FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 27
ปัญหาตลาดทุนไทยและการพัฒนาในระยะต่อไป
เทียนทิพ สุพานิช
ตลาดทุนไม่ได้มีบทบาทเพื่อเป็นแหล่งเก็งกำไร แต่เป็นแหล่งสำคัญในการออมเงินและระดมทุนของภาคธุรกิจและภาครัฐ จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าที่ผ่านมาตลาดทุนไทยมีพัฒนาการและการเติบโตที่ล่าช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค หากสภาวะดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ตลาดทุนไทยอาจเข้าสู่ภาวะชะงักงันและถูกลดบทบาทในเวทีโลก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
เรื่องตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นมุมมองที่คนทั่วไปอาจไม่ให้ความสนใจมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการเงินไทยมีธนาคารพาณิชย์เป็นหัวจักรสำคัญในการเป็นตัวกลางทางการเงินระหว่างผู้ออมและผู้ลงทุนอยู่แล้ว และเมื่อนึกถึงตลาดทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น คนส่วนใหญ่มักไม่มีความรู้เพียงพอ คิดว่าตลาดทุนเป็นเพียงเครื่องมือในการเก็งกำไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตลาดทุนเป็นแหล่งทางเลือกสำคัญในการออมเงินของประชาชนและเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจและภาครัฐ โดยการระดมทุนผ่านตลาดทุนช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจเนื่องจากตลาดทุนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ต่างจากในตลาดเงินที่ต้องเสีย spread ให้กับสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ตลาดทุนมีส่วนช่วยกระจายความเสี่ยงของระบบการเงิน เพราะความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดทุนถูกกระจายไปยังผู้ลงทุน และผู้ลงทุนในตลาดทุนสามารถขายหุ้นในตลาดรองได้ ขณะที่ความเสี่ยงจากการฝากเงินกระจุกอยู่ที่สถาบันการเงินและผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระหากต้องมีการเข้าพยุงฐานะของสถาบันการเงินโดยรัฐบาล
ในยุคที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ตลาดทุนนับวันจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับระบบการเงินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยามเกิดวิกฤติ เห็นได้จากบทบาทของตลาดทุนในการระดมทุนช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจไทยระหว่างปี 2541-2543 เมื่อระบบสถาบันการเงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ
ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว คำถามที่สำคัญคือ ตลาดทุนของไทยกำลังเดินหน้าไปในจังหวะที่เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือไม่
หากพิจารณาสภาวะตลาดทุนไทยในปัจจุบัน พบว่ายังมีปัญหาที่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดหลายประการ เช่น จำนวนนักลงทุนสถาบันยังคงมีจำกัด ฐานนักลงทุนรายย่อยมีจำนวนน้อย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินยังขาดความหลากหลาย ต้นทุนการทำธุรกรรมสูง และการบังคับใช้กฎหมายยังขาดประสิทธิภาพ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้มีผลทำให้ในภาพรวมตลาดทุนไทยมีพัฒนาการล่าช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค โดยขนาดของตลาดตราสารทุนเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ (GDP) อยู่เพียง 81% และจำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่มีน้อยลงเป็นลำดับ โดยมีบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดเพียง 541 บริษัท
ยิ่งเมื่อเทียบกับตลาดทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ตลาดทุนไทยมีขนาดเล็กมากและสะท้อนบทบาททางเศรษฐกิจที่ยังจำกัด โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2554 ตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็กกว่า NYSE Euronext ของสหรัฐฯ ถึง 55.2 เท่า
ในด้านผู้ลงทุน เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนผู้ลงทุนต่อประชากรแล้ว เห็นได้ว่าคนไทยออมเงินผ่านตลาดทุนในสัดส่วนที่น้อย โดยสัดส่วนผู้ลงทุนไทยต่อจำนวนประชากรไทยมีเพียง 1.1% เท่านั้น ในขณะที่ประชากรในประเทศของฮ่องกงและสิงคโปร์ให้ความสนใจในตลาดทุนมากถึงประมาณ 30%
ในด้านการระดมทุน รูปแบบการระดมทุนที่พบเห็นโดยทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว คือ บริษัทขนาดใหญ่จะพึ่งพิงเงินทุนจากตลาดทุนเป็นหลัก ขณะที่ SMEs ใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เป็นแหล่งเงินทุนหลัก แต่ในกรณีของประเทศไทย SMEs ยังคงมีปัญหาในการระดมทุน โดยเฉพาะการใช้สินเชื่อจากระบบธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มักจะให้บริการสินเชื่อกับบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า เพราะถือเป็นลูกค้าชั้นดีและมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ดังนั้นหากตลาดทุนไทยมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น บริษัทขนาดใหญ่จะมีแนวโน้มใช้เงินทุนจากตลาดทุนมากขึ้น และผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัว โดยขยายบริการของธนาคารสู่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น SMEs มากขึ้นในที่สุด
เป็นที่น่าเสียดายว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดทุนไทยมีการเติบโตที่ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนได้จากมูลค่าการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) ของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นน้อย โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางส่วนใหญ่ของประเทศไม่ให้ความสำคัญกับการระดมทุนผ่านตลาดทุนมากนัก อีกทั้งเมื่อมีการจดทะเบียนแล้ว การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อระดมทุน (secondary listing) ยังมีกระบวนการที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นและมีขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การเพิ่มทุนต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้งที่ดำเนินการ ทำให้เกิดความล่าช้า ไม่สามารถระดมทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม หากสิ่งเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป อาจจะทำให้ตลาดทุนไทยเข้าสู่ภาวะชะงักงันและถูกลดบทบาทลงในเวทีโลก (stagnation and marginalization) รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา ได้แก่
1. ขาดกลไกตลาดทุนที่ทำหน้าที่ติดตามกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการติดตามกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นพลวัต ทั้งนี้เพราะธนาคารพาณิชย์จัดสรรสินเชื่อให้แก่ธุรกิจโดยมุ่งพิจารณาความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดเป็นหลัก ขณะที่นักลงทุนสามารถตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นโดยติดตามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ทุกวัน นอกจากนี้ ธุรกิจยังถูกติดตามโดยนักวิเคราะห์หุ้น ทำให้ธุรกิจถูกเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในลักษณะข้ามอุตสาหกรรมและในอุตสาหกรรมเดียวกันข้ามประเทศ และตราสารหนี้ของธุรกิจก็จะถูกวิเคราะห์โดยหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency) อย่างต่อเนื่อง
2. ขาดเครื่องมือการออมระยะยาว สำหรับสังคมผู้สูงอายุ ในช่วง 35 ปี (2518-2553) ที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.9% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ
ผลิตภัณฑ์ตลาดทุน เช่น กรมธรรม์ประกัน ชีวิตแบบบำนาญ ตราสารหนี้เพื่อนักลงทุนบุคคล จึงเป็นทางเลือกในการออมที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและช่วยสร้างหลักประกันด้านรายได้ในระยะยาวแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อประชากรไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขณะที่การพึ่งพิงสมาชิกในครอบครัวทำได้น้อยลง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่เหมาะสมกับประชากรแต่ละกลุ่มและแต่ละช่วงอายุจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการออม และเพิ่มสวัสดิการสังคมของประเทศ
3. ขาดเครื่องมือตลาดทุนที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) ที่เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกให้กับ SMEs มีขนาดเล็กมากในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย (ตารางที่ 1) ส่งผลให้ SMEs ไทยขาดทางเลือกในการระดมทุนนอกเหนือจากการพึ่งพาเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์หรือการใช้เงินทุนของตนเองเป็นหลัก
4. ขาดกลไกที่จะช่วยลดภาระการคลังของภาครัฐบาล ในภาวะปกติ ตลาดตราสารหนี้ที่มีประสิทธิภาพช่วยลดภาระของภาครัฐในการระดมทุน นอกจากนี้ กลไกตลาดทุนยังช่วยเสริมสร้างบรรษัทภิบาลแก่ธุรกิจ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ที่ผ่านมารายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทจดทะเบียนเป็นฐานรายได้สำคัญของรัฐบาล (23% ของรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลมาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) โดยจากข้อมูลในอดีตพบว่า มูลค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วง 3 ปีหลังเข้าจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 106% เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีก่อนเข้าจดทะเบียน
จากความสำคัญของตลาดทุนและปัญหาความล้าหลังหลายประการที่ตลาดทุนไทยเผชิญอยู่ คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้ร่างแผน พัฒนาตลาดทุนไทยฉบับแรก สำหรับปี2552-2556 โดยกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจ เพื่อผลักดันให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีตลาดทุนโลก ดังนี้ พันธกิจที่ 1 ให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนสามารถเข้าถึงตลาดได้โดยง่ายและทั่วถึง พันธกิจ ที่ 2 พัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าและบริการ พันธกิจที่ 3 ลดต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) และต้นทุนการทำธุรกรรม (intermediary and transaction cost) ให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ พันธกิจที่ 4 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพทั้งทางด้านกฎหมาย ระเบียบ บัญชีภาษี ข้อมูล เทคโนโลยี และการกำกับดูแล พันธกิจที่ 5 ให้ผู้ลงทุนมีความรู้และได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม พันธกิจที่ 6 ส่งเสริมการแข่งขันในตลาดทุนไทย และความเชื่อมโยงกับตลาดทุนโลก
สำหรับการดำเนินการเพื่อให้บรรลุพันธ กิจอย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการฯ มีมาตรการ 8 ประการ ได้แก่ 1. การยกเลิกการผูกขาดและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ 2. การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง ซึ่งรวมถึงการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ 3. การปฏิรูปกฎหมายสำหรับการพัฒนาตลาดทุน 4. การปรับปรุงระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุน 5. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 6. การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 7. การสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และ 8. การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผลักดันให้แผนพัฒนาตลาดทุนไทยมีความคืบหน้าในทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่จดทะเบียนใน MAI การเพิ่มความยืดหยุ่นของ secondary offerings และการเสนอกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการควบรวมกิจการ เป็นต้น
การบรรลุพันธกิจและการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้น คาดว่านอกจากจะพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความลึกและกว้างมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการออมเพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงเชื่อมโยงตลาดทุนไทยและตลาดทุนโลก เพื่อป้องกันการตกขบวนรถไฟในยุคของการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายและการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
เทียนทิพ สุพานิช
หัวหน้านักวิจัย
ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ
สายนโยบายการเงิน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย