ภาคบริการไทยเฮ ‘พาณิชย์’ แจ้งข่าวดีความตกลง AJCEP เพิ่มโอกาสนักลงทุนไทย เผยมีผลทันทีปลายปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 13, 2019 13:28 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

‘พาณิชย์’ ลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลง AJCEP เพิ่มเติมด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ด้านญี่ปุ่นเปิดตลาดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 100 พร้อมเตรียมเปิดตลาดบริการเพิ่ม อาทิ การแพทย์และทันตกรรม และวิชาชีพพยาบาล เพิ่มโอกาสนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนอย่างครบวงจร ส่วนไทยเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาทิ สาขายานยนต์แห่งอนาคต อากาศยาน เครื่องมือแพทย์

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ไทยร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนรวม 10 ประเทศได้ลงนามพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น หรือ AJCEP เพื่อเพิ่มข้อตกลงด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนในความตกลง AJCEP เดิมที่ได้จัดทำตั้งแต่ปี 2552 โดยเป็นความตกลงซึ่งครอบคลุมเฉพาะเรื่องการค้าสินค้าโดยพิธีสารฉบับแก้ไขดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับภายในครึ่งปีหลังของปี 2562

นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากความตกลง AJCEP ซึ่งครอบคลุมเฉพาะการค้าสินค้ามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 สมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่นได้เริ่มเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถบรรลุผลการเจรจาได้ในปี 2561 โดยด้านการค้าบริการ ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดสาขาบริการให้กับอาเซียนเพิ่มเติม ในระดับสูงกว่าที่ญี่ปุ่นผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) เช่น บริการด้านวิจัยและพัฒนา บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการวิชาชีพ บริการโสตทัศน์ บริการก่อสร้าง บริการจัดจำหน่าย บริการสิ่งแวดล้อม บริการการเงิน และบริการขนส่งในบางกิจกรรม เป็นต้น โดยญี่ปุ่นเปิดตลาดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดเพิ่มเติมจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งเป็นความตกลงสองฝ่ายระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เช่น บริการด้านการแพทย์และทันตกรรม และบริการด้านวิชาชีพพยาบาล เป็นต้น และญี่ปุ่นยังเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมให้ตามที่ไทยเรียกร้องในสาขา เช่น บริการก่อสร้าง บริการการท่องเที่ยว บริการด้านโทรคมนาคม เป็นต้น จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขาบริการดังกล่าวสามารถเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นได้อย่างครบวงจร ขณะเดียวกัน ไทยได้เปิดตลาดบริการด้านการวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการ และบริการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกมาตรฐานภาคบริการของไทยด้วย

สำหรับด้านการลงทุน จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริม และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ทำให้มีการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยญี่ปุ่นสนใจการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเฉพาะในสาขายานยนต์แห่งอนาคต อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของไทยให้สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกได้

ทั้งนี้ ในปี 2560 อาเซียนกับญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้ารวม 219,258.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากอาเซียนไปญี่ปุ่น 105,792.08 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าของอาเซียนจากญี่ปุ่น 113,466.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมายังอาเซียนอยู่ที่ 13,414.57 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการค้าทวิภาคี ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 60,201.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.24 มูลค่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น 24,941.87 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่น 35,259.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องโทรสารโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

6 มีนาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ