การลดอุปสรรคทางการค้าบริการสุขภาพ (CIMA ASEAN Research Institution – Network ASEAN Form 2013)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 17, 2014 14:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

อาเซียนสถาบันวิจับซีอ็มบี (CIMB ASEAN Research Institute) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “การลดอุปสรรคทางการค้าบริการสุขภาพ” ลงในวารสาร Network ASEAN Forum 2013 ประจำปี 2556 สรุปได้ดังนี้

การค้าบริการสุขภาพเป็นหนึ่งในสิบสองบริการสาขาหลัก ที่ขับเคลื่อนการรวมตัวของอาเซียน อย่างไรก็ดีความร่วมมือระหว่างภูมิภาคของบริการสาขานี้ยังมีหลายประเด็นที่ต้องเจรจา เนื่องจากหลายประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีข้อแตกต่างทางนโยบายด้านการค้าบริการสุขภาพ

จากการศึกษาของ Network ASEAN Forum Lifting-The-Barrier Roundtables ได้ให้ความสนใจไปที่วิธีการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะดำเนินการเพื่อมีความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเรื่องบริการสุขภาพ โดยคำนึงประโยชน์ที่ประชากรอาเซียนจะได้รับ ประกอบกับวิธีการที่ประชากรในอาเซียนจะเข้าถึงการบริการสุขภาพภายในประเทศสมาชิกได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีจากการศึกษา อาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านต่างๆที่ยับยั้งความก้าวหน้าของการพัฒนาบริการสุขภาพ เช่น บางประเทศสมาชิกไม่สามารถรับความช่วยเหลือด้านบริการสุขภาพ หรือเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้ เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่พัฒนา กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านการบริการสุขภาพ ความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ความจำกัดด้านบุคลากรการแพทย์ และความคาดหวังของสังคม

ดังนั้น การที่อาเซียนได้ตั้งกรอบเวลาปี 2558 ในการเปิดเสรีการค้าบริการด้านสุขภาพอย่างเป็นทางการ ทำให้ประเทศสมาชิกมีความพยายามที่จะพัฒนามาตรฐานให้ไกล้เคียงกับสมาชิกที่มีความก้าวหน้าด้านนี้ อีกทั้ง อาเซียนควรมีการริเริ่มการสร้างมาตรฐานเดียวกันแก่ทุกประเทศสมาชิก การปรับปรุงให้ข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพอาเซียน (MRAs) ให้สามารถนำไปใช้ได้จริง

ความท้าทายด้านบริการสุขภาพ

อุปสรรคที่มีผลต่อการรวมมาตรฐานบริการด้านสุขภาพ (Barriers to integration)

การที่อาเซียนไม่มีนโยบายกลางเพื่อผลักดันบริการดังกล่าว ประกอบกับการลงทุนของต่างชาติที่มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนผู้ถือหุ้น กฎเกณฑ์ภายในประเทศที่เข้มงวด เงื่อนไขต่างๆที่จำกัดการเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางการแพทย์ จึงเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อมาตรฐานบริการด้านสุขภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน

อาเซียนได้มีการจัดทำพันธกรณีเกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพ แต่อย่างไรก็ดีการมีผลบังคับใช้ยังไม่เห็นผล อีกทั้งในหลายประเทศยังไม่มีการปรับกฎหมายภายในเพื่อให้สอดรับพันธกรณีต่างๆ ทำให้หลายประเทศไม่มีการพัฒนาบริการด้านสุขภาพ การเปิดเสรีการค้าบริการด้านสุขภาพในระดับที่สูงขึ้นจะไม่เกิดประโยชน์ถ้าประเทศสมาชิกยังไม่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ดี การบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน การปรับนโบายด้านแรงงาน ซึ่งเหตุผลดังกล่าวมีผลต่อการดึงดูดและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน ดังนั้น อุปสรรคที่มีผลต่อการรวมมาตรฐานบริการสุขภาพยังแบ่งได้เป็น 4 อุปสรรคย่อย ดังนี้

อุปสรรคด้านนโยบาย
  • การจำกัดจำนวนผู้ถือหุ้นต่างชาติ มีเพียง 5 ประเทศจาก 10 ประเทศสมาชิกที่อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ในบริการด้านสุขภาพ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ได้จำกัดจำนวนผู้ถือหุ้นต่างชาติอยู่ที่ 30% 40% และ 49% ตามลำดับ ในขณะที่กฎหมายลงทุนของอินโดนีเซียอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% แต่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย อนุญาตเพียง 90% และล่าสุดเมียนมาร์ได้มีการทบทวนกฎเกณฑ์การลงทุนและได้อนุญาตให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเกี่ยวกับโรงพยาบาลและคลีนิคถือหุ้นได้ 80%
  • ข้อจำกัดด้านกฎหมาย การกระตุ้นหรือเปิดโอกาสให้เกิดการเคลื่อนย้ายของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยหรือผู้รับบริการด้านสุขภาพ ควรมีปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติดังกล่าว ขณะนี้กฎการเข้าเมืองอาเซียนยังไม่มีการให้สิทธิพิเศษของผู้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่มีการอำนวยความสะดวกให้กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “green lane” ที่จุดเข้าเมืองและสนามบิน
  • ความแตกต่างของกฎหมาย ประเทศสมาชิกยังมีกฎหมายภายในที่เป็นเงื่อนไขกำหนดการเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์ บางประเทศสมาชิกยังไม่ได้ปรับมาตรฐานให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอื่o หรือยังไม่ได้มีการใช้บังคับข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของสาขาวิชาชีพอาเซียน (MRAs) ซึ่งเป็นสองขั้นตอนที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกเพื่อการค้าบริการด้นสุขภาพ อีกทั้ง การออกใบอนุญาต ยังมีเงื่อนไขให้บุคลากรวิชาชีพต้องมีการสอบ ซึ่งข้อสอบเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศสมาชิกนั้นๆ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายบุคลากร
อุปสรรคด้านเศรษฐกิจ
  • ประเทศสมาชิกมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน สมาชิกที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดต้องเผชิญปัญหาเรื่องงบประมาณในการส่งเสริมบริการด้านสุขภาพ ประชากรในประเทศเหล่านั้นยังต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลในอัตราสูง เช่น เมียนมาร์ไม่มีนโยบายประกันสุขภาพ จนถึงปี 2536 ในกัมพูชาประชากรต้องใช้ 80% ของเงินสะสมเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล ดังนั้นการพัฒนาบริการสุขภาพในประเทศดังกล่าวจึงไม่ก้าวหน้ามากนัก และยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมของสังคม ความยากจน และการรักษาพยาบาลที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ในส่วนของประเทศไทยมีการใช้งบประมาณที่ 75% เพื่อการส่งเสริมและดูแลสุขภาพ ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านบริการด้านสุขภาพ
  • การเปิดเสรีการค้าบริการสุขภาพ ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังไม่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และถ้ายังไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจไปในทางดีขึ้นจะไม่สามารถดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้
  • การเพิ่มการแข่งขันทางเศรษฐกิจช่วยดึงดูดนักลงทุน ประกอบกับการลงทุนจะทำให้ประเทศเหล่านั้นได้พัฒนาด้านแรงงานและด้านสาธารณูปโภคทางอ้อม
  • แม้ว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะทำให้การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์ท้องถิ่นเข้าสู่เมือง แต่อย่างไรก็ดี ประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ (the reverse of a brain drain) เข้ามาทำงานในประเทศสมาชิก
อุปสรรคด้านแรงงาน
  • การขาดแคลนแรงงาน เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของอาเซียน อินโดนีเซียและไทย มีบุคลากรทางการแพทย์ย้ายออกไปทำงานต่างประเทศ ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดก็มีปัญหาด้าน brain drain เช่นกัน เนื่องจากตลาดมีการขยายตัวสู่ต่างประเทศมากขึ้น การเคลื่อนย้ายบุคลากรบริการสาขาสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ จำนวนมากย้ายจากโรงพยาบาลรัฐ ไปยังโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชนเมือง ทั้งนี้จะเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ได้เคลื่อนย้ายไปในที่ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า
  • การเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการแพทย์ยังมีความแตกต่างเรื่องมาตรฐานและระดับความชำนาญของบุคลากร ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดไม่มีโอกาสผ่านการอบรมเทคโนโลยีระดับสูงและการรักษาเฉพาะทางจากบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดของความสามารถที่จะส่งออกด้านธุรกิจบริการและการที่จะแข่งขันได้ภายในตลาดภูมิภาค
  • เมื่อเทคโนโลยีและการแพทย์มีความก้าวหน้าและมีความซับซ้อน และคนไข้หรือผู้รับบริการทางการแพทย์มีความคาดหวังสูงขึ้น จึงทำให้มีความต้องการการรักษาทางการแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น ดังนั้นควรมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางเพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาด
อุปสรรคด้านสาธารณูปโภค
  • ค่าบริการด้านสุขภาพที่สูง การกระจายบริการที่ไม่ทั่วถึง และบุคลากรที่ไม่เพียงพอ มีผลมาจากระบบสาธารณูปโภคที่ไม่มีความพร้อม
  • การลงทุนโดยตรงจากนักธุรกิจหรือการเปิดการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้นของบริการสุขภาพในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากไม่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ดีเพื่อรองรับการบริการ หรือดึงดูดนักลงทุน
  • ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมีมาตรฐานแตกต่างกัน บางประเทศพัฒนาไปอย่างล้ำหน้า ระบบการเชื่อมโยง (connectivity) ที่ไม่ได้มาตรฐานและข้อจำกัดการเข้าสู่ข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร อีกทั้ง มีการกำหนดการถ่ายโอนข้อมูลและการกระจายข้อมูลที่มีผลต่อการบริการสุขภาพ
อุปสรรคด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม
  • สมาชิกอาเซียนยังไม่ได้มีการดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีความเป็นอยู่ อาหาร และโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน
  • ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อ เป็นปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาด้านสุขภาพเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้ง บุคลากรด้านการแพทย์ต้องประสบปัญหาการสื่อสารเนื่องจากความแตกต่างด้านภาษา ผู้ป่วยที่ขาดความเข้าใจสุขภาพที่ถูกต้อง เช่น ความเชื่อเรื่องความตาย ความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นุปสรรคทำให้ต่างชาติไม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนสมาชิกอาเซียนมีความเชื่อทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงทำให้ระดับความร่วมมือระหว่างสมาชิกอยู่ในระดับทีต่ำ ความแตกต่างของผู้ป่วย บุคลากรด้านการแพทย์ และผู้ร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริการด้านสุขภาพ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและสถานะปัจจุบันความก้าวหน้าสาขาสุขภาพ

อาเซียนมีความคืบหน้าพอสมควรในการพยายามลดอุปสรรคทางการค้าสาขาสุขภาพ โดยอัตราภาษี (the region’s Common Effective Preferential Tariff: CEPT) ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 และในปี 2551 อัตราภาษีของสินค้าที่มีความสำคัญเพื่อการรักษาสุขภาพ ลดลงเหลือศูนย์

อาเซียนมีความพยายามดำเนินการปรับมาตรฐานของแต่ละประเทศให้เป็นสากล ซึ่งการปรับมาตรฐานนี้มีผลเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้า และรวมขั้นตอนการรับรองต่างๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดระยะเวลาและหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายของการทดสอบ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของอุปสรรคทางการค้าภายในอาเซียน การพัฒนาการค้าสาขาสุขภาพภายในภูมิภาค ในเบื้องต้นมีเป้าหมายเพื่อเปิดตลาดการค้าสินค้าทางการแพทย์ เพื่อผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์และจะมีเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในส่วนการค้าสินค้ามีความคืบหน้าที่สุด เช่น ในการปรับรวมมาตรฐานคือสาขาเภสัชกรรม การจัดทำ MRA ในส่วนของสินค้ามีผลใช้บังคับเมื่อปี 2554 และมีการจัดทำ MRA เรื่อง Post Marketing Alert System (PMA) สาขาเภสัชกรรม

ในส่วนอุตสาหกรรมการค้าบริการสุขภาพ มีสัดส่วนที่น้อยกว่าการค้าสินค้าด้านสุขภาพ เช่น ปี 2550ประเทศสมาชิกอาเซียนนำเข้าสินค้าทางการแพทย์จากสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 7.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ด้านการค้าบริการ มีผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางการแพทย์ประมาณ 348,000 ราย รายได้ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี การค้าบริการสุขภาพในอาเซียนเป็นสาขาที่สำคัญและมีผลในการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค อีกทั้งรัฐบาลในหลายประเทศได้ใช้งบประมาณเพื่อขยายตลาดโดยการเพิ่มเที่ยวบินในเมืองหลัก เช่น กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ ย่างกุ้ง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภายในอาเซียน จากสถิติของ MOH Vietnam ชาวเวียดนามจำนวน 40,000 คน ใช้จ่ายประมาณ 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ และในกรณีของอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียได้เดินทางเข้ามารักษาใน สิงคโปร์ ไทย เนื่องจากขึ้นชื่อว่าการรักษาพยาบาลมีคุณภาพสูง

ขณะนี้ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นผู้นำอาเซียนในเรื่องของการส่งออกการค้าบริการด้านสุขภาพ ทั้งสามประเทศได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจสุขภาพ การส่งเสริมพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีคุณภาพและระดับสากล อีกทั้งราคาค่ารักษาพยาบาลยังถูกกว่าการรักษาพยาบาลในประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์รวมทางการแพทย์นานาชาติ (Medical Hub) การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก เนื่องจาก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน หรือ ไทย บุคลากรทางการแพทย์เลือกที่ทำงานในประเทศมากกว่าเคลื่อนย้ายไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจัยการพัฒนาด้านสุขภาพในอาเซียน
  • การเพิ่มความมั่งคั่ง เมื่อประชากรมีรายได้มากขึ้น ทำให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการพัฒนาทางสุขภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพื่อการส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ช่วงระหว่างปี 2544-2555 งบประมาณที่ประชาชนชั้นกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 จากการคาดการณ์ของ the Economist จะมีการเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพ ในปี 2549 (ร้อยละ 23) ปี 2555 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23 การที่ประชากรอาเซียนร่ำรวยขึ้นและพัฒนาเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น ประชาชนจะให้ความสนใจและส่งเสริมให้มีการใช้งบประมาณเพื่อรักษาสุขภาพมากขึ้น
  • การเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงประชากรจะเกิดขึ้นในทศวรรษนี้ เนื่องจากประชากรทีมีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้น เป็นสองเท่าหรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ช่วงอายุชีวิตจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23 ภายในปี 2593 จากร้อยละ 10 ปี 2558 และรัฐจะต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ชัดกว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว
  • ความเสี่ยงทางสุขภาพของประชากรอาเซียน การเพิ่มขึ้นของอัตราประชากร และการเพิ่มขึ้นของการย้ายเข้ามาอยู่ชุมชนเมืองภายในอาเซียน จะทำให้ประชากรเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพ มีประชากรจำนวนถึง 131 ล้านอาศัยอยู่ในชุมชนเมือง การอาศัยอยู่ของคนจำนวนมากจะทำให้คุณภาพความเป็นอยู่ของประชากรลดลง
การตอบโจทย์ของอาเซียนเมื่อมีอุปสงค์ด้านบริการสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น

งบประมาณสำหรับการรักษาสุขภาพ สมาชิกส่วนใหญ่ในอาเซียนประสบปัญหาในการตอบสนองต่อความต้องบริการสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ปัจจุบันการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมบริการด้านสุขภาพในอาเซียนจัดอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก อัตราเฉลี่ยของงบประมาณด้านสุขภาพของโลกอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ของจำนวนรายได้เฉลี่ยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในส่วนของอาเซียนมีการจัดสรรงบประมาณประเภทนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบงบประมาณต่อหัว สิงคโปร์เป็นประเทศที่จัดสรรงบประมาณบริการสุขภาพสูงสุด หรือจำนวน 6 เท่าของการจัดสรรงบประมาณของมาเลเซีย และมากกว่าเมียนมาร์จำนวนร้อยละ 100

ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ใช้การผสมผสานแผนด้านสุขภาพมีหลายประเทศที่ใช้ระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมถึงประชาชนบางกลุ่ม เช่น ข้าราชการและครอบครัว พนักงงานราชการ อีกทั้งได้มีความพยายามที่จะทำให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมถึงประชากรทุกกลุ่ม โดยการผสมผสานระหว่างประกันสังคมและเงินช่วยเหลือจากรัฐหรือชุมชนจากงบประมาณของรัฐ แต่มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้ใช้ระบบประกันสังคม แต่อย่างไรก็ดี ประชากรยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพดังกล่าวได้ อีกทั้ง รัฐบาลควรต้องมีการจัดสรรงบประมานให้ระบบนี้ครอบคลุมถึงประชากรทุกกลุ่ม ส่วนใหญ่ระบบจะครอบคลุมเฉพาะความเสี่ยงทางการเงินค่ารักษาพยาบาล แต่ไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง ค่ายา หรือการปรึกษาครั้งต่อๆไป ลาวและกัมพูชา เป็นสองประเทศที่มีงบประมาณและบุคลากรน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพึ่งพาเงินช่วยเหลือด้านสุขภาพจากต่างชาติ มาเลเซียและสิงคโปร์ ใช้สองระบบ คือระบบเงินสะสมเพื่อประกันสุขภาพ และ ทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident funds)

การบริการสุขภาพในบางประเทศมีขั้นตอนไม่ซับซ้อนและมีราคาถูก ประเทศที่มีรายได้สูง หรือมีโอกาสด้านวิชาชีพ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย จะดึงดูดให้มีบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นประเทศที่รายได้สูงจะเป็นแหล่งที่มีการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และผู้รับบริการต่างชาติต้องการที่จะไปรักษา

ประเทศสมาชิกที่ความคิดริเริ่มด้านการปรับปรุงด้านสุขภาพแห่งชาติ

แต่ละประเทศสมาชิกได้มีความก้าวหน้าแต่ด้านที่แตกต่างกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ดังนี้

  • สิงคโปร์มีการริเริ่มโครงการ Singapore Medicine โดยคณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ คณะกรรมการจากกระทรวงสุขภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและ IE Singapore ที่ให้ความร่วมมือกเพื่อการส่งเสริมแบรนด์สิงคโปร์ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ในปี 2003 Singapore Medicine ได้มีความพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพเพื่อให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ และสนับสนุนให้สิงคโปร์เป็นที่หมายระดับโลกสำหรับการรักษาผู้ป่วย
  • มาเลเซียรัฐบาลให้การสนับสนุนด้วยการจัดตั้ง The National Committee for the Promotion of Medical and health Tourism (MHTC) เพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุน ดำเนินงาน ส่งเสริม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและส่งเสริมให้มาเลเซียเป็นที่หมายของการบริการสุขภาพในภูมิภาค อีกทั้งยังได้จัดทำให้เป็นจุดศูนย์รวมการรักษาทุกประเภทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • บรูไนมีความก้าวหน้าโดยมีการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ผ่านความตกลงทวิภาค หรือMOU
  • อินโดนีเซียมีนโยบายประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่เริ่มมีผลใช้บังคับเดือนมกราคม 2557
  • ฟิลิปปินส์มีการปรับแก้ไขนโยบายเพื่อนให้มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ

การรวมตัวของอาเซียนในด้านสุขภาพนั้น ถึงแม้จะมีความคืบหน้า แต่อาเซียนยังคงต้องพยายามที่จะปรับมาตรฐานบริการสุขภาพของประเทศสมาชิกให้ใกล้เคียงกัน ผลักดันการบังคับใช้ MRAs พัฒนาให้บริการสุขภาพครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม และจัดทำข้อตกลงและกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อบริการสุขภาพข้ามแดน

ส่วนธุรกิจบริการ

สำนักการค้าบริการและการลงทุน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

พฤษภาคม 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ