เอแบคโพลล์: สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันกับความสุขมวลรวมของคนไทยวันนี้

ข่าวผลสำรวจ Monday November 30, 2009 07:32 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน(Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์ โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็น ตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียล ไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันกับความสุขมวลรวมของคนไทยวันนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนระดับครัวเรือนใน 17 จังหวัดของประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัยอุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,380 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 28พฤศจิกายน 2552 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์

ที่น่าสนใจคือ จากการวัดความสุขคนไทยเมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความสุขของคนไทยวันนี้สูงถึง 9.14 เมื่อเข้าใกล้ โอกาส “วันพ่อ 5 ธันวามหาราช” ที่จะมาถึงนี้ นอกจากนี้ ความสุขต่อบรรยากาศของคนในครอบครัวสูงถึง 8.89 คะแนน ความสุขต่อสุขภาพใจก็สูงขึ้น จากเดือนสิงหาคมที่อยู่ระดับ 7.73 มาอยู่ที่ 7.86 และความสุขต่อสุขภาพกายอยู่ที่ 7.72 ความสุขต่อหน้าที่การงานและอาชีพอยู่ที่ 7.71 ความสุขต่อ สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา อยู่ที่ 7.67 ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่พักอาศัยอยู่ที่ 7.48 ความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีไทยอยู่ที่ 7.31 ความสุขต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศอยู่ที่ 7.24 ความสุขต่อความเป็นธรรมทางสังคมอยู่ที่ 7.14 ความสุขต่อสภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 6.56 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ 6.83 ในการสำรวจล่าสุด

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าดีใจคือ ความสุขของคนไทยมีถึง 6.42 หลังจากทราบข่าวการเลื่อนชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และความสุข ของคนไทยต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทยและเด็กไทยในสายตาชาวต่างชาติอยู่ที่ 5.92 และนับเป็นครั้งแรกที่พบว่าความสุขของคนไทยต่อ บรรยากาศทางการเมืองสูงเกินครึ่ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.74 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ 5.77 คะแนนในการสำรวจครั้งล่าสุด ส่งผลให้ความสุขมวลรวม ของคนไทยวันนี้อยู่ที่ 7.52 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 7.50 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สาเหตุที่ทำให้คนไทยมีความสุขในช่วงเข้าใกล้เดือนธันวาคมของทุกปี เพราะ ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 88.4 บอกว่าเป็นเพราะวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือวันพ่อ 5 ธันวามหาราช รองลงมาคือร้อยละ 82.4 มองว่าเพราะ จะได้เจอครอบครัว ได้พบปะพร้อมหน้ากัน ร้อยละ 77.2 บอกว่าเพราะจะได้โบนัส ได้ท่องเที่ยวช่วงหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ร้อยละ 73.1 บอกว่าจะได้ทำบุญ ร้อยละ 69.6 บอกว่าจะได้ไปทานอาหารกับครอบครัว ร้อยละ 58.7 บอกว่าจะได้กลับไปเยี่ยมพ่อ-แม่ ซื้อของขวัญให้พ่อแม่ และร้อยละ 32.3 บอกว่าจะได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาส ตามลำดับ

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมีความสำคัญอย่างมากต่อความสุขมวลรวมของคนไทยทั้งประเทศ ล่าสุดมี ปัจจัยบวกหลายอย่างที่ส่งผลทำให้ความสุขของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น เช่น การเข้าใกล้วันพ่อ 5 ธันวามหาราช การประกาศเลื่อนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อ แดง และนับเป็นครั้งแรกที่ค้นพบว่า ความสุขของคนไทยต่อบรรยากาศทางการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชนกำลังอยู่ในระดับ สูงค่อนข้างมากในช่วงนี้ และเป็นที่ชัดเจนว่าการเข้าใกล้ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มีผลทำให้ความรู้สึกของคนไทยเริ่มดีขึ้น ข้อเสนอแนะคือ กลุ่ม บุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่มีนัยสำคัญทางสังคมและการเมืองช่วยกันหล่อเลี้ยงอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเสนอให้เดือน ธันวาคมเป็นช่วงรณรงค์ “ความสุข คือ การให้อภัย” และเดือนมกราคมเป็นเดือนของการเริ่มต้นชีวิตใหม่

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 55.9 เป็นหญิง

ร้อยละ 44.1 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 3.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 22.7 อายุ 20 — 29 ปี

ร้อยละ 27.0 อายุ 30 — 39 ปี

ร้อยละ 21.3 อายุ 40 — 49 ปี

และร้อยละ 25.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป

โดย ร้อยละ 30.4 อาชีพเกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

ร้อยละ 24.6 ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว อาชีพอิสระ

ร้อยละ 15.9 พนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 13.6 เป็นข้าราชการ /พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.9 เป็นนักศึกษา

ร้อยละ 6.4 เป็นแม่บ้าน เกษียณอายุ

ร้อยละ 2.2 ไม่ประกอบอาชีพ ว่างงาน

นอกจากนี้ ร้อยละ 75.3 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 24.7 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความถี่ในการติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          ความถี่ในการติดตามข่าวสารการเมือง         ค่าร้อยละ
1          ทุกวันเกือบทุกวัน                              42.5
2          3 — 4 วัน / สัปดาห์                          28.6
3          1 — 2 วัน / สัปดาห์                          18.8
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                           6.0
5          ไม่ได้ติดตามเลย                               4.1
          รวมทั้งสิ้น                                   100.0

ตารางที่ 2  เปรียบเทียบค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          กลุ่มปัจจัยต่างๆ                              ค่าเฉลี่ยจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
1          ความสุขเนื่องในโอกาสวันพ่อ 5 ธันวามหาราช ที่จะมาถึงนี้              9.14
2          บรรยากาศภายในครอบครัว                                     8.89
3          สุขภาพใจ                                                  7.86
4          สุขภาพทางกาย          7.72
5          หน้าที่การงาน /อาชีพ          7.71
6          สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (สาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา )  7.67
7          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่พักอาศัย                      7.48
8          วัฒนธรรมประเพณีไทย                                         7.31
9          สิ่งแวดล้อม  อาทิ น้ำ สภาพอากาศ                               7.24
10          ความเป็นธรรมทางสังคม                                      7.14
10          สภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน                                     6.83
11          ความสุขต่อข่าวการเลื่อนการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง                   6.42
12          ภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทย ในสายตาต่างชาติ          5.92
13          บรรยากาศทางการเมืองและความสัมพันธ์ของคนไทยโดยภาพรวม         5.77
          ความสุขมวลรวม ของคนไทยประจำเดือนพฤศจิกายน 2552              7.52

ตารางที่ 3 แสดงแนวโน้มค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของคนไทยตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2551 จนถึงปัจจุบัน  เมื่อคะแนนเต็ม 10
   ค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวม    พ.ย.—ธ.ค.51   ปลายธ.ค.51   ม.ค.52    ก.พ.52   มี.ค.52  เม.ย.52   ต้น มิ.ย.52   ก.ค.52   ส.ค.52   ต้นต.ค.52  ปลาย ต.ค.52   พ.ย.52
     ของคนไทยภายในประเทศ           6.55         6.81      6.59      5.78     6.18    7.17       7.15        5.92    7.18     6.83         7.50       7.52
(Gross Domestic Happiness)

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่จะทำให้มีความสุขในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่จะทำให้มีความสุขในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี              ค่าร้อยละ
1          วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว/วันพ่อ             88.4
2          ได้เจอครอบครัว/ครอบครัวได้พบปะพร้อมหน้ากัน/ลูกหลาน              82.4
3          ได้โบนัส ได้ท่องเที่ยวช่วงหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่            77.2
4          ได้ทำบุญ                                                  73.1
5          ได้ไปทานอาหารกับครอบครัว                                   69.6
6          ได้กลับไปดูแลพ่อ-แม่ ได้ซื้อของขวัญให้พ่อแม่                        58.7
7          ฉลองเทศกาลคริสต์มาส                                       32.3

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ