องค์กรสุขภาพชั้นนำของโลกร่วมกันเผยแพร่คู่มือการให้บริการวางแผนครอบครัวสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฉบับใหม่

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 13, 2018 12:01 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

นิวเดลี--13 ก.พ.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ คู่มือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้เข้ารับบริการได้อย่างตรงจุดและนำไปปฏิบัติได้จริง การวางแผนครอบครัวคือการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถช่วยชีวิตเด็กหญิงและสตรีหลายล้านคนได้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้การวางแผนครอบครัวประสบผลสำเร็จทั่วโลกก็คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องมีความรู้และผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงจะมีการเผยแพร่คู่มือการให้บริการวางแผนครอบครัวสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข Family Planning: A Global Handbook for Providers หรือเรียกสั้นๆว่า Global Handbook ฉบับใหม่ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในระหว่างการประชุม 2018 Regional Consortium Meeting of the Implementing Best Practices (IBP) Initiative Global Handbook ซึ่งเขียนโดยใช้ภาษาเรียบง่ายเหมาะสำหรับการอ่านแบบรวดเร็ว ถือเป็นคู่มือมาตรฐานโลกว่าด้วยการวางแผนครอบครัวและหัวข้ออื่นๆที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2006 ปัจจุบันมีการเผยแพร่คู่มือไปแล้วกว่า 500,000 ชุดใน 13 ภาษา สำหรับคู่มือฉบับใหม่ล่าสุดซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ร่วมกันเผยแพร่โดย Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health และองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และโครงการ Knowledge for Health (K4Health) Project ทั้งนี้ Global Handbook ได้รับการยอมรับจากองค์กรกว่า 125 แห่งทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ IBP Initiative Dr. Ian Askew ผู้อำนวยการฝ่ายอนามัยการเจริญพันธุ์และการวิจัยของ WHO กล่าวว่า "Global Handbook ยืนยันว่าสตรีทุกคน ทั้งเด็กสาวแรกรุ่นและหญิงสาว สามารถใช้วิธีคุมกำเนิดได้เกือบทุกวิธีอย่างปลอดภัย การให้บริการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถทำได้โดยไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีและความเป็นส่วนตัวของผู้เข้ารับบริการทุกคน" Global Handbook ฉบับใหม่ล่าสุดมีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ เช่น การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดประเภท LNG-IUD และการฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว รวมถึงการฉีดยาคุมกำเนิด DMPA-SC ที่สามารถฉีดได้เอง และวิธีใหม่อย่างการใส่ห่วงคุมกำเนิดที่มีการปล่อยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เหมาะสำหรับสตรีที่ให้นมบุตร ส่วนข้อมูลอื่นๆที่มีการอัพเดทประกอบด้วย - ข้อเสนอแนะใหม่จาก WHO ครอบคลุมคำแนะนำในหัวข้อต่างๆ เช่น ความรุนแรงที่เกิดจากคู่สมรส ครอบครัวที่แบ่งหน้าที่กันทำ และการให้บริการบุคคลทุพพลภาพ - หัวข้อใหม่ที่เน้นย้ำว่า ผู้ให้บริการวางแผนครอบครัวควรเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้เข้ารับบริการ - ข้อมูลใหม่ที่ช่วยแนะนำว่าควรใช้รายการตรวจสอบการตั้งครรภ์ (pregnancy checklist) หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (pregnancy test) รวมถึงช่วยให้คำแนะนำแก่สตรีที่ต้องการฉีดยาคุมกำเนิดชนิดที่มีเฉพาะโปรเจสติน ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง Ellen Starbird ผู้อำนวยการสำนักงานประชากรและอนามัยการเจริญพันธุ์ของ USAID กล่าวว่า "ข้อมูลใหม่ที่เชื่อถือได้ที่เพิ่มเข้ามาใน Global Handbook จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการให้บริการ เพื่อรับประกันว่าความตั้งใจที่จะมีบุตร สภาพชีวิตความเป็นอยู่ และความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจวางแผนครอบครัว" Global Handbook ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เผยแพร่ในภาษาอังกฤษ และอีกไม่นานจะมีการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและสเปน คู่มือแบบเป็นรูปเล่มทุกฉบับแจกพร้อมแผ่นภาพสรุปวิธีคุมกำเนิด " Do You Know Your Family Planning Choices? " ซึ่งสามารถนำไปติดผนังให้ผู้เข้ารับบริการได้อ่าน พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Global Handbook โฉมใหม่ที่ www.fphandbook.org ในวันนี้ด้วย สามารถดาวน์โหลด Global Handbook หรือสั่งคู่มือแบบเป็นรูปเล่มได้ที่ www.fphandbook.org เกี่ยวกับ Knowledge for Health (K4Health) Project K4Health แบ่งปันเครื่องมือและข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อยกระดับการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ทั่วโลก K4Health ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานประชากรและอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ #AID-OAA-A-13-00068 ร่วมกับ Johns Hopkins University โครงการนี้นำโดย Johns Hopkins Center for Communication Programs ร่วมด้วย FHI 360, IntraHealth International และ Management Sciences for Health ติดต่อ: Anne Kott ( anne.kott@jhu.edu ) The Knowledge for Health (K4Health) Project

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ