แถลงข่าวการประชุม (SEOM) ครั้งที่ 1/39 เมื่อวันที่ 19-22 มกราคม 2551 ณ เมืองบาเกียว ประเทศฟิลิปปินส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 12, 2008 16:19 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1/39 เมื่อวันที่ 19-22 มกราคม 2551 ณ เมืองบาเกียว ประเทศฟิลิปปินส์ สรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
1. ที่ประชุมได้พิจารณาแผนงานวัดผลการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Scorecard) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามวัดผลการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ภายใต้ AEC Blueprint ซึ่งผู้นำได้ลงนามไปเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา โดยได้ให้ข้อเสนอ แนวทางการจัดทำ AEC Scorecard ดังนี้
- template หรือตัวชี้วัดในด้านต่างๆ จะต้องมีความชัดเจน
- ให้มีการประเมินผลทั้งในระดับประเทศ (individual country) และระดับภูมิภาค (regional)
- เมื่อวัดผลแล้วต้องมี action ที่จะดำเนินการต่อที่ชัดเจน หรือสิ่งที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและไปสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
- ให้มี feedback จากภาคเอกชนประกอบด้วย
- ให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูลและ cross checking
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณา template ของ scorecard ดังกล่าว ในช่วงการประชุม AEM Retreat ในเดือนพฤษภาคม 2551 เพื่อให้แนวทาง/ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อไป
2. ไทยได้เสนอ discussion paper เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องในโอกาสที่ผู้นำอาเซียนได้ประกาศให้ปี 2551 เป็นปีแห่งการเสริมสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Awareness Year) โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) นักเรียน นักศึกษา 2) นักวิชาการ 3) ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ 4) เกษตรกร และ 5) ประชาชนทั่วไป โดยที่ประชุมเห็นชอบให้การดำเนินงานเป็นไปโดยสมัครใจ และประเทศที่มีแผนการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ AEC ขอให้ส่งรายการแผนงานให้สำนักเลขาธิการอาเซียนรวบรวมเพื่อประมวลผลในภาพรวมด้วย
3. สำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ECOM (Coordinating Conference on the AEC) ในเดือนมิถุนายน 2551 ที่จาการ์ตา เพื่อประสานการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ AEC Blueprint ร่วมกับคณะทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน ซึ่งประเทศสมาชิกเห็นชอบที่จะเชิญ ภาคเอกชนที่เป็น key player ของแต่และประเทศเข้าร่วมด้วย เพื่อให้เป็นเวทีหารือในลักษณะ Global CEO Conference และได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินงานต่อไป
การยกร่างความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA)
- ที่ประชุม AFTA Council ครั้งที่ 21 ได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุง CEPT Agreement ให้เป็น Comprehensive Trade in Goods Agreement โดยอิงจากร่าง TIG Agreements ที่อาเซียนได้จัดทำร่วมกับ Dialogue Partners ต่างๆ โดยยกร่างความตกลง ASEAN Trade In Goods Agreement โดยจัดทำให้เสร็จทันการประชุม AEM ครั้งที่ 40 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 นี้ โดย ATIGA จะครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น การลดภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า กระบวนการศุลกากร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้า
การค้าบริการ
- ที่ประชุม SEOM เร่งรัดให้ ให้ประเทศสมาชิกที่ยังไม่สามารถเปิดตลาดสาขาบริการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ภายใต้ข้อผูกพันเปิดตลาดชุดที่ 6 ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ต้องยื่นข้อผูกพันก่อน AEM Retreat ช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 นี้ ซึ่งในส่วนของไทยสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดแล้ว
- ไทยเห็นว่า คณะกรรมการประสานงานด้านบริการของอาเซียน (Coordinating Committee on Services: CCS) ควรเร่งรัดการรวมรวมมาตรการที่เป็นอุปสรรคการค้าบริการ โดยเฉพาะในสาขาการบริการสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ สาขาสุขภาพ สาขาบริการท่องเที่ยว สาขาโทรคมนาคม และสาขา Logistics ซึ่งมีเป้าหมายต้องเปิดให้ผู้ถือหุ้นสัญชาติอาเซียน สามารถถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายในปี 2551 จึงต้องทบทวนของเขตความยืดหยุ่น ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 15% ของสาขาบริการทั้งหมดว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรืออาจต้องมีความยืดหยุ่นเพิ่มเติมมากกว่านั้น
เขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
อาเซียน-จีน
ไทยในฐานะ co chair ฝ่ายอาเซียนได้รายงานให้ที่ประชุทราบความคืบหน้าการเจรจา ซึ่งประเด็นปัญหาสำคัญอยู่ที่การเจรจาด้านการลงทุนที่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยที่ประชุมขอให้คณะเจรจาพยายามเร่งหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว โดยให้ยึดแนวทาง 3 ด้านนี้ประกอบ คือ 1) ให้มีกลไกที่จะหารือเกี่ยวกับอุปสรรค/ปัญหาด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนในอนาคต 2) อาเซียนจะต้องได้รับการปฏิบัติที่ดีเทียบเท่ากับคู่เจรจา FTA อื่นๆ ของจีน และ 3)ให้มีองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
อาเซียน-ญี่ปุ่น
ที่ประชุมเห็นชอบที่จะเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนและญี่ปุ่นเป็นผู้ลงนามความตกลง ซึ่งสามารถสรุปผลได้แล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยช่วงเวลาที่มีความเป็นได้ในการลงนามความตกลงดังกล่าว คือ ในช่วงการประชุม AEM Retreat ในเดือนพฤษภาคม 2551 ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
อาเซียน-เกาหลี
สืบเนื่องจากที่ไทยและเกาหลีสามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับความตกลงการค้าสินค้าระหว่างกันได้แล้ว ก็จะได้มีการลงนามพิธีสารเพื่อรับไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลี ในช่วงการประชุม AEM Retreat เดือนพฤษภาคม 2551 สำหรับประเด็นที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาขณะนี้ คือ เรื่องการลงทุน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลและลงนามความตกลงในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ
อาเซียน-อินเดีย
มาเลเซียรายงานให้ที่ประชุมทราบว่า ในการประชุมคณะเจรจาอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ผ่านมา (วันที่ 7-9 ม.ค. 51) มีความคืบหน้าอย่างมาก (substantive progress) คาดว่าจะได้ข้อสรุปทันกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ คือ ภายในเดือนมีนาคม ศกนี้ ขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดเตรียมรายการสินค้าที่ได้ทบทวนใหม่ของแต่ละประเทศ เพื่อส่งให้อินเดียพิจารณาก่อนสรุปผลต่อไป
อาเซียน-EU
ที่ประชุมได้หารือเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (3rd Joint Committee for the ASEAN-EU FTA Negotiations) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-1 ก.พ. 51 ที่บรัสเซล โดยอาเซียนจะได้เตรียม template ในการเจรจาเสนอต่อ EU เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ