เอแบคโพลล์: ศึกษาแนวโน้มดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552

ข่าวผลสำรวจ Monday March 9, 2009 08:17 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน(Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ศึกษาแนวโน้ม ดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Happiness, GDH ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กรณีศึกษาตัวอย่าง ประชาชนใน 18 จังหวัดของประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 4,959 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ — 7 มีนาคม 2552

ผลวิจัยพบว่า ค่าความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศหรือ Gross Domestic Happiness, GDH ลดต่ำลงอย่างต่อ เนื่องจากช่วงปลายเดือนธันวาคม 2551 ที่ได้ 6.81 คะแนน เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน มาอยู่ที่ 5.78 คะแนนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเมื่อ จำแนกตามภูมิภาคต่างๆ พบว่า คนกรุงเทพมหานครมีค่าความสุขมวลรวมต่ำสุดอยู่ที่ 5.22 คะแนน ในขณะที่คนภาคเหนือมีค่าความสุขสูงสุดอยู่ที่ 6.24 คะแนนที่น่าเป็นห่วงคือ การเมืองการปกครองและสภาวะเศรษฐกิจกำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่คนไทยมีความสุขน้อยที่สุด เพราะคนไทยมีความสุขต่อการเมือง การปกครองระดับประเทศเพียง 4.53 คะแนน และความสุขต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพียง 3.95 คะแนนเท่านั้น

ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อพิจารณากลุ่มปัจจัยที่ถูกศึกษากับความสุขมวลรวมของประชาชนในแต่ละภูมิภาค พบว่า คนกรุงเทพมหานครมีค่า ความสุขต่อกลุ่มปัจจัยต่างๆ ต่ำกว่าประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ทุกประเด็นของการวิจัย เช่น สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ได้เพียง 3.57 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของตัวผู้ตอบแบบสอบถาม ได้เพียง 4.30 คะแนน การเมืองการปกครอง ได้ 4.05 คะแนน บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ได้ 5.03 คะแนน วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นได้ 5.14 คะแนน และประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ชีวิตครอบครัวหรือชีวิต สมรส สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความเป็นธรรมในสังคมที่ได้รับ เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกกลุ่มประชาชนออกตามพื้นที่นอกเขตเทศบาล ในเขตเทศบาล และกรุงเทพมหานคร พบว่า คนนอกเขต เทศบาลมีความสุขมากกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ คือ ความสุขมวลรวมของคนนอกเขตเทศบาลได้ 6.16 คะแนน คนในเขตเทศบาลได้ 5.59 คะแนน และคน กรุงเทพมหานครได้ 5.22 คะแนน ตามลำดับ นอกจากนี้ คนที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีความสุขอยู่ที่ 6.04 คะแนน คนไม่สนับสนุนรัฐบาลมี ความสุขอยู่ที่ 4.93 คะแนน และคนที่เป็นพลังเงียบไม่เลือกข้างมีความสุขอยู่ที่ 5.78 คะแนน

ดร.นพดล กล่าวอีกว่า เมื่อศึกษาการนอนหลับของประชาชนในการวิจัยครั้งล่าสุด พบจำนวนของคนนอนไม่ค่อยหลับถึงนอนไม่หลับเลยเพิ่ม สูงขึ้น จากร้อยละ 10.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.8 และคนที่นอนหลับได้ค่อนข้างสนิทถึงนอนหลับได้สนิท มีจำนวนลดลงจากร้อยละ 79.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 70.4 เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความสุขของประชาชนในกลุ่มที่นอนไม่หลับกับกลุ่มที่นอนหลับได้สนิท พบว่า คนที่นอนไม่หลับมีความสุขอยู่ที่ 4.48 คะแนน ซึ่งมีค่าคะแนนน้อยกว่ากลุ่มคนที่นอนหลับได้สนิทที่พบความสุขอยู่ที่ 6.20 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งรีบทำงานให้หนักและรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิมในสามมิติของประเทศคือ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยรัฐบาลน่าจะจัด “เวทีสาธารณะเสวนาถกแถลง” หาทางออกของปัญหาประเทศให้ครบทั้งสามมิติร่วมกับตัวแทนประชาชนทุกหมู่ เหล่าที่ไม่ถูกจัดตั้งหรือเสนอตัวเข้ามาอย่างมีอคติและผลประโยชน์นายทุนแอบแฝง การออกมาตรการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาใหญ่เชิงสาธารณะที่ผ่าน มาอาจยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ครบทุกกลุ่มทันท่วงที เพราะประชาชนบางกลุ่มต้องการเงินและปัญหาปากท้องเป็นเรื่อง แรก แต่บางกลุ่มต้องการให้เร่งแก้ปัญหาความแตกแยกทางการเมือง และบางกลุ่มต้องการให้เร่งแก้วิกฤตทางสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ทุจริต คอรัปชั่น อาชญากรรม และคุณภาพเด็กและเยาวชน เป็นต้น

“เมื่อดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลประกอบ การตัดสินใจที่ลดทอนอคติและปลอดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใดๆ แอบแฝง ดังนั้น การจัดเวทีสาธารณะเสวนาถกแถลง จึงน่าจะเป็นวิธีการหนึ่งของการ ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปร่วมกับแหล่งความเป็นจริงอื่นๆ พิจารณาออกแบบนโยบายและมาตรการสาธารณะ ที่ “แตกต่าง” ไปจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เพราะถ้าหากประชาชนจำนวนมากเห็นว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่มีอะไร ที่แตกต่าง ผลที่ตามมาคือ ยิ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ทำงานไป ยิ่งจะทำให้ประชาชนคิดถึงอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากขึ้น การเคลื่อน ไหวทางการเมืองก็จะเข้มข้นกลับเข้าสู่จุดวิกฤต ด้วยเหตุนี้ทางออกจึงน่าจะเป็น มาตรการสาธารณะแบบ “องค์รวม” เชื่อมประสานทุกกลุ่มที่เหมาะสม และตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชนที่โดนใจได้อย่างรวดเร็วฉับไวทำให้ประชาชนคนไทยนอนหลับได้สนิทและมีความสุขแท้จริงอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.นพดล กล่าว

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552

2. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน(Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR : แองเคอร์) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง ศึกษาแนวโน้มดัชนีความสุขมวลรวมของ ประชาชนภายในประเทศ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 18 จังหวัดของประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 4,959 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ — 7 มีนาคม 2552 การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ช่วงความ เชื่อมั่นอยู่ในระดับ ร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำ เข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย โดยมีผู้ดำเนินโครงการวิจัยทั้งสิ้น 165 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 58.4 เป็นหญิง

ร้อยละ 41.6 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 8.6 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 23.7 อายุ 20 — 29 ปี

ร้อยละ 26.7 อายุ 30 — 39 ปี

ร้อยละ 24.3 อายุ 40 — 49 ปี

และร้อยละ 16.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป

โดยร้อยละ 40.3 อาชีพเกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

ร้อยละ 33.7 ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว อาชีพอิสระ บริษัทเอกชน

ร้อยละ 6.8 เป็นข้าราชการ

ร้อยละ 7.1 เป็นนักศึกษา

ร้อยละ 9.2 เป็นแม่บ้าน เกษียณอายุ

ร้อยละ 2.9 ไม่ประกอบอาชีพ ว่างงาน

นอกจากนี้ ร้อยละ 72.4 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 27.6 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ตารางที่ 1 แสดงแนวโน้มค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552
เปรียบเทียบกับช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 เมื่อคะแนนเต็ม 10

เม.ย.50 พ.ค.- ต.ค.50 เม.ย.51 ก.ค.51 ส.ค.51 ก.ย.51 ต.ค.51 พ.ย. — ปลายเดือน มกราคม กุมภาพันธ์

                                                ก.ค.50                                                        ธ.ค.51    ธ.ค.51    2552    2552
ค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของคนไทย
 ภายในประเทศ(Gross Domestic Happiness)  5.11      5.02      6.9       6.3      6.08    5.82    5.64    4.84    6.55      6.81     6.59    5.78

ตารางที่ 2  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          กลุ่มปัจจัยต่างๆ                      ค่าคะแนนความสุขโดยเฉลี่ย
1          ความจงรักภักดี                                  9.05
2          บรรยากาศ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว             7.24
3          สุขภาพกาย                                     6.98
4          ชีวิตครอบครัว ชีวิตคู่                              6.90
5          สุขภาพใจ                                      6.83
6          สภาพแวดล้อม ถนน ไฟฟ้า ดิน อากาศ น้ำ              6.23
7          วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ในปัจจุบัน                   6.00
8          การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดีที่ท่านได้รับ         5.99
9          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน                 5.81
10          ความเป็นธรรมในสังคมที่ท่านได้รับ                   5.80
11          วัฒนธรรมประเพณีระดับประเทศ ในปัจจุบัน             5.74
12          การเมือง การปกครอง ในระดับท้องถิ่น               5.32
13          สภาวะเศรษฐกิจของตัวท่าน                        4.69
14          การเมือง การปกครอง ระดับชาติ                   4.53
15          สภาวะเศรษฐกิจของประเทศชาติ                    3.95

ความสุขมวลรวม ของคนไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 5.78

ตารางที่ 3 แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน จำแนกตามภูมิภาค
   ลำดับที่                        กลุ่มปัจจัยต่างๆ                       เหนือ     กลาง     ตะวันออก      ใต้     กทม.

เฉียงเหนือ

     1      ความจงรักภักดี                                           9.15     8.97       8.98       8.8    8.55
     2      สภาพแวดล้อม ถนน ไฟฟ้า ดิน อากาศ น้ำ                       6.83     6.19       6.1        6.4    5.63
     3      การเมือง การปกครอง ในระดับท้องถิ่น                         5.86     5.38       5.15       5.6    4.51
     4      การเมือง การปกครอง ระดับชาติ                             4.71     4.56       4.21       5.2    4.05
     5      สภาวะเศรษฐกิจของประเทศชาติ                              4.08     3.93       3.69       4.6    3.57
     6      สภาวะเศรษฐกิจของตัวท่าน                                  4.95     4.73       4.53       4.9    4.3
     7      บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน                          6.44     5.72       5.83       5.9    5.03
     8      วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ในปัจจุบัน                            6.76     5.83       6.11        6     5.14
     9      วัฒนธรรมประเพณีระดับประเทศ ในปัจจุบัน                       6.28     5.64       5.62       5.9    5.19
     10     ชีวิตครอบครัว ชีวิตคู่                                       7.42     6.8        6.92       6.8    6.45
     11     บรรยากาศ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว                      7.83     7.07       7.3        7.1    6.81
     12     สุขภาพกาย                                              7.53     6.77       7.05        7     6.51
     13     สุขภาพใจ                                               7.44     6.66       6.92       6.8    6.24
     14     ความเป็นธรรมในสังคมที่ท่านได้รับ                             6.32     5.78       5.86       5.8    5.13
     15     การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดีที่ท่านได้รับ                  6.58     5.91       6.18       5.8    5.26
          ความสุขมวลรวม ของคนไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552              6.24     5.71       5.74       5.93   5.22

ตารางที่ 4  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน   จำแนกตามเขตพื้นที่
   เขตพื้นที่                              นอกเขตเทศบาล   ในเขตเทศบาล   กรุงเทพมหานคร
 ค่าความสุขมวลรวม ของประชาชนในประเทศ          6.16          5.59          5.22

ตารางที่ 5  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน   จำแนกตามจุดยืนทางการเมือง
       จุดยืนทางการเมือง                    สนับสนุน ปชป.   ไม่สนับสนุน ปชป.   กลุ่มพลังเงียบ
 ค่าความสุขมวลรวม ของประชาชนในประเทศ          6.04           4.93           5.78

ตารางที่ 6 แสดงการเปรียบเทียบค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การนอนหลับ ระหว่างช่วงเวลาหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว (กลางเดือนธันวาคม 2551)
กับเดือนกุมภาพันธ์ 2552
ลำดับที่          การนอนหลับในช่วงเวลา หลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว     ธันวาคม 2551    กุมภาพันธ์ 2552
1          นอนไม่ค่อยหลับ ถึง นอนไม่หลับเลย                       10.6          16.8
2          นอนหลับได้ระดับปานกลาง                               9.7          12.8
3          นอนหลับได้ค่อนข้างสนิท ถึงนอนหลับได้สนิท                  79.7          70.4
          รวมทั้งสิ้น                                          100.0         100.0

ตารางที่ 7  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน   จำแนกตามระดับการนอนหลับ
   ค่าความสุขมวลรวมของประชาชนในประเทศ                          นอนไม่หลับ     หลับได้ปานกลาง   นอนหลับได้สนิท
  ค่าความสุขมวลรวม ของประชาชนในประเทศประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552        4.48          5.18          6.20

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ