ไทย –จีน จับมือเดินหน้าพัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เน้นความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2016 13:44 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) มีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน (The Meeting of the Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation between Thailand and China หรือ JCเศรษฐกิจ) ครั้งที่ 5 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 โดยจะเป็นประธานร่วมกับมนตรีแห่งรัฐ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (นายหวัง หย่ง) และในโอกาสนี้ จะพบปะหารือกับนักธุรกิจและนักลงทุนสำคัญของจีน เพื่อเดินหน้าสร้างความมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุม JCเศรษฐกิจ ไทย-จีนเป็นกลไกการหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจด้านต่างๆ สำหรับการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ให้แน่นแฟ้น ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

นางอภิรดี กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงด้านต่างๆ และการพัฒนาการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และ ICT/digitalไทยและจีนสามารถร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่สองประเทศมีความสนใจและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะแนวคิด One-BeltOne-Roadที่ไทยพร้อมใช้จุดแข็งของไทยในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่ตั้ง ร่วมมือกับจีนในการขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ การเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ยกระดับการพัฒนา/ความเชื่อมโยง digital economy การขนส่ง โลจิสติกส์ การยกระดับภาคการผลิต และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ไทย-จีน มียุทธศาสตร์ connectivityที่สอดรับกัน ของจีน คือ One belt one road คู่ไปกับ One belt one ray ภายใต้นโยบาย Internet Plus ส่วนของไทยคือ ยุทธศาสตร์ระบบราง EEC ควบคู่กับยุทธศาสตร์ digital economytransformation รวมถึงการพัฒนาให้ไทยก้าวสู่การเป็น leading Digital Hub หรือ E Hub. ของ ASEAN ที่จะช่วยขับเคลื่อน Thailand 4.0โดยสองฝ่ายสามารถขยายความร่วมมือต่างๆ ไปยัง CLMVและอาเซียน โดยไทยพร้อมเชื่อมโยงจีน – อาเซียน จีน – อินเดีย และจีน – เอเชียใต้

การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะลงนามเอกสารเพื่อต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี รวมถึงแผนปฏิบัติการร่วม ซึ่งระบุสาขาความร่วมมือหลัก 5 สาขา ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ระบบราง maritime) 2) การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 3) การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล/อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และอีคอมเมิร์ช 4) ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 5) พลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในเชิงลึกต่อไป

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์จะลงนาม ร่วมกับบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป จำกัด เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของSMEs ไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และ Digital Economy เพื่อสังคมอีกด้วย

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของจีน โดยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 12 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2558 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับจีน 54 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

7 ธันวาคม 2559

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ