พาณิชย์ยันความตกลง AJCEP ไม่ทำไห้ไทยเป็นแหล่งรับของเสียจากญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 12, 2008 13:53 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          “พาณิชย์” แจงเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น ไม่มีข้อตกลงใดที่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นส่งของเสียมาทิ้งในไทย เหตุไทยมีกฎหมายดูแลชัดเจน แถมมีอนุสัญญาบาเซลคุมอีกชั้น และยังใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีอื่นๆ ที่สอดคล้องกับ WTO จัดการได้ด้วย เผยปัจจุบันไทยนำเข้าของเสียจากญี่ปุ่นน้อยมาก แต่กลับส่งออกไปมากกว่า 
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่ได้ลงนามไปแล้วเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จะไม่ทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะพิษหรือของเสียอันตรายจากญี่ปุ่น หลังจากที่เคยมีความกังวลในลักษณะนี้เมื่อมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เมื่อปี 2550 เพราะไทยมีกฎหมายที่สามารถใช้ควบคุมการนำเข้าได้ คือ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และยังสามารถใช้สิทธิห้ามนำเข้าภายใต้อนุสัญญาบาเซลได้อีก
ทั้งนี้ การที่ AJCEP ได้กำหนดลักษณะของสินค้าที่จัดว่ามีแหล่งกำเนิดสินค้าในประเทศภาคีที่ตกลงจะลดภาษีนำเข้า รวมถึงสินค้าที่ไม่ได้ใช้ (Waste) และเศษ (Scrap) นั้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศภาคีจะต้องนำเข้าขยะพิษ หรือของเสียอันตรายเข้ามาแต่อย่างใด เพราะในการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย ประเทศภาคีมีสิทธิที่จะดำเนินการใดๆ ตามสิทธิของตนภายใต้อนุสัญญาบาเซลหรือความตกลงระหว่างประเทศอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของไทยเองก็สามารถใช้สิทธิดังกล่าว รวมทั้งใช้สิทธิตามกฎหมายไทยได้
นอกจากนี้ ไทยยังสามารถใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTB) ตามข้อยกเว้นทั่วไปภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ในการป้องกันและควบคุมการนำเข้าของเสียอันตรายด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยของคน พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ดังนั้น โดยสรุปไทยสามารถใช้มาตรการทุกช่องทางในการควบคุมหรือห้ามนำเข้าขยะพิษหรือของเสียอันตราย และไม่มีข้อกำหนดใดตามความตกลง AJCEP ที่ทำให้ไทยต้องนำเข้าขยะพิษจากญี่ปุ่น และที่สำคัญ ในปัจจุบันไทยมีการนำเข้าของเสียเหล่านี้น้อยมาก โดยตามสถิติในปี 2550 ปรากฎว่าไทยมีการนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากญี่ปุ่นเป็นกาก ขยะเทศบาล ตะกอนจากน้ำเสีย ของเสียอื่นๆ ในปริมาณ 27.4 ตัน แต่กลับมีการส่งออกไปญี่ปุ่น 1,839 ตัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ