กรุงเทพโพลล์: “เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2558 จะฝืดหรือฟื้น”

ข่าวผลสำรวจ Thursday June 18, 2015 09:32 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 56.7% ชี้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น แต่ 51.7% เชื่อสถานะทางการเงินของเกษตรกรจะยังไม่ดีเหมือนเดิมเสนอรัฐบาล เร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 25 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2558 จะฝืดหรือฟื้น” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3 – 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.7 เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ติดลบ 1.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเป็นการติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 นั้น ไม่ใช่เป็นการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ขณะที่ร้อยละ 21.7 เห็นว่าเป็นภาวะเงินฝืด เมื่อถามถึง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยสนับสนุนให้ภาคส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้หรือไม่ ร้อยละ 56.7 เห็นว่าช่วยได้ ขณะที่ร้อยละ 35.0 เห็นว่าจะไม่ช่วยและคาดว่าการส่งออกยังคงคิดลบเหมือนเดิม

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 51.7 เห็นว่าสถานะทางการเงินของเกษตรกรในช่วงครึ่งปีหลังจะยังไม่ดีเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 33.3 เห็นว่าจะดีขึ้น และร้อยละ 8.3 เห็นว่าจะแย่ลง

สุดท้ายเมื่อถามว่า “เศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 สถานการณ์น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด” ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.7 เห็นว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ร้อยละ 33.3 เห็นว่าเศรษฐกิจจะยังคงฝืดเคือง

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอประเด็นทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขหรือดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี มีดังนี้

อันดับ 1 รัฐบาลต้องเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น

อันดับ 2 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ รวมถึงเงินเดือนข้าราชการที่อนุมัติไปแล้ว

อันดับ 3 กระตุ้นการบริโภค บริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เกษตรกรอยู่ได้

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2558 เท่ากับ 106.53 ลดลง 1.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปีนั้น ภาวะดังกล่าวเป็นการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่

ร้อยละ 66.7 ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

ร้อยละ 21.7 เป็นภาวะเงินฝืด

ร้อยละ 11.6 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

2. ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า (อยู่ที่ระดับ 33.773 บาท/ดอลลาร์ ณ วันที่ 2 มิถุนายน) ช่วยสนับสนุนให้ภาคส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้หรือไม่

ร้อยละ 56.7 เงินบาทที่อ่อนค่าคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

ร้อยละ 35.0 เงินบาทที่อ่อนค่าจะไม่ช่วยให้การส่งออกขยายตัวและคาดว่าการส่งออกยังคงคิดลบเหมือนเดิม

ร้อยละ 8.3 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

3. ภาพรวมสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะทางการเงินของเกษตรกร (ชาวนา ชาวไร่) ในช่วงครึ่งหลังของปีจะปรับตัวเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2558

ร้อยละ 51.7 ไม่ดีเหมือนเดิม

ร้อยละ 33.3 ดีขึ้น

ร้อยละ 8.3 แย่ลง

ร้อยละ 6.7 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

4. เศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 สถานการณ์น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

ร้อยละ 56.7 เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

ร้อยละ 33.3 เศรษฐกิจจะยังคงฝืดเคือง

ร้อยละ 10.0 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

5. ประเด็นใดทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขหรือดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี

อันดับ 1 รัฐบาลต้องเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น

อันดับ 2 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ รวมถึงเงินเดือนข้าราชการที่อนุมัติไปแล้ว

อันดับ 3 กระตุ้นการบริโภค บริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เกษตรกรอยู่ได้

อันดับ 4 กระตุ้นการส่งออก รวมถึงดูภาคการท่องเที่ยวให้มีการขยายตัวมากขึ้น

อันดับ 5 อื่นๆ ได้แก่ ลดอุปสรรคด้านการลงทุน กฎระเบียบศุลกากร แก้ปัญหาการผูกขาดทางการค้า รวมถึงควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

หมายเหตุ:  รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
          นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด
                                                        รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์
          สะท้อนความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2558 ในประเด็น แนวโน้มการส่งออก ความเป็นอยู่ของเกษตรกร สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงความคิดเห็นต่อภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบ เพื่อให้ประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรับทราบ  และนำไปใช้ประกอบการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจและธุรกิจต่อไป

กลุ่มตัวอย่าง
          เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย  ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย  บริษัทหลักทรัพย์ภัทร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย  บริษัททิพยประกันชีวิต คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล
          การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล          :  3 – 15 มิถุนายน 2558

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ              :  17 มิถุนายน 2558

                      ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

                                                  จำนวน     ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
          หน่วยงานภาครัฐ                               37      61.6
          หน่วยงานภาคเอกชน                            16      26.7
          สถาบันการศึกษา                                7      11.7
          รวม                                        60     100.0
เพศ
          ชาย                                        35      58.3
          หญิง                                        25      41.7
          รวม                                        60     100.0
อายุ
          26 ปี – 35 ปี                                 8      13.4
          36 ปี – 45 ปี                                32      53.3
          46 ปีขึ้นไป                                   20      33.3
          รวม                                        60     100.0
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                     3       5.0
          ปริญญาโท                                    44      73.3
          ปริญญาเอก                                   13      21.7
          รวม                                        60     100.0
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                      4       6.7
          6-10 ปี                                     15      25.0
          11-15 ปี                                    15      25.0
          16-20 ปี                                     9      15.0
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                              17      28.3
          รวม                                        60       100

          --ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ