ประเทศไทยกับการก้าวเข้าสู่ Cashless society

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 22, 2017 13:43 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในเวลานี้ หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Mobile Banking” “Prompt Pay” “e-Money” และ “FinTech”ไม่มากก็น้อย คำจำกัดความเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเริ่มเข้ามาแทนที่การทำธุรกรรมรูปแบบเดิม นั่นคือ การใช้เงินสด โดย Cashless society หรือ Cashless economyเป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสด หรือสังคมเศรษฐกิจที่ไม่นิยมถือเงินสด ที่มีการพูดถึงกันเป็นครั้งแรกในวงการธนาคารพาณิชย์ในช่วงทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มองว่าความสำคัญของเงินสดในอนาคตจะลดน้อยลงและจะถูกแทนที่โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน

ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้มีการออกนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Cashless society หนึ่งในประเทศผู้นำด้านนี้ คือ สวีเดน เห็นได้จากการชำระเงินในประเทศสวีเดนในปี 2558 ที่ทำผ่านระบบ e-payment มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศ ขณะที่ตัวเลขโดยเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่เพียงแค่ร้อยละ 25 ปัจจัยผลักดันสำคัญที่ทำให้สวีเดนเข้าสู่ยุคของ Cashless society ก่อนหลายประเทศในโลกสามารถสรุปได้เป็น 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านกฎหมาย (Legal) 2) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี(Technology) และ 3) ปัจจัยทางด้านสังคม (Social) โดยเมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 รัฐบาลสวีเดนเป็นชาติแรกของโลก ที่ได้ประกาศเปิดตัวแอพพลิเคชั่นชื่อ Swish Payment ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชาวสวีเดนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และนับแต่นั้น ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยต่างก็หันมาเปิดรับการชำระเงินผ่านช่องทางดังกล่าวมากขึ้น โดยทุกธุรกรรมสามารถใช้บัตรเครดิตและโทรศัพท์มือถือทำแทนได้ ขณะเดียวกันการตอบรับของภาคธุรกิจก็เป็นบวกเช่นกัน โดยผู้ประกอบการที่ได้ติดตั้งเครื่องรับชำระผ่านบัตรเครดิตมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการบริโภคนั่นเอง

ในส่วนของประเทศไทยนั้น การก้าวเข้าสู่ Cashless society ยังล้าหลังประเทศอื่นๆอยู่มาก เพราะอัตราการใช้เงินสดของไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนถึงร้อยละ 97 แต่สิ่งที่จะทำให้พฤติกรรมนี้เปลี่ยนไป คือ การเพิ่มขึ้นของการใช้สมาร์ทโฟน ประกอบกับการที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) เพื่อปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารในประเทศ พร้อมทั้งยกระดับและผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิตอลโดยไม่ต้องใช้เงินสดดังเช่นหลายประเทศชั้นนำทั่วโลก ตัวอย่างเช่น การเปิดบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ที่เรียกว่า “PromptPay หรือ Any ID” ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 5 โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงเครือข่ายการชำระเงินให้สะดวกทันสมัย อีกทั้งดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อรองรับธุรกรรม e-Money ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เร่งผลักดันการระดมเงินทุนผ่าน Crowd-funding และหน่วยงานหลักที่ถูกมอบหมายภารกิจเพื่อกระตุ้นและสร้างบรรยากาศให้เกิดการขับเคลื่อน คือ กรมสรรพากรผ่านนโยบายอุดหนุนต่างๆ เช่น การคิดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าร้อยละ 7 สำหรับการชำระเงินโดยเงินสด การคิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่าน PromptPay ที่ถูกลง และการผ่อนปรนทางภาษีสำหรับผู้ใช้งาน e-Payment นอกจากนี้ แผนแม่บท National e-Payment ของภาครัฐ ยังครอบคลุมถึงเรื่องการเพิ่มจำนวนเครื่องรับชำระบัตรการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีและการออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการปรับระบบการจ่ายเงินของภาครัฐให้เป็นรูปแบบ e-Payment ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่ยุค Cashless society อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Transactions Development Agency : ETDA) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนทำหน้าที่ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อยกระดับภาคการผลิตและบริการไปสู่ Thailand 4.0 โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในภาคการเงินเทคโนโลยี FinTech ได้เปลี่ยนโฉมผ่านความร่วมมือในกรอบความร่วมมือเอเชีย(ACD) โดยประเทศไทยเองได้ใช้ประโยชน์จาก FinTech และประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อตั้งเป้าให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคต แต่ในปัจจุบันอาจยังติดขัดในบางประเด็นความท้าทายต่างๆ ทั้งในแง่ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไปจนถึงการมีกฎระเบียบกติกาที่จะรองรับการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่

จากการประมาณการโดยสมาคมธนาคารไทย การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment สามารถขจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นจากธุรกรรมเงินสดได้มากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ Cashless society ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลจากความโปร่งใสของระบบการเงิน อันถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมารองรับการเป็น Cashless society ของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเงินที่ผิดปกติได้ง่ายยิ่งขึ้น ช่วยแก้ไขและลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี การคอร์รัปชั่น และการฟอกเงินของประเทศได้ นอกจากนี้ ผลการวิจัยล่าสุดได้บ่งชี้ถึงผลกระทบเชิงบวกจาก e-Payment ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะต่อ GDP และปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค สำหรับการบริโภคนั้น e-Payment จะช่วยส่งเสริมการบริโภคผ่านการกระจายฐานลูกค้า ทำให้ช่องทางการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี จากการจัดอันดับดัชนีวิวัฒนาการทางดิจิตอล1 (Digital Evolution Index) ภายใต้งานเสวนา “Infinity and Beyond : ต่อยอดความคิดด้วยนวัตกรรม” ได้บ่งบอกถึงความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของไทยต่อการนำประเทศเข้าสู่ Cashless society โดยมีข้อเสนอแนะว่าหากไทยต้องการที่จะได้รับประโยชน์จาก Cashless society มากที่สุด ไทยควรต้องบรรลุเงื่อนไข 2 ข้อก่อน คือ การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการเพิ่มความนิยมของระบบ e-Payment ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการบูรณาการ เพื่อปรับปรุงระบบการชำระเงินทั้งหมดของประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนให้มีการใช้งาน e-Payment เพิ่มมากขึ้น และทำให้ e-Payment เป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัวของ GDP ต่อไป

สำหรับการเพิ่มความนิยมและความยอมรับของสังคมในระบบ e-Payment นั้น ยังมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ 1) คุณสมบัติเฉพาะของค่าเงินสกุลประเทศต่างๆ และ 2) ความต้องการของผู้คนในการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ หนทางหนึ่งที่จะช่วยลดข้อจำกัดประการหลัง คือ การให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้งานและประโยชน์ของ e-Payment จากการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ไทยสามารถก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดดังเช่นประเทศสวีเดนได้ ซึ่งจากการประเมินของนักวิเคราะห์ คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากปี 2563

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคประชาชนดูเหมือนว่ากระแสตอบรับ e-Payment ยังไม่มากนัก ท่ามกลางกระแสข่าวความไม่ปลอดภัยบนโลก Cyber ประกอบกับความไม่มั่นใจของผู้ใช้งานในการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้นหากภาครัฐ ภาคธนาคาร และภาคธุรกิจยังไม่สามารถหาวิธีการที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อใจได้ Cashless society ก็จะยังคงไม่เกิดในประเทศไทย เนื่องจากยังขาดความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านกฎหมายรองรับและสนับสนุน รวมถึงปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ให้ความเชื่อมั่นได้ว่าระบบจะมีความปลอดภัย และการยอมรับของภาคประชาชน ในทางตรงกันข้าม หากธนาคารสามารถพัฒนารูปแบบระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ “ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า” คู่ขนานไปกับการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวได้ เราก็น่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศสวีเดนในไทยได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ สำหรับประเทศสวีเดนเองจากการที่สาขาธนาคารส่วนใหญ่ภายในประเทศยกเลิกบริการฝาก-ถอนเงินสด และจำนวนตู้ ATM ที่ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้อัตรา Cash machine coverage ลดลงต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป และกรณีที่ต้องการถอนเงินสดช่องทางที่สะดวกที่สุดคือ Supermarket checkout line แม้กระทั่งโบสถ์ในประเทศสวีเดนเองยังรับทำบุญผ่านการโอนเงิน การซื้อตั๋วรถบัสก็ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินสดอีกต่อไป รวมทั้งด้านการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะต้องใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตเท่านั้น ระหว่างการท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่าแม้สังคมปราศจากเงินสดจะสะดวก รวดเร็ว แต่ก็มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของเงินหมุนเวียนในระบบ และการใช้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ๆ ซึ่งระบบ Cashless society ยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลสวีเดนได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม และต้องการให้การเปลี่ยนแปลงของระบบการชำระเงินภายในประเทศดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนเอง ก็ได้คาดการณ์ว่าสังคมปลอดเงินสดในประเทศจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบรวดเร็วที่สุดในปี ค.ศ. 2030

สำนักการค้าบริการและการลงทุน

มีนาคม 2560

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/722030

https://www.krungsri.com/bank/th/krungsri-guru/guru/sme/october-2016/promptpay-gateway-to- cashlesssociety.html

1 ที่มา : www.okmd.or.th/upload/pdf/Knowledge-Innovation-1.pdf

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก mobile  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ