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กลุ่มตัวอย่างมีความสนใจอยากเข้าไปลงทุนมากที่สุด พบว่า อันดับแรก ได้แก่                   พม่า ร้อยละ 35.7 อันดับสองได้แก่ ลาว ร้อยละ 20.3 และอันดับสามได้แก่ เวียดนาม ร้อยละ 15.4 ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า ร้อยละ 51.8 คิดว่าประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในขณะที่ร้อยละ 48.2 คิดว่าไม่พร้อม

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 52.3 ระบุว่าตัวผู้ประกอบการเองมากกว่าที่ส่งผลต่อความพร้อมของประเทศไทยเพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในขณะที่ร้อยละ 47.7 ระบุภาครัฐมากกว่า

และมีค่าคะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจต่อนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลชุดปัจจุบันในมุมมองของผู้ประกอบการอยู่ที่ 5.12 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ค่าคะแนนเฉลี่ยดัชนีความสุขของผู้ประกอบการต่อการดำเนินงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ที่ 6.06 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน นั่นก็หมายความว่าผู้ประกอบการยังไม่ค่อยมีความสุขในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาวะของบ้านเมืองที่ร้อนแรง และภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลในชุดปัจจุบันนี้

ซึ่งปัจจัยที่พบว่าทำให้เกิดความกังวล และบั่นทอนความสุขของผู้ประกอบการต่อการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันนี้คือ อันดับแรก ร้อยละ 75.5 ได้แก่ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง อันดับสอง ร้อยละ 69.3 ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมือง อันดับสาม ร้อยละ 63.5 ได้แก่ การทุจริตคอรัปชั่น อันดับสี่ ร้อยละ 52.2 ได้แก่ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และอันดับห้า ร้อยละ 43.8 ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจของไทย รองๆ ลงมาคือ นโยบายส่งเสริมการลงทุน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระบบกฎหมายไทย คุณภาพชีวิตของประชาชน มาตรการด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐาน ตามลำดับ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ช่องทางการติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การลงทุน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   ช่องทางการติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การลงทุน                    ร้อยละ
  1     หนังสือพิมพ์                                                  78.0
  2     โทรทัศน์                                                    78.0
  3     เว็บไซต์                                                    76.9
  4     โซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์                           66.7
  5     วิทยุ                                                       37.9
  6     ข้อมูลข่าวสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือ                                36.1
  7     นิตยสาร                                                    35.7
  8     ประกาศตามสถาบันการเงิน                                      18.4

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยว่ามีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                                ร้อยละ
  1     มาก ถึง มากที่สุด                                            90.1
  2     ปานกลาง                                                   8.6
  3     น้อย ถึง ไม่จำเป็น                                            1.3
        รวมทั้งสิ้น                                                 100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่ทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   สิ่งที่ทำให้สามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน   ร้อยละ
  1     มีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี (Connection)                           74.5
  2     การมีแผนงานทางธุรกิจที่ดี                                     73.7
  3     มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ                                       58.8
  4     มีที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี                                      39.1
  5     มีความมั่นใจและความเชื่อ                                     38.7
  6     มีแหล่งเงินกู้โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน                             29.6
  7     อื่นๆ อาทิ ควบคุมต้นทุน มีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น             6.2

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ลำดับที่   สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ
  1     ดีขึ้น                                                    18.6
  2     เหมือนเดิม                                               24.2
  3     แย่ลง                                                   57.2
        รวมทั้งสิ้น                                               100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อแนวโน้มการลงทุนในเมืองไทยในอีก 1 ปีข้างหน้า
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                             ร้อยละ
  1     ดีขึ้น                                                   52.8
  2     เหมือนเดิม                                              28.1
  3     แย่ลง                                                  19.1
        รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความพร้อมของกิจการที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                            ร้อยละ
  1     คิดว่าพร้อม                                             53.0
  2     คิดว่ายังไม่พร้อม                                         47.0
        รวมทั้งสิ้น                                             100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่สนใจอยากเข้าไปลงทุนมากที่สุด
ลำดับที่   ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่สนใจอยากเข้าไปลงทุนมากที่สุด           ร้อยละ
  1     พม่า                                                 35.7
  2     ลาว                                                 20.3
  3     เวียดนาม                                             15.4
  4     สิงคโปร์                                               7.7
  5     ไทย                                                  5.3
  6     กัมพูชา                                                4.5
  7     อินโดนีเซีย                                             3.7
  8     มาเลเซีย                                              3.7
  9     บรูไน                                                 3.3
 10     ฟิลิปปินส์                                               0.4
        รวมทั้งสิ้น                                            100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                          ร้อยละ
  1     คิดว่าพร้อม                                           51.8
  2     คิดว่ายังไม่พร้อม                                       48.2
        รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อความพร้อมของประเทศไทยเพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนระหว่างตัวผู้ประกอบการเองหรือภาครัฐ
ลำดับที่   ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพร้อมของประเทศไทย                   ร้อยละ
  1     ตัวผู้ประกอบการเองมากกว่า                             52.3
  2     ภาครัฐมากกว่า                                       47.7
        รวมทั้งสิ้น                                          100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ยของตัวอย่างที่ระบุ ความพึงพอใจต่อนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ลำดับที่   ความถึงพอใจ                                                                      คะแนนเฉลี่ย
  1     คะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจต่อนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน                  5.12

ตารางที่ 11 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ยของตัวอย่างที่ระบุ ดัชนีความสุขผู้ประกอบการต่อการดำเนินงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ลำดับที่   ดัชนีความสุขผู้ประกอบการ                                                             คะแนนเฉลี่ย
  1     คะแนนเฉลี่ยของดัชนีความสุขผู้ประกอบการต่อการดำเนินงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน                       6.06

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ปัจจัยที่ทำให้เกิดความกังวล และบั่นทอนความสุขของผู้ประกอบการต่อการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ขณะนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   ปัจจัยที่ทำให้เกิดความกังวลบั่นทอนความสุขของผู้ประกอบการ     ร้อยละ
  1     ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง                        75.5
  2     ความขัดแย้งภายในประเทศ                             69.3
  3     การทุจริตคอรัปชั่น                                    63.5
  4     ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก                             52.2
  5     สภาวะเศรษฐกิจของไทย                               43.8
  6     นโยบายส่งเสริมการลงทุน                              29.9
  7     ภัยพิบัติทางธรรมชาติ                                  29.9
  8     ระบบกฎหมายไทย                                    27.7
  9     คุณภาพชีวิตของประชาชน                               26.3
 10     มาตรการด้านภาษี                                    25.5
 11     โครงสร้างพื้นฐาน                                    24.5

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ