กลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 22, 2016 14:18 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

อาเซียนมีการเตรียมความพร้อมด้านกลไกการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจไว้รองรับการเป็นประชาคมแล้วตั้งแต่ปี 2539 คือ ได้จัดทำพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ฉบับปี 2539 (ค.ศ. 1996) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่กำหนดกลไกระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ต่อมา ได้มีการปรับปรุงพิธีสารฯ ดังกล่าวในปี 2547 เป็นพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจฉบับใหม่ของอาเซียน (Protocol on ASEAN Enhanced Dispute Settlement Mechanism) เรียกโดยย่อว่า "พิธีสาร EDSM" ลงนามเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน2547 (ค.ศ. 2004) ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ได้ระบุชัดเจนให้ทุกสาขาความร่วมมือของอาเซียนมีการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทหลัก

พิธีสาร EDSM มีรูปแบบอ้างอิงหลักการจากกลไกระงับข้อพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นกลไกการระงับข้อพิพาททางการค้าโดยเฉพาะ คือ มีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) และองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) รวมทั้ง การกำหนดให้ประเทศสมาชิกหาทางระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยวิธีอื่นๆ ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีระงับ ข้อพิพาทของคณะผู้พิจารณาหรือองค์กรอุทธรณ์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ การใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ (Good Offices) การประนีประนอม (Conciliation) และการไกล่เกลี่ย (Mediation) เพราะเมื่อคณะผู้พิจารณาหรือองค์กรอุทธรณ์มีข้อตัดสินออกมาแล้ว ประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามข้อตัดสินนั้น อาทิ การชดใช้ค่าเสียหาย หรือการระงับการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับคู่กรณี หรืออาจถูกตอบโต้ในกรณีประเทศสมาชิกที่แพ้คดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำตัดสิน แต่มีข้อแตกต่างระหว่างกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน (EDSM) กับขององค์การการค้าโลก (DSU) ที่สำคัญๆ เช่น ระยะเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอน องค์กรที่กำกับดูแล เป็นต้น

อาเซียนได้กำหนดให้พิธีสาร EDSM เป็นความตกลงที่กำหนดหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกอาเซียน มีขอบเขตครอบคลุมถึงความตกลงด้านเศรษฐกิจของอาเซียนและความตกลงที่ปรากฏในบัญชีแนบท้ายพิธีสารฯ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีสิทธิฟ้องร้องโดยใช้กระบวนการดังกล่าวได้ หากเห็นว่าสิทธิของตนตามความตกลงฯ ถูกกระทบ เนื่องจากสมาชิกอื่นใช้มาตรการที่ขัดต่อความตกลงฯ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของพิธีสารฯ เช่น ประเทศสมาชิกเห็นว่าผลประโยชน์ของตนอาจถูกละเมิดหรือทำให้เสียหาย อันเนื่องมาจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสมาชิกอื่น ซึ่งขัดกับพันธกรณีทางด้านเศรษฐกิจภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เป็นต้น

การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนการระงับข้อพิพาท EDSM มีกรอบระยะเวลากำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยรวมแล้วใช้เวลาไม่เกิน 445 วัน โดยมีหลักการและกระบวนการภายใต้พิธีสาร EDSM สรุปได้ ดังนี้

ประเทศสมาชิกยื่นขอหารือกับประเทศคู่พิพาทเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกผู้ยื่นคำร้อง ต้องระบุถึงมาตรการที่เป็นเหตุของข้อพิพาทและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายที่ถูกขอหารือจะต้องตอบคำขอภายใน 10 วัน และจัดให้มีการหรือภายใน 30 วัน หลังจากได้รับคำขอ หากไม่มีการหารือภายใน 30 วัน หรือมีการหารือแล้วไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้ภายใน 60 วัน ขั้นต่อไปประเทศที่ยื่นขอหารือสามารถขอให้ตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) เพื่อพิจารณาตัดสินข้อพิพาทได้

  • คณะผู้พิจารณาต้องพิจารณาคดี และทำรายงานคำตัดสินให้เสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันตั้งคณะผู้พิจารณา แต่อาจขยายเวลาได้อีก 10 วันในกรณีพิเศษ และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) จะต้องรับรองรายงานดังกล่าวภายใน 30 วัน นับจากวันที่คณะผู้พิจารณาส่งรายงานให้ที่ประชุมฯ เว้นแต่ที่ประชุมฯ มีฉันทามติไม่รับรองรายงาน หรือมีการอุทธรณ์คดี
  • ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คดี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) จะแต่งตั้งองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่อุทธรณ์คำตัดสินของคณะผู้พิจารณา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีองค์คณะในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ 3 คน และจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาและทำรายงานคำตัดสินขององค์กรอุทธรณ์ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่แจ้งว่าจะมีการอุทธรณ์ถึงวันที่เวียนรายงานให้ประเทศสมาชิกพิจารณา
  • ประเทศสมาชิกที่แพ้คดีจะต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะผู้พิจารณาหรือองค์กรอุทธรณ์ทันที หรือภายใน 60 วัน หรือภายในระยะเวลายาวกว่านั้น ตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกัน หากไม่สามารถทำได้จะต้องเจรจากับประเทศสมาชิกที่ชนะคดีเพื่อให้การชดเชยที่เหมาะสม หากไม่สามารถตกลงกันได้ ประเทศสมาชิกที่ชนะคดีอาจขอให้ที่ประชุม SEOM อนุญาตให้ระงับการให้ข้อลดหย่อน หรืองดเว้นการให้สิทธิประโยชน์ตามความตกลงที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการตอบโต้ประเทศสมาชิกที่แพ้คดี
  • หากประเทศสมาชิกที่แพ้คดีเห็นว่า ระดับการตอบโต้ไม่เหมาะสม หรือตนได้ปฏิบัติตามคำตัดสินแล้ว ก็มีสิทธิขอให้อนุญาโตตุลาการ (คณะผู้พิจารณาในคดีเดิม) พิจารณาประเด็นดังกล่าวได้ โดยจะต้องทำคำตัดสินเรื่องดังกล่าวภายใน 60 วัน

ที่ผ่านมา แม้อาเซียนยังไม่เคยมีการฟ้องร้องกันภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท อย่างไรก็ตาม อาเซียนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงกลไกดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนขึ้น และสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ภายใต้บริบทของอาเซียน เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ AEC เป็นประชาคมที่ยึดถือกฎเกณฑ์ (rule-based community)

ทั้งนี้ ภายหลังจากอาเซียนเข้าสู่การเป็นประชาคมในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนน่าจะมีแนวโน้มที่จะมีการใช้กลไกระงับข้อพิพาทในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าการไม่มีข้อพิพาทย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่ในความเป็นจริงอาเซียนมีพันธกรณีด้านเศรษฐกิจภายใต้ความตกลงต่างๆ เป็นจำนวนมาก และจะมีการรวมตัวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้อาจจะเกิดการกระทำที่อาจขัดต่อพันธกรณีทางด้านเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา อาเซียนมักเลือกที่จะหารือเพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ผ่านเวทีการเจรจาในระดับต่างๆ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งใช้เวลานานเนื่องจากไม่มีกรอบเวลา แต่ในอนาคตหากการหารือสองฝ่ายหรือการนำเรื่องเข้าหารือในเวทีอาเซียนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และมีแรงกดดันจากผู้เสียประโยชน์หรือภาคเอกชนภายในประเทศ ประเทศสมาชิกอาจตัดสินใจนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการภายใต้พิธีสารระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (EDSM) ในที่สุด

สำนักอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กันยายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ