เอแบคโพลล์: สาธารณชนคิดอย่างไรต่อการชุมนุมประท้วงของประชาชนต่อต้านรัฐบาล

ข่าวผลสำรวจ Friday April 10, 2009 16:04 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ "เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (Real-Time Survey)” ที่เป็นการสำรวจผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากมีสิ่งที่ประชาชนสนใจติดตาม โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่องสาธารณชนคิดอย่างไรต่อการชุมนุมประท้วงของประชาชนต่อต้าน รัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี เพชรบุรี สระบุรี กาญจนบุรี แพร่ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ หนองคาย สกลนคร ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต ตรังและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,178 ครัวเรือน ในวันที่ 10 เมษายน 2552 พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 51.9 รู้สึกพอใจต่อคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีที่ออกโทรทัศน์เกี่ยวกับ สถานการณ์การเมืองในคืนที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 18.1 ไม่พอใจ และที่เหลือร้อยละ 30.0 ไม่ได้ติดตามดู

เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อการชุมนุมประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนว่า เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 เห็นว่าไม่ปกติธรรมดา ในขณะที่ร้อยละ 36.9 เห็นว่าการปิดถนนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในสังคมประชาธิปไตย

เมื่อถามถึงความพอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 76.1 พอใจ เพราะไม่มีการใช้ความรุนแรง ใช้การเจรจา ไม่ทำร้ายประชาชน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 23.9 ไม่พอใจ เพราะไม่เด็ดขาด ทำให้คนไม่กลัวกฎหมาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่มีตำรวจดูแลความปลอดภัยเพียงพอ เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 เห็นว่า การชุมนุมประท้วงที่พัทยาขณะมีการประชุมของกลุ่ม ประเทศคู่ค้าของประเทศไทย มีผลกระทบสร้างความเสียหายต่อประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 11.6 เห็นว่าไม่กระทบ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนมีจำนวนก่ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 50.8 จะตัดสินใจเลือกความอยู่รอดของตนเองและครอบครัวมากกว่าภาพลักษณ์ของประเทศชาติ ในขณะที่ร้อยละ 49.2 จะตัดสินใจเลือกภาพลักษณ์ของประเทศชาติมากกว่า

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.3 เห็นว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ทำให้ความสุขของคนไทย ช่วงสงกรานต์ลดน้อยลง ในขณะที่ร้อยละ 25.7 เห็นว่าไม่กระทบและเมื่อถามถึงความอยากดูข่าวอะไรมากกว่ากันระหว่างข่าวคนไทยใน เทศกาลสงกรานต์กับข่าวคนไทยที่เคลื่อนไหวทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.2 อยากดูข่าวคนไทยในเทศกาลสงกรานต์มากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 27.3 อยากดูข่าวคนไทยที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่า และร้อยละ 16.5 อยากดูทั้งสอง

ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ เมื่อถามถึงทางออกในการแก้ปัญหากลุ่มผู้ชุมนุม (เมื่อตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่าส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 94.6 เห็นว่า การเจรจากันด้วยสันติและเลิกการชุมนุมกันไป เป็นทางออก รองลงมาคือ ร้อยละ 77.2 ให้บังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการให้จบโดยเร็ว ใครผิดว่าไปตามผิด ร้อยละ 55.3 ระบุให้ยุติการชุมนุมให้รัฐบาลทำงานต่อไปก่อน ร้อยละ 46.1 ให้ตั้งรัฐบาล แห่งชาติ ร้อยละ 33.4 ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 10.8 ให้นายกรัฐมนตรีลาออก และเพียงร้อยละ 4.9 เท่านั้นที่อยากให้มีการ ยึดอำนาจ ตามลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ชัดว่า ทางออกของสถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่ว่าประชาชนที่ถูกศึกษาอยู่สีใดหรือ กลุ่มใดส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเจรจากันด้วยสันติและเลิกชุมนุมกันไป หมายความว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงต้องการความสงบสุขไม่ได้ จางหายไป และต้องการให้กฎหมายเป็นกฎหมาย ใครผิดว่าไปตามผิด จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนมายังประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับทราบและต้อง รักษาความดีงามเหล่านี้ไว้เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติและของประชาชนแต่ละคน ถ้าหากสถานการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้ รัฐบาลและ ผู้ใหญ่ในสังคมต้องเร่งศึกษาทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศมองว่าความอยู่รอดของประเทศชาติคือความอยู่รอดของประชาชนแต่ละคน โดยมุ่งเน้นไปที่ ความเป็นธรรมในสังคม บรรยากาศทางการเมือง และปัญหาปากท้องของประชาชนและควรมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 55.7 เป็นหญิง ร้อยละ 44.3 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 7.8 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 23.9 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 22.1 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และ ร้อยละ 24.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 69.4 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 25.8 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.8 มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี นอกจากนี้ ร้อยละ 37.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ตัวอย่างร้อยละ 20.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 14.1 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.1 ระบุข้าราชการ/ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.7 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.3 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 4.1 ระบุว่างงาน/ ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความพอใจต่อคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีที่ออกโทรทัศน์เมื่อคืนที่ผ่านมา

          ลำดับที่        ความพอใจของประชาชน        ค่าร้อยละ
          1                  พอใจ                  51.9
          2                 ไม่พอใจ                 18.1
          3                 ไม่ได้ดู                  30.0

รวมทั้งสิ้น 100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการชุมนุมประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนว่าเป็นเรื่องปกติ ในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่

          ลำดับที่            ความคิดเห็น             ค่าร้อยละ
          1            เป็นเรื่องปกติธรรมดา            36.9
          2            ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา           63.1

รวมทั้งสิ้น 100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความพอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลสถานการณ์การ ชุมนุมในขณะนี้

          ลำดับที่      ความคิดเห็น                                                    ค่าร้อยละ
          1       พอใจ เพราะไม่มีการใช้ความรุนแรง ใช้การเจรจา ไม่ทำร้ายประชาชน เป็นต้น       76.1

2 ไม่พอใจ เพราะไม่เด็ดขาด ทำให้คนไม่กลัวกฎหมาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน

                  ไม่มีตำรวจดูแลชุมชน ไม่มีตำรวจดูแลความปลอดภัยเพียงพอ เป็นต้น                 23.9

รวมทั้งสิ้น 100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในการชุมนุมประท้วงที่พัทยาขณะมีการประชุม กลุ่มประเทศคู่ค้าของประเทศไทย

          ลำดับที่             ความคิดเห็น              ค่าร้อยละ
          1             กระทบเสียหายต่อประเทศ         88.4
          2             ไม่กระทบ                     11.6

รวมทั้งสิ้น 100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การตัดสินใจเลือก (ถ้าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง) ระหว่างความอยู่รอดของ ตนเองและครอบครัว กับ ภาพลักษณ์ของประเทศชาติ

          ลำดับที่             ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
          1             เลือกความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว     50.8
          2             เลือกภาพลักษณ์ของประเทศชาติ             49.2
                                      รวมทั้งสิ้น              100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อผลกระทบของสถานการณ์การเมืองขณะนี้ต่อความสุขของคนไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

          ลำดับที่            ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
          1             ทำให้ความสุขคนไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง 74.3
          2             ไม่กระทบ                             25.7
                                          รวมทั้งสิ้น          100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความอยากดูข่าวอะไรมากกว่ากันระหว่างข่าวเทศกาลสงกรานต์กับข่าวการเมือง

          ลำดับที่            ความคิดเห็น                            ค่าร้อยละ
          1             อยากดูข่าวคนไทยในเทศกาลสงกรานต์ มากกว่า      56.2
          2             อยากดูข่าวคนไทยเคลื่อนไหวทางการเมือง มากกว่า   27.3
          3             อยากดูทั้งสอง                               16.5
                                          รวมทั้งสิ้น               100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางออกในการแก้ปัญหากลุ่มผู้ชุมนุม (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

          ลำดับที่            ความคิดเห็น                            ค่าร้อยละ
          1             เจรจากันด้วยสันติและเลิกการชุมนุมกันไป           94.6
          2             บังคับใช้กฎหมายดำเนินการให้จบโดยเร็ว           77.2
          3             ยุติการชุมนุมให้รัฐบาลทำงานต่อไปก่อน             55.3
          4             ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ                            46.1
          5             ยุบสภาเลือกตั้งใหม่                           33.4
          6             นายกรัฐมนตรีลาออก                          10.8
          7             ยึดอำนาจ                                   4.9

--สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทร.0-2719-1549-50--

-พพ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ