‘พาณิชย์’เดินหน้า สนับสนุนวิสัยทัศน์การพัฒนาลุ่มแม่น้าโขง-ญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2015 13:40 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 นายโนบุโยชิ วาคาบายาชิ (Mr. Nobuyoshi Wakabayashi) หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น (AMEICC) และคณะผู้บริหาร ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมกับเสนอแนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับประเทศญี่ปุ่น และการจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong Industrial Development Vision) ตลอดจนหารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดรายละเอียด Work Program ร่วมกัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญของไทย ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีกลไกความร่วมมือกันหลายระดับ ทั้งทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี สำหรับความร่วมมือภายใต้กรอบลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจาก AMEICC มีการดำเนินกิจกรรมที่มีประโยชน์และเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมหลักต่างๆ (รถยนต์ เคมีภัณฑ์) การเสริมสร้างขีดความสามารถของ SME และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก

นางอภิรดี กล่าวว่า การนำเสนอ "วิสัยทัศน์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง" (Mekong Industrial Development Vision)ของAMEICC เน้นพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นฐานการผลิตหลัก และสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้ความได้เปรียบเป็นพื้นฐานต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และเพื่อขยายฐานการผลิตสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ภายใต้แผนการดำเนินงาน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 2. การสร้างความมั่นคงสำหรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าขึ้น และ 3. การสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่สนับสนุนห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ดังกล่าวสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขยายการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่น ตามแนวคิด Thailand Plus One ที่ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและนวัตกรรม และต่อยอดไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า ญี่ปุ่นมองเห็นศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้น จึงมุ่งหวังให้ไทยยกระดับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของญี่ปุ่นมาก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ของไทย ที่เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้

ปัจจุบัน การลงทุนทางตรงของญี่ปุ่นในประเทศอนุภูมิภาคแม่โขงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2543 มีมูลค่าการลงทุนทางตรงรวม 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 และในปี 2556 เงินลงทุนทางตรงมีมูลค่าสุงถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนทางตรงจากจีน ซึ่งมีมูลค่า 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และ เวียดนาม) ปี 2557 มีมูลค่ารวม 546 ล้านบาท (18.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) และในปี 2558 (มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่ารวม 702 ล้านบาท (23.4 ล้านเหรียญสหรัฐ)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

2 กันยายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ