เอแบคโพลล์: นางฮิลลารี กับ คุกลับต่างชาติในประเทศไทย

ข่าวผลสำรวจ Wednesday July 22, 2009 14:58 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” (ABAC Real-Time Poll) ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับ ครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไว จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำ การสำรวจ เรื่อง นางฮิลลารี กับ คุกลับต่างชาติในประเทศไทย กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และสุราษฏ์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,082 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 22 กรกฎาคม 2552

ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 ได้เห็นภาพข่าว นาง ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เยือนประเทศ ไทยในวันแรกผ่านทางโทรทัศน์ ในขณะที่ร้อยละ 36.1 เห็นผ่านทางหนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 28.5 ไม่เห็นข่าวนี้

ที่น่าสนใจคือ ประชาชนที่เห็นข่าวนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 56.3 คิดว่า ชุดเสื้อผ้าสีส้มที่นาง ฮิลลารี คลินตัน ใส่ในวันแรกที่เดิน ทางมาถึงประเทศไทย มีความหมายต่อความรักความสามัคคีของคนไทย เพราะ สีส้มเป็นสีผสมระหว่างสีเหลืองกับสีแดง มีความโดดเด่น สดใส เจริญ รุ่งเรือง และเหมาะสมกับบทบาทของเธอ เป็นต้น ในขณะที่ จำนวนมากหรือร้อยละ 43.7 ไม่ได้คิดเช่นนั้น ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.6 เห็นว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา มีเจตนาที่ดีต่อประเทศไทย เพราะ ดูเป็นผู้หญิงที่ใจดี จริงใจ ไม่ มีพิษมีภัยกับใคร มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นผู้หญิงเก่ง เด็ดขาด ดูแล้วมีความสุข สดใส เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 33.4 ไม่ได้คิดเช่นนั้น

และเมื่อถามประชาชนคนไทย ถึงกรณีข่าว คุกลับต่างชาติที่ถูกเปิดเผยออกมาในสื่อมวลชนต่างประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ทราบข่าว ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ไม่ทราบข่าว โดยในกลุ่มคนที่ทราบข่าวนั้นเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.9 คิดว่ามีผลกระทบลดความน่าเชื่อถือของประเทศ ไทย ในขณะที่ ร้อยละ 47.1 ไม่คิดว่ามีผลกระทบ และเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนคนไทยว่า ประเทศไทยมีคุกลับต่างชาติ ตามข่าวที่ถูกนำเสนอ ในต่างประเทศหรือไม่ พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 40.1 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.6 ไม่เชื่อ และร้อยละ 29.3 เชื่อ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 56.8 คิดว่า เจตนาของผู้ปล่อยข่าวกรณีประเทศไทยมีคุกลับต่างชาติ ในช่วงการประชุมอาเซียน เป็นไปเพื่อสร้างกระแสกลบข่าวดีๆ ของคนไทยในสังคม ใน ขณะที่ร้อยละ 43.2 ไม่คิดเช่นนั้น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ดีต่อการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนางฮิลลารี คลินตัน ช่วงการประชุมอาเซียน และเห็นถึงเจตนาที่ดีของเธอ รวมถึงสีของชุดเสื้อผ้าที่เธอใส่ในวันแรกที่เดินทางมาถึง อย่างไรก็ตาม ข่าวจากต่าง ประเทศเรื่อง คุกลับต่างชาติในประเทศไทย กำลังถูกมองว่าเป็นข่าวไม่ดีต่อประเทศไทยและคนไทยจำนวนมากไม่แน่ใจว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงแนะให้ รัฐบาลและสื่อมวลชนเร่งทำความจริงให้ปรากฏและควรระมัดระวังต่อการสร้างกระแสข่าวร้ายที่กลบลบข่าวดีๆ ในสังคมไทย เช่น ข่าวเศรษฐกิจที่เริ่ม ปรับตัวดีขึ้น ข่าวเด็กและเยาวชนไทยที่เก่งๆ ชนะเลิศในการแข่งขันต่างๆ ระดับโลก เป็นต้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึก ของประชาชนไม่ดีเพียงพอ ข้อมูลข่าวสารอาจทำลายความมั่นคงภายในของประเทศได้

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 53.4 เป็นหญิง

ร้อยละ 46.6 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 7.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 22.6 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 25.0 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 23.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 72.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 23.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 3.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 31.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 25.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 17.1 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 9.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.4 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 5.2 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 3.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการพบเห็นภาพข่าวนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกามาเยือน
ประเทศไทย (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          การพบเห็นภาพข่าวนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกามาเยือนประเทศไทย          ค่าร้อยละ
1          เห็นในโทรทัศน์                                                                          77.9
2          เห็นในหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต                                                            36.1
3          ไม่เห็นข่าวนี้                                                                            28.5

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อเสื้อผ้าชุดสีส้มของนางฮิลลารี คลินตัน ที่ใส่ในวันแรกที่เดินทางมา
เยือนประเทศไทย กับความหมายต่อความรักความสามัคคีของคนไทย (เฉพาะคนที่เห็นภาพข่าว)
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามีความหมายเพราะ สีส้มเป็นสีผสมระหว่างสีเหลืองกับสีแดง มีความโดดเด่น สดใส เจริญรุ่งเรือง-
           และเหมาะสมกับบทบาทของเธอ เป็นต้น          56.3
2          ไม่ได้คิดเช่นนั้น                                  43.7
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อเจตนาดีของนางฮิลลารี คลินตัน ที่มีต่อประเทศไทย  (เฉพาะคนที่เห็นภาพข่าว)
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามีเจตนาดีต่อประเทศไทย เพราะ ดูเป็นผู้หญิงที่ใจดี จริงใจ ไม่มีพิษมีภัยกับใคร มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นผู้หญิงเก่งเด็ดขาด-
           ดูแล้วมีความสุข สดใส เป็นต้น                      66.6
2          ไม่คิดเช่นนั้น                                   33.4
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับทราบข่าวที่สื่อมวลชนต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาลงข่าวว่า ประเทศไทยมีคุกลับ
ลำดับที่          การรับทราบข่าวที่สื่อมวลชนต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาลงข่าวว่าประเทศไทยมีคุกลับต่างชาติ     ค่าร้อยละ
1          ทราบข่าว                                                                        80.4
2          ไม่ทราบข่าว                                                                      19.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ ผลกระทบของข่าว คุกลับต่างชาติ ต่อการโจมตีเพื่อลดความน่าเชื่อถือ
ของประเทศไทยในช่วงการประชุมอาเซียน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามีผลกระทบ ลดความน่าเชื่อถือต่อประเทศไทย          52.9
2          ไม่คิดว่ามีผลกระทบ                                 47.1
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อว่าประเทศไทยมีคุกลับ ตามข่าวที่ถูกนำเสนอในต่างประเทศ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                ค่าร้อยละ
1          เชื่อ                                            29.3
2          ไม่เชื่อ                                          30.6
3          ไม่แน่ใจ                                         40.1
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อเจตนาของผู้ปล่อยข่าวกรณีประเทศไทยมีคุกลับต่างชาติในช่วงการ
ประชุมอาเซียน ว่าเป็นไปเพื่อสร้างกระแสกลบลบข่าวดีๆ ของคนไทยในสังคม
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                ค่าร้อยละ
1          คิดว่าใช่                                         56.8
2          ไม่คิดเช่นนั้น                                      43.2
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ