ประชาชนส่วนใหญ่ 95.7% เห็นด้วยกับการทำให้รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย โดย 70.5% เห็นว่ารถรับจ้างสาธารณะ ผ่านแอปพลิเคชันสร้างทางเลือกให้ผู้โดยสาร
ทั้งนี้ 71.6% เห็นประโยชน์ด้านความปลอดภัย รองลงมาคือ 62.4% ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และ สะดวกใช้งานง่าย 67.9% ชี้หากถูกกฎหมายแล้วอยาก ให้มีข้อบังคับมารยาท รองลงมาคือ 56.7% มีเรทค่าโดยสารที่เป็นธรรม
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อรถรับจ้างสาธารณะ ผ่านแอปพลิเคชันแบบถูกกฎหมาย” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,150 คน พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.5 เห็นว่ารถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันสร้างทางเลือกให้ผู้โดยสารไม่ผูกขาดการเดินทาง รองลงมาคือ ทันสมัย สมาร์ทแท็กซี่ คิดเป็นร้อยละ 40.6 และยุ่งยากต้องใช้อินเทอร์เน็ตคิดเป็น ร้อยละ 22.6
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการทำให้รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันเถูกกฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.7 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 3.9 ไม่เห็นด้วย ที่เหลือร้อยละ 0.4 ไม่แน่ใจ
ส่วนเมื่อถามว่าถ้ารถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้โดยสารพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.6 เห็นว่าปลอดภัย เพราะมีข้อมูลผู้ขับ และทะเบียนรถเป็นหลักฐานในแอปฯ รองลงมามีร้อยละ 62.4 เท่ากัน เห็นว่าไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสะดวก ใช้งานที่ง่าย ทั้งเวลาเรียกรถ เวลาจ่ายตัง
สำหรับเรื่องที่อยากให้เพิ่มเติมหากรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายแล้วพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.9 อยากให้มีข้อบังคับมารยาท การให้บริการของคนขับ รองลงมาร้อยละ 56.7 อยากให้มีเรทอัตราค่าโดยสารที่ยุติธรรม และร้อยละ 56.1 อยากให้มีสภาพรถใหม่พร้อมใช้งาน
โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถามดังต่อไปนี้
รายละเอียดการสำรวจ
1) เพื่อสะท้อนความเห็นต่อรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย
2) เพื่อสะท้อนถึงประโยชน์ที่ได้รับถ้ารถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายแล้ว
3) เพื่อต้องการทราบเรื่องที่อยากให้เพิ่มเติมหากรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายแล้ว
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของ กรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย
การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 12-14 พฤศจิกายน 2562
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 16 พฤศจิกายน 2562
--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--