เอแบคโพลล์: ทัศนคติของสาธารณชนในยุครัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต่อปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตย

ข่าวผลสำรวจ Monday October 26, 2009 08:03 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ทัศนคติของสาธารณชน ในยุครัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดของ ประเทศ จำนวน 1,232 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 — 23 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา พบว่า

ปัญหาที่น่าห่วงใยสำหรับสังคมไทย คือ ทัศนคติของสาธารณชนต่อการยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 63.2 ในเดือน ตุลาคม 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 77.5 ในเดือนตุลาคม ปีนี้ แสดงให้เห็นว่าทัศนคติของประชาชนอยู่ในสภาวะที่อันตรายมากยิ่งขึ้น และระบบการแก้ไข ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เช่น หน่วยงานกลไกต่างๆ ของรัฐยังไม่สามารถแสดงให้ประชาชนปรับเปลี่ยนทัศนคติที่อันตรายนี้ได้

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังค้นพบ 7 อันดับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ได้แก่ ร้อยละ 78.3 ระบุ การซื้อ สิทธิขายเสียง รองลงมาคือ ร้อยละ 63.6 ระบุปัญหาปากท้อง วิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องเอาตัวรอด ร้อยละ 58.6 ระบุใครๆ ก็ทุจริตเอาตัวรอดด้วยกัน ทั้งนั้น ร้อยละ 52.7 ระบุไม่อยากเดือดร้อน กลัวอิทธิพล การข่มขู่และอำนาจมืด ร้อยละ 50.8 ระบุหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีศักยภาพเพียงพอ ร้อยละ 47.9 ระบุเพราะระบบการศึกษา และร้อยละ 47.2 ระบุเป็นเพราะความไม่เป็นธรรมในสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำข้อมูลในอดีตมาเปรียบเทียบเรื่อง ความเห็นกรณีทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ จากเดือน เมษายน 2551 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงเพราะมีแนวโน้มเห็นด้วยว่า การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ โดย พบว่า เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 67.4 ในเดือนเมษายน 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 74.7 ในเดือนพฤษภาคม 2552 ร้อยละ 84.5 ในเดือนมิถุนายน 2552 และร้อยละ 82.7 ในเดือนตุลาคม 2552

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.9 ยังเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยมากกว่าการปกครองแบบอื่น ว่าจะทำให้ประเทศ ไทยผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ ในขณะที่เพียงร้อยละ 5.9 ไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 10.2 ไม่มีความเห็น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า แนวทางลดทอนทัศนคติการยอมรับการทุจริตคอรัปชั่น ควรเร่งดำเนินการใน 3 ประการ คือ ประการแรก หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องแสดงศักยภาพให้สาธารณชนรับทราบว่า สามารถดำเนินการเอาผิดทุกคนที่ทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างเท่าเทียม ประการที่สอง ควรมีกฎหมายคุ้มครองพยาน สร้างความมั่นใจว่าปลอดภัยและมีชีวิตที่ดีขึ้น หากให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ และประการที่สาม คือ ควรเร่ง รณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในการป้องปรามและปรับทัศนคติของสาธารณชนให้ออกมาต่อต้านปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 52.3 เป็นหญิง

ร้อยละ 47.7 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 6.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 19.1 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 24.8 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 28.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 74.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 21.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 40.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

ร้อยละ 20.1 อาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 16.3 เป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 10.1 เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.1 เป็นนักศึกษา

และร้อยละ 6.8 ระบุอื่นๆ พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ และไม่ได้ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี
ลำดับที่          ทัศนคติ                                                      ตุลาคม 51        ตุลาคม 52
1          ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี     63.2           77.5
2          ไม่คิดเช่นนั้น                                                         36.8           22.5
          รวมทั้งสิ้น                                                           100.0          100.0

ตารางที่ 2  แสดง 7 อันดับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          7 อันดับปัจจัยสำคัญสิ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น            ค่าร้อยละ
1          การซื้อสิทธิขายเสียง                                                   78.3
2          ปัญหาปากท้อง วิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องเอาตัวรอด                                63.6
3          ใครๆ ก็ทุจริตเอาตัวรอดด้วยกันทั้งนั้น                                       58.6
4          ไม่อยากเดือดร้อน กลัวอิทธิพล การข่มขู่และอำนาจมืด                           52.7
5          หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีศักยภาพเพียงพอ                                  50.8
6          ระบบการศึกษา                                                       47.9
7          ความไม่เป็นธรรมในสังคม                                               47.2

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ  ความคิดเห็นกรณีการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ

เปรียบเทียบกับการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน 2551 จนถึง ตุลาคม 2552

ลำดับที่          ทัศนคติ                        เมษายน 2551   พฤษภาคม 2552   มิถุนายน 2552   ตุลาคม 2552
1          ค่อนข้างเห็นด้วย — เห็นด้วยอย่างยิ่ง          67.4          74.7          84.5          82.7
2          ไม่ค่อยเห็นด้วย — ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง         32.6          25.3          15.5          17.3
          รวมทั้งสิ้น                              100.0         100.0         100.0         100.0

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยจะสามารถนำพาประเทศไทยผ่านพ้น

วิกฤตต่างๆ ไปได้มากกว่าการปกครองแบบอื่น

ลำดับที่          ทัศนคติ                                                  ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยมากกว่าการปกครองแบบอื่น           83.9
2          ไม่เชื่อมั่น                                                      5.9
3          ไม่มีความเห็น                                                  10.2
          รวมทั้งสิ้น                                                     100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ