กรุงเทพโพลล์: ผลโพลล์สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556”

ข่าวผลสำรวจ Tuesday August 14, 2012 09:08 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 51.6 % สนับสนุนให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้เงินงบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากกว่าการลดหนี้สาธารณะ แต่ 57.8 % ห่วงปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

เนื่องด้วยในวันที่ 15-17 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 ในวาระ 2 - 3 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง จำนวน 64 คน เรื่อง “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556” เพื่อผลสำรวจที่ได้จักเป็นข้อมูลประกอบการประชุมให้กับสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผลการสำรวจมีดังนี้

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 40.6 เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ประมาณการไว้ที่ จำนวน 2,197,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อน ขณะที่ร้อยละ 39.1 เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลจำนวน 300,000 ล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 39.1 เห็นว่าน่าจะขาดดุลในจำนวนเงินที่ต่ำกว่านี้ ขณะที่ร้อยละ 35.9 เห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับงบลงทุนจำนวน 448,938.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 40.6 เห็นว่าสัดส่วนงบลงทุนต่อจีดีพีน่าจะสูงกว่านี้ โดยควรอยู่ที่ระดับร้อยละ 23.4 ของวงเงินงบประมาณรวม ขณะที่ร้อยละ 32.8 เห็นว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว

ส่วนสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณคือ การทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 57.8) การใช้งบประมาณในโครงการประชานิยม (ร้อยละ 20.3) และความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินงบประมาณ(ร้อยละ 12.5) สุดท้ายเมื่อถามว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกับความจำเป็นในการใช้เงินงบประมาณ อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน ณ สถานการณ์และบริบทปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเห็นร้อยละ 51.6 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากกว่าการลดหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ไว้ดังนี้

อันดับ 1 รัฐบาลควรคำนึงถึงประสิทธิภาพของการใช้เงิน มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ

และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

อันดับ 2 รัฐบาลควรใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้าง

พื้นฐาน การพัฒนาการศึกษา มีการกระจายงบประมาณลงไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำรวมถึงช่วยสร้างความ

แข็งแกร่งให้กับอุปสงค์ภายในประเทศด้วย

อันดับ 3 รัฐบาลควรเร่งทำงบประมาณให้มีความสมดุล บริหารจัดการสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี รวมถึงไม่ควรก่อหนี้มาใช้ในโครงการประชานิยม

แต่ควรก่อหนี้มาใช้ในโครงการลงทุน

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. ความคิดเห็นที่มีต่อรัฐบาลว่าจะสามารถจัดเก็บงบประมาณได้ตามที่ประมาณการไว้หรือไม่ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,197,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อน
ร้อยละ 40.6             เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ตามที่ประมาณการไว้
ร้อยละ 39.1             เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
ร้อยละ 10.9             เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้
ร้อยละ 9.4              ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

2.  ความคิดเห็นที่มีต่อรัฐบาลว่าการขาดดุลในกรอบวงเงิน 300,000 ล้านบาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่  ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล จำนวน 300,000 ล้านบาท

ร้อยละ  39.1          น่าจะขาดดุลในจำนวนเงินที่ต่ำกว่านี้
ร้อยละ  35.9          เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
ร้อยละ  12.5          น่าจะขาดดุลในจำนวนเงินที่สูงกว่านี้
ร้อยละ  12.5          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

3. ความคิดเห็นต่อรายจ่ายลงทุนจำนวน 448,938.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่
ร้อยละ  40.6          น่าจะสูงกว่านี้ที่ระดับร้อยละ 23.4 โดยเฉลี่ยของวงเงินงบประมาณรวม
ร้อยละ  32.8          เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว
ร้อยละ  4.7           น่าจะต่ำกว่านี้ที่ระดับร้อยละ 10.0 โดยเฉลี่ยของวงเงินงบประมาณรวม
ร้อยละ  21.9          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

4. สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ
อันดับ 1 การทุจริตคอร์รัปชัน                                                            ร้อยละ  57.8
อันดับ 2 การใช้งบประมาณในโครงการประชานิยม                                            ร้อยละ  20.3
อันดับ 3 ความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินงบประมาณ                                        ร้อยละ  12.5
อันดับ 4 การขาดการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ                                         ร้อยละ   4.7
อันดับ 5 การขาดการติดตามการใช้งบประมาณอย่างจริงจัง                                      ร้อยละ   1.6
อันดับ 6  อื่นๆ คือ ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชน                              ร้อยละ   1.6
ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ                                                              ร้อยละ   4.7

5. ความเห็นที่มีต่อระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP กับความจำเป็นในการใช้เงินงบประมาณ  อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน
ณ สถานการณ์และบริบทปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ร้อยละ  51.6          ควรให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากกว่าการลดหนี้สาธารณะ
ร้อยละ  35.9          ควรให้ความสำคัญกับการลดหนี้สาธารณะมากกว่าการใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ
ร้อยละ  12.5          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

6.  ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำ พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556
อันดับ 1  รัฐบาลควรคำนึงถึงประสิทธิภาพของการใช้เงิน  มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ
และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อันดับ 2  รัฐบาลควรใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  การพัฒนาการศึกษา  มีการกระจายงบประมาณลงไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้น
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำรวมถึงช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุปสงค์ภายในประเทศด้วย
อันดับ 3  รัฐบาลควรเร่งทำงบประมาณให้มีความสมดุล  บริหารจัดการสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี  รวมถึงไม่ควรก่อหนี้มาใช้
ในโครงการประชานิยม  แต่ควรก่อหนี้มาใช้ในโครงการลงทุน
อันดับ 4  ภาครัฐควรมีการติดตามการใช้งบประมาณอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้มีการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส
อันดับ 5  ภาครัฐควรแยกงบด้านการลงทุนออกจากงบรายจ่ายประจำปีเพิ่มความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ,
ในกรณีที่จะมีโครงการประชานิยม การดำเนินโครงการควรอยู่ในรูปแบบสวัสดิการมากกว่าการลดภาษี  เป็นต้น

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสะท้อนความเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโดยตรงไปยังสาธารณชนโดยผ่านช่องทางสื่อมวลชน

2. เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการและวางแผนงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 27 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

รวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  25 กรกฎาคม — 10 สิงหาคม  2555

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :  14 สิงหาคม 2555
หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
                  นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

                                      จำนวน        ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
           หน่วยงานภาครัฐ                 29          45.3
           หน่วยงานภาคเอกชน              19          29.7
           สถาบันการศึกษา                 16          25.0
          รวม                           64         100.0

เพศ
            ชาย                         35          54.7
            หญิง                         29          45.3
          รวม                           64         100.0

อายุ
            26 ปี — 35 ปี                 21          32.8
            36 ปี — 45 ปี                 18          28.1
            46 ปีขึ้นไป                    25          39.1
          รวม                           64         100.0

การศึกษา
             ปริญญาตรี                     3           4.7
             ปริญญาโท                    43          67.2
             ปริญญาเอก                   18          28.1
          รวม                           64         100.0

ประสบการณ์ทำงานรวม
              1-5  ปี                    10          15.6
              6-10 ปี                    15          23.4
              11-15 ปี                    8          12.5
              16-20 ปี                    8          12.5
              ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป             23          35.9
          รวม                           64         100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ