ประชาชน 72.9 % ไม่ระบุตัวรัฐมนตรีที่มีผลงานเด่นชัด โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานเด่นสุด ก่อนปรับ ครม. อันดับ 2 อนุทิน ชาญวีรกูล และอันดับ 3 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่วนใหญ่ 52.2% อยากได้รัฐมนตรีที่มีความรู้เหมาะสมกับกระทรวง หากปรับ ครม. รูปแบบใหม่ 78.4% หวัง ครม. ชุดใหม่ ช่วยแก้ ค่าครองชีพ เศรษฐกิจ ข้าวของแพง รองลงมา 50.2% แก้ไวรัสโควิด-19
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “รัฐมนตรีผลงานโดดเด่นที่ใช่/ ที่โดน ในสายตาประชาชน ก่อนปรับ ครม.” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,202 คน พบว่า
รัฐมนตรีที่มีผลงานเด่นชัดเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม) คิดเป็นร้อยละ 11.4 รองลงมา คือ อนุทิน ชาญวีรกูล (รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงสาธารณสุข) คิดเป็นร้อยละ 11.3 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) คิดเป็นร้อยละ 2.6 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์) คิดเป็นร้อยละ 2.5 เฉลิมชัย ศรีอ่อน (รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (รมว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) คิดเป็นร้อยละ 1.6 เท่ากัน ขณะที่ร้อยละ 72.9 ไม่ระบุตัวรัฐมนตรีที่มีผลงานเด่นชัด
เมื่อถามว่าอยากได้รูปแบบ ครม. แปลกใหม่ แบบไหนที่โดนใจหากมีการปรับ ครม. ประยุทธ์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.2 อยากให้มีรัฐมนตรีที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เหมาะสมกับภาระหน้าที่ของกระทรวง รองลงมาร้อยละ 51.5 อยากให้มีรัฐมนตรีที่แก้ปัญหาด้านต่างๆ ให้ประชาชนอย่างจริงจัง ตรงจุด และร้อยละ 33.2 อยากให้มีรัฐมนตรี ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย / ไม่มีประวัติทุจริต
นอกจากนี้เมื่อถามว่า หากมีการปรับ ครม. แล้ว เรื่องที่อยากเห็นการแก้ปัญหามากที่สุดจาก ครม. ชุดใหม่พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.4 อยากให้แก้ปัญหาค่าครองชีพ เศรษฐกิจ ข้าวของแพง รองลงมาร้อยละ 50.2 อยากให้ควบคุมการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 และร้อยละ 45.9 อยากให้ช่วยเหลือเกษตรกร ประกันราคาสินค้าเกษตร
โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถามดังต่อไปนี้
รายละเอียดการสำรวจ
1) เพื่อสะท้อนถึงรัฐมนตรีที่มีผลงานเด่นชัดเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุด
2) เพื่อสะท้อนรูปแบบ ครม. แปลกใหม่ แบบไหนที่โดนใจหากมีการปรับ ครม. ประยุทธ์
3) เพื่อสะท้อนเรื่องที่อยากเห็นการแก้ปัญหามากที่สุดจาก ครม. ชุดใหม่
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95
ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วย ข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 3-4 มีนาคม 2563
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 7 มีนาคม 2563
ที่มา: ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์