เอแบคโพลล์: ผู้สูงอายุและคุณภาพชีวิตในวันนี้ : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่

ข่าวผลสำรวจ Friday April 11, 2014 08:33 —เอแบคโพลล์

ดร. ปรีชา เมธาวัสรภาคย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผู้สูงอายุและคุณภาพชีวิตในวันนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี จำนวนทั้งสิ้น 2,242 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 10 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อน +-ร้อยละ 7

คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นด้วยการสอบถามถึงการรับรู้ต่อวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งพบว่ามีเพียงประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.0 เท่านั้นที่ทราบและสามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่าตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ในขณะที่ร้อยละ 66.0 ระบุไม่ทราบ

          นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงการมีผู้สูงอายุในครอบครัวนั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ  58.1 ระบุ              ในครอบครัวของตนมีผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ด้วย ในขณะที่ร้อยละ 41.9 ระบุไม่มี ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมที่มักจะทำร่วมกับผู้สูงอายุเป็นประจำ (อย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์) นั้น พบว่าร้อยละ  81.4 ระบุรับประทานอาหารร่วมกับผู้สูงอายุ  ร้อยละ 78.3 ระบุทำกิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกร่วมกันเช่น ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เป็นต้น  นอกจากนี้ ร้อยละ 59.1 ระบุการปรึกษาปัญหา ร้อยละ 53.2 ระบุการทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่น ไปวัด ฟังเทศน์ ทำบุญ และร้อยละ 44.2 ระบุมักจะท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยกัน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อข้อความที่ว่า ผู้สูงอายุเป็นภาระสังคมนั้น พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 86.9 ระบุไม่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 9.4 ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.9 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย ทั้งนี้มีเพียง ร้อยละ 1.8 เท่านั้นที่ระบุเห็นด้วย-เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อความดังกล่าว

สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันนั้นพบว่า ร้อยละ 27.6 ระบุผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 38.6 ระบุดีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามร้อยละ 27.9 ระบุแย่เหมือนเดิม และ ร้อยละ 5.9 ระบุแย่ลงกว่าเดิม โดยให้เหตุผลว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันมักจะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีเวลา ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ โรคภัยไข้เจ็บมีมากขึ้น /ค่ารักษาพยาบาลแพง ค่าครองชีพสูง รวมถึงการไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ด้วย

ทั้งนี้ ตัวอย่างเกือบร้อยละร้อย (ร้อยละ 95.7) ระบุว่าหน่วยงานภาครัฐควรดูแลเรื่องการเพิ่มสวัสดิการของผู้อายุให้มากขึ้น ทั้งนี้สวัสดิการที่เห็นว่าควรส่งเสริมได้แก่ สวัสดิการด้านการส่งเสริมสุขภาพ (ร้อยละ 73.6) เบี้ยยังชีพ/เงินผู้สูงอายุ (ร้อยละ 72.7) การดูแลสวัสดิการด้านการส่งเสริมกำลังใจ/สุขภาพจิต (ร้อยละ 48.3) รวมถึงการดูแลด้านสวัสดิการด้านที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (ร้อยละ 30.8) ตามลำดับ ทั้งนี้ตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 75.2 ระบุว่ายินดีจ่ายภาษีเพิ่มเพื่อทำให้สวัสดิการของผู้สูงอายุไทยดีขึ้น

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.6 เป็นชาย ร้อยละ 53.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 8.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.8 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 40–49 ปี และร้อยละ 32.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 75.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 6.9 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.5 ระบุเป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 23.5 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ/ส่วนตัว/ผู้ประกอบการ/เจ้าของกิจการ ร้อยละ 16.0 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 23.1 ระบุเป็นผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป/ลูกจ้างโรงงาน/สถานประกอบการ ร้อยละ 9.6 ระบุแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.4 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 30.4 ระบุรายได้ ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 9.2 ระบุ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 9.1 ระบุ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 13.0 ระบุ 15,001-20,000 บาท และร้อยละ 38.2 ระบุมากกว่า 20,000 บาท ตามลำดับ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับทราบต่อวันผู้สูงอายุแห่งชาติ

ลำดับที่     การรับทราบวันผู้สูงอายุแห่งชาติ                                           ค่าร้อยละ
  1       ทราบ และสามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่า ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี           34.0
  2       ไม่ทราบ                                                             66.0
รวมทั้งสิ้น                                                                    100.00

ตารางที่ 2   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการมีผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ด้วยในครอบครัว
ลำดับที่      การมีผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ด้วยในครอบครัว                                   ค่าร้อยละ
  1        มี                                                                 58.1
  2        ไม่มี                                                               41.9
รวมทั้งสิ้น                                                                    100.00

ตารางที่ 3   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความถี่ในการทำกิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นประจำกับผู้สูงอายุในครอบครัว (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่      กิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้สูงอายุเป็นประจำ*                                    ค่าร้อยละ
  1        รับประทานอาหารร่วมกัน                                                81.4
  2        ทำกิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกร่วมกัน อาทิ ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้     78.3
  3        ปรึกษาปัญหา                                                         59.1
  4        ทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่นไปวัด ฟังเทศน์ ทำบุญ                         53.2
  5        ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ                                               44.2
*ทำเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์

ตารางที่ 4   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อคำพูดที่ว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของสังคม”
ลำดับที่      ความคิดเห็นต่อคำพูดที่ว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของสังคม”                         ค่าร้อยละ
  1        ไม่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง                                          86.9
  2        ไม่ค่อยเห็นด้วย                                                       9.4
  3        ค่อนข้างเห็นด้วย                                                      1.9
  4        เห็นด้วย-เห็นด้วยอย่างยิ่ง                                               1.8
รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 5   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ลำดับที่      ความคิดเห็นต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน                          ค่าร้อยละ
  1        ดีขึ้น                                                              27.6
  2        ดีเหมือนเดิม                                                        38.6
  3        แย่เหมือนเดิม                                                       27.9
  4        แย่ลงกว่าเดิม
           เพราะ ลูกหลานต้องทำงานไม่มีเวลาดูแล/คนในสังคมเห็นแก่ตัวมากขึ้น               5.9

โรคภัยไข้เจ็บมีมากขึ้นในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็สูงขึ้น

ตามไปด้วย /ค่าครองชีพสูง/ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น

รวมทั้งสิ้น                                                                   100.00

ตารางที่ 6   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อหน่วยงานภาครัฐในการเพิ่มสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ
ลำดับที่      ความคิดเห็นต่อการเพิ่มสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุของรัฐ                          ค่าร้อยละ
  1        ควรดูแลให้ดีขึ้นกว่านี้                                                  95.7
  2        ไม่ควร/ดีอยู่แล้ว                                                      4.3
รวมทั้งสิ้น                                                                   100.00

ตารางที่ 7   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสวัสดิการผู้สูงอายุที่อยากให้รัฐส่งเสริมมากขึ้น (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่      สวัสดิการผู้สูงอายุที่อยากให้รัฐส่งเสริมมากขึ้น                              ค่าร้อยละ
  1        ส่งเสริมสุขภาพ                                                     73.6
  2        เงินผู้สูงอายุ                                                       72.7
  3        ส่งเสริมกำลังใจ/สุขภาพจิต                                            48.3
  4        ด้านที่พักอาศัย เช่น บ้านพักคนชรา                                       30.8

ตารางที่ 8   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการยินดีจ่ายเงินภาษีเพิ่ม เพื่อทำให้สวัสดิการของผู้สูงอายุดีขึ้น
ลำดับที่      การยินดีจ่ายเงินภาษีเพิ่ม                                             ค่าร้อยละ
  1        ยินดีจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น                                                  75.2
  2        ไม่ยินดีจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น                                                24.8
รวมทั้งสิ้น                                                                  100.00

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ