เอแบคโพลล์: ประเมินผลดี ผลเสีย จากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสายตาประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Monday September 20, 2010 07:18 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ประเมินผลดี ผลเสีย จากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนคอการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,232 ตัวอย่าง โดยดำเนินการวิจัยข้อมูลในช่วง 16-18 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา พบสิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่าจะเป็นประโยชน์จากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ

เกินกว่าครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 53.2 มองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ชาวต่างชาติไม่กล้าเดินทางมาประเทศไทย รองลงมา คือร้อยละ 49.9 คิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ร้อยละ 44.2 เห็นว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 43.8 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสใช้อำนาจเกินขอบเขตของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร้อยละ 41.9 ระบุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น ร้อยละ 38.4 มองว่าทำให้สังคมไทยแตกแยกกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือร้อยละ 32.0 มองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้นักธุรกิจต่างชาติมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และร้อยละ 22.9 คิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมโดยภาพรวมลดลง

ดร.นพดล วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลที่ค้นพบน่าจะทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางลดความรู้สึกของคนภายในประเทศที่ เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ต่างชาติไม่กล้าเดินทางมาประเทศไทย ถ้าหากความเป็นจริงคือมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสร้างรายได้ ให้คนไทยเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ก็น่าจะสื่อสารให้ประชาชนทราบความเป็นจริง ซึ่งรวมไปถึงความเป็นจริงอื่นๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การไม่เป็นประชาธิปไตย การใช้อำนาจเกินขอบเขต การเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น การทำให้สังคมไทยแตกแยก อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ชาวบ้านคิดว่าเป็นผลดีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ ทำให้นักธุรกิจต่างชาติมั่นใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทย และทำให้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมลดน้อยลง ก็น่าจะเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทำให้สิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกดีเหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้น ถ้าหากรัฐบาลยังคงต้องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะพบกับแรงเสียดทานที่อาจนำไปสู่การไม่ยอมรับ ไม่สนับสนุน ความเครียด ความเกลียดชังในหมู่ประชาชนต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ผ.อ.เอแบคโพลล์ ยังได้นำเสนอผลสำรวจที่ค้นพบต่อไปว่า เมื่อหันมาพิจารณาผลกระทบของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อตัวผู้ตอบแบบสอบถามเอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.5 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐประจำจุดตรวจต่างๆ ส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี รองลงมาคือร้อยละ 38.4 ระบุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วยลดปัญหาปิดถนนของกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 33.1 รู้สึกว่า ถูกปิดบังข้อมูลข่าวสารในเวลานี้ ร้อยละ 30.6 ระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดปัญหาในการทำธุรกิจและการทำงานของผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ร้อยละ 23.8 รู้สึกสูญเสียสิทธิทางการเมือง แต่ร้อยละ 21.4 มั่นใจว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 19.9 พบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐพูดจาไม่ดี ข่มขู่ ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมต่อประชาชน ในขณะที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 18.7 เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์จากตัวผู้ตอบแบบสอบถาม

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.3 ของคนที่แสดงความเห็นระบุไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 43.7 เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 คิดว่าควรมีระยะเวลาจำกัดไม่เกิน 1 เดือน ในขณะที่ร้อยละ 17.5 ระบุ 1 — 3 เดือน และร้อยละ 16.8 ระบุ 3 เดือนขึ้นไป

ดร.นพดล กล่าวว่า ในสังคมประชาธิปไตย หัวใจสำคัญอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกและเหตุผลของประชาชนที่จะยอมรับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลหรือไม่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นมาตรการที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ที่เข้ามาในสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยอาจมีเหตุผลของการใช้เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ไม่ปกติของประเทศ แต่ต้องไม่อยู่ในสังคมนาน เพราะถ้าอยู่นานโดยไม่ใช้กลไกปกติด้านความมั่นคงก็จะทำให้นานาประเทศมองว่า “สังคมไทยอ่อนแอ” เกินกว่าจะไว้วางใจได้ และข้อมูลวิจัยที่ค้นพบเป็นการตอกย้ำอีกว่า แม้แต่ประชาชนภายในประเทศจำนวนมากยังมอง พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลเสียมากมายที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ และมองว่าชาวต่างชาติจะคิดอย่างไร ดังนั้น ข้อมูลที่ค้นพบนี้จึงเป็น “โจทย์สำคัญ” ให้รัฐบาลเร่งหาทางออกให้กับประชาชนภายในประเทศและชาวต่างประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างความไว้วางใจ (TRUST) ในความรู้สึกของสาธารณชน โดยทางออกที่น่าพิจารณาคือ

ประการแรก ถ้าเล็งเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังเป็นมาตรการที่จำเป็นต่อสังคมไทย ก็ต้องทำให้ความรู้สึกที่ดีในหมู่ประชาชนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มมากขึ้น เช่น ทำให้เห็นว่า ถ้าไม่มีหรือหยุดการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ประชาชนจะเดือดร้อนอย่างไรบ้าง และต้องลดความรู้สึกที่เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเปิดช่องของการทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย โดยสื่อสารไปยังสาธารณชนทราบว่า มีองค์กรอิสระหรือคณะกรรมการ “อิสระแท้จริง” เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว

ประการที่สอง รัฐบาลควรรีบหยุดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด และหันมาสร้าง “ความไว้วางใจ” ต่อกฎหมายและมาตรการปกติตามกฎหมายความมั่นคงในสังคมประชาธิปไตย เช่น การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้สามารถสกัดกั้น จับกุมคนร้ายในขั้นตอนของการวางแผนการทำงานของขบวนการอาชญากรรมต่างๆ ช่วยป้องกันอันตรายและปัญหาเดือดร้อนของประชาชน และนายกรัฐมนตรีหรือผู้บริหารประเทศออกมาแสดงให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของสังคมไทยอย่างต่อเนื่องกัน

ประการที่สาม คือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนกัน โดย “อย่ายัดเยียด” ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนที่มักจะใช้วิธีเดียวกันกับการโฆษณาเชิงพาณิชย์ คือ อย่าใช้วิธีเดียวกันกับการโฆษณาขายสินค้า ในการสื่อสารโน้มน้าวจิตใจของประชาชนด้านความมั่นคงเพราะจะเกิดแรงเสียดทาน แต่ต้องเอา “ความเป็นจริง” มาสื่อสารกัน และในสถานการณ์ประเทศขณะนี้ “คลื่นใต้น้ำ” ในกลุ่มพลังเงียบที่ยังมองไม่ออกว่าจะไปในทิศทางไหนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติเดินต่อไปข้างหน้า หรือถอยหลังลงคลองย้อนไปสู่สถานการณ์เลวร้ายแบบเดิม ที่คนส่วนน้อยเพียงไม่กี่คนจะได้ประโยชน์ฉกฉวยเอาจากความวุ่นวายและความไม่ปกติของประเทศ ดังนั้น ข้อมูล “ความเป็นจริง” ต้องถูกสื่อสารออกไปให้สามารถขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึกและเหตุผลของสาธารณชนให้เข้มแข็งและเล็งเห็นว่า “ผลประโยชน์และความสงบของประเทศชาติคือชีวิตที่ปกติสุขของตัวประชาชนเอง” โดยทำให้เรื่องของประเทศชาติ กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตกผลึกเป็นเนื้อเดียวกัน

ลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 51.4 เป็นเพศหญิง

ร้อยละ 48.6 เป็นเพศชาย

                              ตัวอย่าง              ร้อยละ 5.3 อายุไม่เกิน 20 ปี

ร้อยละ 16.5 อายุระหว่าง 20-29 ปี

ร้อยละ 23.4 อายุระหว่าง 30-39 ปี

และร้อยละ 24.1 อายุระหว่าง 40-49 ปี

                              ตัวอย่าง              ร้อยละ 30.7 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป
                              ตัวอย่าง              ร้อยละ 82.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี

ในขณะที่ร้อยละ 17.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 38.5 มีอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ

ร้อยละ 20.8 เป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 17.1 เป็นผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/เกษตรกร/ประมง

ร้อยละ 11.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.6 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 3.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

และร้อยละ 3.5 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

                              ทั้งนี้ตัวอย่าง           ร้อยละ 23.9 มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน

ร้อยละ 43.4 มีรายได้ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน

ร้อยละ 13.4 มีรายได้ 10,001-15,000 บาทต่อเดือน

ร้อยละ 9.6 มีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน

และร้อยละ 9.7 มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท ต่อเดือน

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่มีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ          ค่าร้อยละ
1          พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ชาวต่างชาติไม่กล้าเดินทางมาประเทศไทย                    53.2
2          พ.ร.ก.ฉุกเฉินส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม               49.9
3          การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย                     44.2
4          เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสใช้อำนาจเกินขอบเขตของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน                   43.8
5          พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น                     41.9
6          สังคมไทยแตกแยกกันมากขึ้น                                               38.4
7          พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้นักธุรกิจต่างชาติมั่นใจว่า รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้      32.0
8          การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมโดยภาพรวมลดน้อยลง      22.9

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นและประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความคิดเห็นและประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ  เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน                  ค่าร้อยละ
1          เจ้าหน้าที่รัฐประจำจุดตรวจต่างๆ ส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี                                   69.5
2          พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วยลดปัญหาปิดถนนของกลุ่มผู้ชุมนุม                                         38.4
3          รู้สึกว่าถูกปิดบังข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลานี้                                              33.1
4          พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดปัญหาในการทำธุรกิจและการทำงานของผู้ตอบแบบสอบถาม                30.6
5          รู้สึกสูญเสียสิทธิทางการเมือง                                                        23.8
6          มั่นใจว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบได้                   21.4
7          พบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐพูดจาไม่ดี ข่มขู่ ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมต่อประชาชน                           19.9
8          พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์จากตัวผู้ตอบแบบสอบถาม         18.7

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีการคงประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

(เฉพาะผู้ที่มีความเห็น)

ลำดับที่          ความคิดเห็นกรณีการคงประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล            ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                                                                       43.7
2          ไม่เห็นด้วย                                                                     56.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระยะเวลาที่ควรคง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ลำดับที่          ระยะเวลาที่ควรคง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล          ค่าร้อยละ
1          ไม่เกิน 1 เดือน                                                      65.7
2          1 — 3 เดือน                                                        17.5
3          3 เดือนขึ้นไป                                                        16.8
          รวมทั้งสิ้น                                                           100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ