กรุงเทพโพลล์: “ปรับค่าแรงขั้นต่ำกับความหวังของแรงงานไทย”

ข่าวผลสำรวจ Tuesday April 30, 2019 09:03 —กรุงเทพโพลล์

ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 61.7% หวังอยากได้ค่าแรง 400 บาท หากได้รัฐบาลใหม่ 85.9% กังวลว่าข้าวของราคาแพงขึ้น 79.0% ฝากความหวังให้ รัฐบาลใหม่ควบคุมราคาสินค้า ไม่ให้กระทบค่าครองชีพ 62.0% สนใจอยากพัฒนาทักษะแรงงาน สำหรับงานและอาชีพแต่ละระดับให้เป็นมาตรฐาน เพื่อเข้าสู่ การพิจารณาปรับค่าแรงมาตรฐานให้สูงขึ้น

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ปรับค่าแรงขั้นต่ำกับความหวังของแรงงานไทย” โดย เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้แรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,160 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 42.1 ระบุว่าปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับ ในแต่ละวันพอดีกับค่าใช้จ่ายจึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ขณะที่ร้อยละ 31.6 ระบุว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ส่วนร้อยละ 26.3 ระบุว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม

เมื่อถามว่านโยบายหาเสียงเลือกตั้งค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทจากพรรคการเมืองต่างๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 เห็นว่ามีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 49.5 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าหากได้รัฐบาลใหม่แล้ว คาดหวังกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.7 ระบุว่าคาดหวัง โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 43.0 หวังว่าจะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเลยในทันที รองลงมาร้อยละ 15.3 หวังว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 400 บาทภายใน 1-2 ปี และร้อยละ 3.4 หวังว่าไม่เกิน 3 ปี จะได้ค่าแรงถึง 400 บาท ขณะที่ร้อยละ 38.3 ไม่ได้คาดหวัง

ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาทคือ ข้าวของราคาแพงขึ้น คิดเป็นร้อยละ85.9 รองลงมาคือ ค่าแรงขั้นต่ำ จะไม่ขึ้นอีกหลายปี คิดเป็นร้อยละ 21.6 และตกงาน โดนเลิกจ้าง คิดเป็นร้อยละ 21.0

เมื่อถามว่าหากภาครัฐมีการพัฒนาทักษะแรงงาน สำหรับงานและอาชีพแต่ละระดับให้เป็นมาตรฐาน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาปรับค่าแรงมาตรฐานให้สูงขึ้น ท่านสนใจจะเข้าร่วมมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.0 สนใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ38.0 สนใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

สุดท้ายในฐานะแรงงานไทย อยากฝากความหวังอะไรกับรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.0อยากให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค พื้นฐานไม่ให้ขึ้นราคา กระทบค่าครองชีพ รองลงมาร้อยละ 53.6 อยากให้ดูแลสวัสดิการความปลอดภัย ค่ารักษาพยาบาลแก่แรงงาน และร้อยละ 37.7 อยากให้ รัฐบาลเร่งรัดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดภาวการณ์ว่างงาน

โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้

1. ข้อคำถาม “ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่”
พอดีกับค่าใช้จ่ายจึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม                    ร้อยละ   42.1
ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม                      ร้อยละ   31.6
เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม                         ร้อยละ   26.3

2. นโยบายหาเสียงเลือกตั้งค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทจากพรรคการเมืองต่างๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด
มีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด                                 ร้อยละ   50.5
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 37.9 และน้อยที่สุดร้อยละ 12.6)
มีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด                                 ร้อยละ   49.5
(โดยแบ่งเป็นมากที่สุดร้อยละ 6.9 และค่อนข้างมากร้อยละ 42.6)

3. ข้อคำถาม “หากได้รัฐบาลใหม่แล้ว ท่านคาดหวังกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างไร”
คาดหวัง                                               ร้อยละ   61.7

โดย หวังว่าจะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเลยในทันที ร้อยละ 43.0

หวังว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 400 บาทภายใน 1-2 ปี ร้อยละ 15.3

             หวังว่าไม่เกิน 3 ปี จะได้ค่าแรงถึง 400 บาท      ร้อยละ    3.4
ไม่ได้คาดหวัง                                           ร้อยละ   38.3

4. เรื่องที่กังวลหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ข้าวของราคาแพงขึ้น                                      ร้อยละ   85.9
ค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี                               ร้อยละ   21.6
ตกงาน โดนเลิกจ้าง                                      ร้อยละ   21.0
ทำงานหนักขึ้น                                           ร้อยละ   18.3
แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน                              ร้อยละ   18.3
สวัสดิการน้อยลง ได้โบนัสลดลง                              ร้อยละ   12.8

5. ข้อคำถาม “หากภาครัฐมีการพัฒนาทักษะแรงงาน สำหรับงานและอาชีพแต่ละระดับให้เป็นมาตรฐาน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาปรับค่าแรงมาตรฐานให้สูงขึ้น
ท่านสนใจจะเข้าร่วมมากน้อยเพียงใด”
สนใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด                                 ร้อยละ  62.0
(โดยแบ่งเป็นมากที่สุดร้อยละ 9.0   และค่อนข้างมากร้อยละ 53.0)
สนใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด                                 ร้อยละ  38.0
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 30.8 และน้อยที่สุดร้อยละ 7.2)

6. ข้อคำถาม “ในฐานะแรงงานไทย ท่านอยากฝากความหวังอะไรกับรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น” (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
อยากให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค พื้นฐานไม่ให้ขึ้นราคา กระทบค่าครองชีพ     ร้อยละ  79.0
อยากให้ดูแลสวัสดิการความปลอดภัย ค่ารักษาพยาบาลแก่แรงงาน                  ร้อยละ  53.6
อยากให้รัฐบาลเร่งรัดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดภาวการณ์ว่างงาน              ร้อยละ  37.7
อยากให้มีสวัสดิการโบนัสแก่แรงงานในทุกๆปี                                 ร้อยละ  36.2
อยากให้มีสวัสดิการเกี่ยวกับผู้เกษียณอายุ ผู้สูงอายุ                             ร้อยละ  34.5
อยากให้มีสวัสดิการที่พัก ที่อยู่อาศัยแก่แรงงาน                                ร้อยละ  24.5
อยากให้มีกฎหมายแบ่งแยกแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวให้ชัดเจน                ร้อยละ  23.7

รายละเอียดการสำรวจ

วัตถุประสงค์การสำรวจ

1) เพื่อต้องสะท้อนค่าแรงที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่

2) เพื่อต้องการทราบถึงนโยบายหาเสียงเลือกตั้งค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทจากพรรคการเมืองต่างๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกมากน้อยเพียงใด

3) เพื่อสะท้อนความคาดหวังและเรื่องที่กังวลหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หากได้รัฐบาลใหม่แล้ว

4) เพื่อต้องการทราบถึงสนใจมากน้อยเพียงใด หากภาครัฐมีการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาปรับค่าแรงมาตรฐานให้สูงขึ้น

ประชากรที่สนใจศึกษา

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มแรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 19 เขต จากทั้งหมด 50 เขต แบ่งเป็นเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่ คลองเตย จตุจักร จอมทอง ดอนเมือง บางกอกน้อย บางขุนเทียน บางเขน บางคอแหลม บางนา บางบอน บางรัก ปทุมวัน ประเวศ พระโขนง ราษฎร์บูรณะ วังทองหลาง วัฒนา สวนหลวง สายไหม และปริมณฑล 2 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรปราการ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) จากนั้นใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,160 คน

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว (face to face interview) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบ ด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 23 – 26 เมษายน 2562

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 30 เมษายน 2562

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ