รายงานแนวโน้มธุรกิจ ไตรมาส 2 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 13:46 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สรุปภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 และแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2553

บทคัดย่อ
  • การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดขายสินค้าคงทน (Durable Goods) เช่น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา รายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น และการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ในไตรมาสนี้จากการที่มาตรการกระตุ้นของภาครัฐใกล้สิ้นสุดลง
  • การท่องเที่ยว ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น จากการส่งเสริมการตลาดของภาครัฐและเอกชน เช่น การลดราคาห้องพัก อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวปรับลดลงในช่วงปลายไตรมาส เนื่องจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อความไม่สงบทางการเมือง
  • การผลิตและการส่งออก ปรับตัวดีขึ้นตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกอาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ และชุดกีฬา มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวได้มากในกลุ่มประเทศอาเซียน จีน และออสเตรเลีย
  • การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งนโยบายสนับสนุนของบริษัทแม่และภาครัฐ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการลงทุนยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหามาบตาพุด รวมทั้งเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ
  • การจ้างงาน ภาวะการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและเริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมที่การผลิตเร่งตัว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ สะท้อนจากสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้ว่างงานในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการปรับตัวโดยเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน การOutsource แรงงาน และการจ้างแรงงานต่างด้าว ขณะที่อัตราค่าจ้างและผลตอบแทนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้แก่แรงงาน
  • ต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคา แรงกดดันด้านต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้างจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามความต้องการวัตถุดิบที่ขยายตัว และแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ต้นทุนการขนส่งทางเรือมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน จากพื้นที่ระวางเรือที่เริ่มจำกัดมากขึ้นในช่วงที่การส่งออกเร่งตัว
  • สินเชื่อ ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้งจากธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นและผลของนโยบายกระตุ้นภาครัฐ ทั้งนี้ มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินแก่ภาคธุรกิจยังคงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ปริมาณสินเชื่อโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสำคัญ สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และอัตราการผิดนัดชำระหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ
  • ปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้นในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงและการควบคุมราคาสินค้าของทางการ ทำให้ปรับเพิ่มราคาสินค้าได้ยากอย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเห็นว่าในภาพรวมความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายลง
  • จากการเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจ สถาบัน และสมาคมธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 204 ราย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 รวมถึงผลจากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ (Business Sentiment Survey)(*1) พบว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นการดีขึ้นในทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งในภาคการผลิต การเกษตร การท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ราคาพืชผลการเกษตรที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปรับดีขึ้นเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงกระตุ้นภาครัฐยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และส่งผลต่อจิตวิทยาความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้น ในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงและการควบคุมราคาสินค้าของทางการ ทำให้การปรับเพิ่มราคาสินค้าทำได้ยาก
การบริโภคภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดขายสินค้าคงทน (Durable Goods) อาทิ รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยยอดขายรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นมาก สะท้อนจากยอดจองรถยนต์จำนวน 27,878 คันในงาน Motor Show ที่จัดในช่วงต้นปี 2553 ซึ่งสูงกว่ายอดจองรถยนต์ 25,220 คัน ของงาน Motor Expo ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยรถยนต์ที่ขายดีได้แก่รถยนต์รุ่นใหม่ขนาดเล็กต่ำกว่า 1,500 ซี.ซี. และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ Eco Car(*2)

เป็นที่น่าสังเกตว่าการบริโภคสินค้าคงทนขยายตัวจากไตรมาสก่อนสูงกว่าการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น หมวดอาหาร เนื่องจากประชาชนได้การเลื่อนการบริโภคสินค้าคงทนซึ่งมีราคาสูงจากปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มาเป็นการบริโภคในปี 2553 นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น3 การใช้นโยบายส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากรายได้ภาคการเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพืชผลหลัก โดยเฉพาะยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง และจากรายได้นอกภาคการเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้การบริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตแล้ว สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีการบริโภคภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าการอุปโภคบริโภคยังคงมีทิศทางที่ดีขึ้น จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง ภาวะการจ้างงานที่ขยายตัวดีและอัตราการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการอย่างไรก็ตามปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยหากสถานการณ์ทางการเมืองมีความยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการจ้างงาน จะบั่นทอนศักยภาพในการบริโภคของประชาชนในระยะต่อไปได้

การท่องเที่ยว

ภาวะธุรกิจการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะชะลอลงบ้างในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553 จากสถานการณ์ทางการเมือง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งเสริมการตลาดของภาครัฐและเอกชน เช่น การลดราคาห้องพัก โดยนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียขยายตัวได้ดี เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มสแกนดิเนเวียนเริ่มกลับเข้ามาตามปกติ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังฟื้นตัวช้า สาเหตุที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียฟื้นตัวเร็วกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินเร็วกว่า แต่มีข้อสังเกต(*4) คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียมีค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อวันต่ำกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น โดยอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อวัน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปหรือสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่าย 4,200 บาทต่อวัน และนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียมีจำนวนวันพักเฉลี่ยค่อนข้างสั้นกว่ากลุ่มอื่นอยู่ที่ 6-7 วันต่อทริป ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมีจำนวนวันพักเฉลี่ย 13-15 วันต่อทริป ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเพิ่มนักท่องเที่ยวเอเชียจำนวน 1.4-2.4 คน จึงจะสามารถสร้างรายรับเท่ากับการเพิ่มนักท่องเที่ยวตะวันตก 1 คน

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลง เนื่องจากความไม่มี เสถียรภาพทางการเมือง โดยนักท่องเที่ยวบางส่วนได้ยกเลิกการเดินทางมาไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ความไม่สงบ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวกลุ่มประชุมสัมมนาซึ่งเป็นลูกค้าหลักของโรงแรมขนาดใหญ่ ประกอบกับธุรกิจท่องเที่ยวใตรมาสที่ 2 อยู่ในช่วง Low Season และการแข่งขันสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการประเมินว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวต่อเนื่องไปถึงช่วง High Season ในปลายปี 2553 เนื่องจากต้องใช้เวลาในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2553 น่าจะต่ำกว่าเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ประมาณการไว้จำนวน 16 ล้านคน

การผลิตและการส่งออก

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 การผลิตและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ โดยการส่งออกขยายตัวสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน จีน และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอกลุ่มเส้นใยประดิษฐ์ เป็นผลสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีการผลิตและดัชนีคำสั่งซื้อที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ เป็นที่น่าสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนหนึ่งเป็นผลจากส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทคู่แข่งไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามคำสั่งซื้อเพราะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการลดคนงานบางส่วนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากยอดขายในประเทศในไตรมาสที่ 1 จำนวน 166,802 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้นมาก โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นและการแข่งขันปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ด้านยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 72.3 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤต เปรียบเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 73.3

ในไตรมาส 2 ปี 2553 แนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคเอกชน และความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อาทิ Hard Disk Drive (HDD) และ Solid State Drive (SSD) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภท Smartphone5 เป็นต้น สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มภาพและเสียง รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศมียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากฤดูร้อนในปีนี้มีอากาศร้อนกว่าปกติจากปรากฏการณ์เอลนิโญ

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมรถยนต์ ผู้ประกอบการคาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิม จากปัจจัยเอื้อต่างๆ ได้แก่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเปิดตลาดใหม่ภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยในไตรมาสที่ 2 จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบรถที่จองไว้ในงาน Motor Show สำหรับประมาณการยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2553 ผู้ประกอบการได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,400,000 คัน จากประมาณการเดิม 1,200,000 คัน โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 600,000 คัน และปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 800,000 คัน จากเดิม 600,000 คัน

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบจากอุตสาหกรรมที่ครบวงจรในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำมีความสามารถในการแข่งขันและไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากนัก ในขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำซึ่งมีการแข่งขันรุนแรง ผู้ประกอบการกลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขันยังสามารถไปได้ดี โดยไทยเป็นฐานในการผลิตชุดกีฬา เสื้อผ้าเด็ก ชุดชั้นในสตรี และสินค้ากลุ่ม Home Textile เช่น พรม ผ้าม่าน สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนัง กลุ่มการผลิตกระเป๋าหนังยังมีแนวโน้มที่ดีและยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีการออกแบบที่ดีและการผลิตมีคุณภาพสูงกว่าจีนและเวียดนาม โดยการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น และมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ยุโรป

การลงทุนภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน มีการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index: PII) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤตแล้วอยู่ที่ 178.7 เทียบกับระดับ 177.3 ในเดือนตุลาคม 2551

ในส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน บริษัทรถยนต์หลายบริษัทเริ่มลงทุนในโครงการ Eco Car ซึ่งผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นอย่างมากสะท้อนจากยอดจองซื้อในงาน Motor Show เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิงและมีราคาถูกกว่าเพราะได้รับการสนับสนุนด้านภาษีจากทางการ6 โดยบริษัทรถยนต์ที่มีนโยบายลงทุนชัดเจนและได้รับการสนับสนุนการลงทุนในโครงการ Eco Car จากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้วมีจำนวน 6 บริษัท ได้แก่ นิสสัน ฮอนดา มิตซูบิชิ ทาทา และโตโยตา มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 43,440 ล้านบาทซึ่งจะทยอยลงทุนสร้างโรงงานและเปิดตัวรถยนต์ Eco Car รุ่นใหม่ในปี 2553-2555

การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ และการสั่งซื้อเครื่องจักรรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการผลิต ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอมีการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เสื่อมสภาพ ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อชดเชยกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs ที่ปิดตัวลงเนื่องจากขาดความสามารถในการแข่งขัน

แนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ รวมทั้งความต่อเนื่องและความเชื่อมโยงจากการลงทุนของรัฐบาลภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไปจะตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานภายในประเทศและกระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตที่มีศักยภาพทั้งด้านการผลิตและการส่งออกสะท้อนจากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 จำนวนทั้งสิ้น 311 โครงการ มูลค่า 109,100 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าลงทุนอันดับหนึ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ รองลงไปได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการลงทุนยังคงมีความเสี่ยงจากเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และ ปัญหามาบตาพุด7 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ จากความไม่ชัดเจนของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้มีกฎหมายเพื่อรองรับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 แล้วบางส่วน8 ครอบคลุมระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน EIA, HIA และการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการลงทุน รวมถึงการจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) เพื่อให้ความเห็นรายงานและการจัดทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวอสังหาริมทรัพย์

ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อุปสงค์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ต่ออาคารชุด ในส่วนอุปทานใหม่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา จากผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการประเภทอาคารชุดในบริเวณพื้นที่เขตชั้นในและชั้นกลางซึ่งใกล้สถานีรถไฟฟ้าและโครงการส่วนต่อขยาย รวมทั้งโครงการบ้าน BOI และโครงการบ้านเอื้ออาทรทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น

แรงกดดันด้านราคาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนแรงกดดันด้านราคาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8.2(*9) จากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะอาคารชุดระดับกลางและระดับบนในเขตกรุงเทพชั้นในและชั้นกลางตามแนวรถไฟฟ้า เป็นผลสำคัญจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและที่ดินในเขตใจกลางเมืองมีอยู่จำกัด อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเปิดตัวโครงการอาคารชุดในระดับกลางและล่างเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีอุปทานจากโครงการบ้าน BOI และโครงการบ้านเอื้ออาทร ส่งผลให้ระดับราคาเฉลี่ยของอาคารชุดไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่ายังไม่มีอุปทานส่วนเกินในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทนี้ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากอัตราโอนกรรมสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 60 ในอดีต เป็นร้อยละ 93 ในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่ออยู่อาศัยเองและการลงทุน จากแรงจูงใจด้านอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการตัดสินใจซื้อและการให้เช่าอาคารชุดให้ผลตอบแทนที่ดีประมาณร้อยละ 4-7 สำหรับสัญญาณฟองสบู่(Bubble) ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในระดับต่ำ จากผู้ซื้ออาคารชุดเพื่อเก็งกำไรมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากผู้ประกอบการระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การสร้างโครงการทีละ Phase ให้สอดคล้องกับอุปสงค์ การกำหนดให้ผู้บริโภคสามารถซื้ออาคารชุดได้เพียงจำนวนจำกัดเพื่อป้องกันการเก็งกำไร นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม สัดส่วนมูลค่าที่อยู่อาศัยคงเหลือต่อ GDP มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0

แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2 ปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์จะทรงตัว โดยมีปัจจัยเอื้อจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะช่วยให้ยอดขายและสินเชื่อเติบโตขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดมาตรการ(*10) ขณะที่หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อบ้านออกไป อย่างไรก็ดี อสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดยังคงมีแนวโน้มเติบโตมากกว่าบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ทั้งนี้โดยทั่วไป ปัจจัยที่กระทบอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และ ภาวะการมีงานทำ มากกว่าปัจจัยทางการเมือง

การจ้างงาน

ภาวะการจ้างงานโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยการจ้างงานภาคการเกษตรขยายตัวดี ตามการขยายตัวของผลผลิตที่สำคัญ คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวในทุกภาคการผลิต สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีการจ้างงานในปัจจุบันที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ และอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง(*11) หลายอุตสาหกรรมที่การผลิตเร่งตัวขึ้น อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานมีทักษะและแรงงานไร้ฝีมือจากภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้ว่างงาน(*12) ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น

ผู้ประกอบการเห็นว่าการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีสาเหตุหลายประการ ได้แก่ 1.แรงงานที่เลิกจ้างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจได้ย้ายไปทำงานในภาคเกษตรเนื่องจากราคาพืชผลอยู่ในระดับสูง 2.แรงงานระดับล่างซึ่งเป็นลูกจ้าง Outsource และจ้างเป็นรายวัน มีแนวโน้มจะย้ายไปทำงานที่โรงงานอื่นทันทีหากได้รับค่าจ้างสูงกว่า 3.แรงงานเลือกที่จะไม่ทำงานในโรงงานเนื่องจากไม่ต้องการทำงานหนัก สกปรก หรือเสี่ยงอันตราย 4.แรงงานเฉพาะทางขาดแคลน เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค ทำให้เกิดการแย่งแรงงานภายในอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการได้ปรับตัวโดย 1.เพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงานที่มีอยู่ 2.การ Outsource แรงงานนอกบริษัท 3.การจ้างแรงงานจากพื้นที่ที่ไกลออกไปหรือจากจังหวัดใกล้เคียงโดยการจัดรถรับส่งเช่น อุตสาหกรรมอาหารในสมุทรสงครามจ้างแรงงานจากราชบุรีและเพชรบุรี 4.การจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและ 5.ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างและผลตอบแทนในปี 2553 เพื่อให้แข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้ในภาวะตลาดแรงงานตึงตัวเพื่อจูงใจให้แรงงานมาทำงานกับบริษัท โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในรูปตัวเงินมากกว่าสวัสดิการ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น

ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า

การคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เป็นต้นทุนใน 12 เดือนข้างหน้า
(%)        < 3%   3-6%   6-9%  9-12%  > 12%  ค่าเฉลี่ย
ธ.ค. 52    53.1   34.5    8.3    2.1   2.1    3.9
ม.ค. 53    51.7   34.3   10.8    1.8   1.6    4.0
ก.พ. 53    46.7   39.7   11.1    0.9   1.6    4.1
มี.ค. 53    44.3   43.2    8.7    1.8   2.0    4.2

แรงกดดันทางด้านต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้างจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามความต้องการวัตถุดิบในตลาดโลกที่ขยายตัว และแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น อาทิ เหล็กและทองแดง แรงกดดันด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับผลการสำรวจผู้ประกอบการ โดยค่าเฉลี่ยการคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เป็นต้นทุนใน 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในเดือนธันวาคม 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ในเดือนมีนาคม 2553

สินเชื่อ

ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้งจากธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) การสะสมสินค้าคงคลัง และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการออกตราสารหนี้ได้ระดมเงินทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ธุรกิจที่ออกตราสารหนี้มูลค่ามากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ธุรกิจตัวกลางทางการเงิน ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ

ด้านความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้ง สินเชื่อบัตรเครดิต(*13) สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ(*14) จากการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเร่งซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เงื่อนไขการกู้ยืมที่จูงใจ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

สำหรับมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามความมั่นใจของสถาบันการเงินต่อมุมมองความเสี่ยง (Risk perception) ในด้านภาวะเศรษฐกิจทั่วไปและสภาพอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นด้านมาตรฐานการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่อนคลายจากไตรมาสก่อน ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ เข้มงวดขึ้นเล็กน้อย จากความกังวลด้านความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของผู้กู้ สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และอัตราผิดนัดชำระหนี้โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าความต้องการสินเชื่อของธุรกิจโดยรวมจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นของรัฐ ส่งผลให้ภาคเอกชนต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่มีแผนจะระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า และผู้ประกอบการคาดว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีด้านแนวโน้มมาตรฐานการให้สินเชื่อทุกประเภทในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะผ่อนคลายเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เนื่องจากความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มคลี่คลายลง

ปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ 3 ลำดับแรกในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ได้แก่ อันดับแรก คือ ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการต่อวิกฤตการเมืองที่อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ อันดับสอง คือ การปรับราคาสินค้าที่ทำได้ยาก เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ และการควบคุมราคาสินค้าของทางการอันดับสาม คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งปรับลดลงจากที่เคยเป็นข้อจำกัดอันดับหนึ่งติดต่อกันในหลายไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มคลี่คลายลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีความชัดเจนขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียน

ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ                     ธ.ค. 52     ม.ค. 53    ก.พ. 53    มี.ค. 53
1.ความไม่แน่นอนทางการเมือง                 51.6        54.1       55.2       58.0
2. การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก                52.7        53.1       54.1       54.0
3. ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ         57.3        55.4       50.1       51.0
4. การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศ        42.3        42.1       44.2       43.7
5. ต้นทุนการผลิตสูง                         40.6        40.0       43.6       42.4
6. ความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำ          34.4        29.0       28.5       26.9
7. การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดต่างประเทศ       23.1        20.5       23.0       22.0
8. ขาดแคลนแรงงานฝีมือ                     14.0        14.0       19.2       17.1
9. ความต้องการจากตลาดต่างประเทศต่ำ         21.9        17.5       16.5       15.6
10.ขาดแคลนวัตถุดิบ                          9.5        11.8       12.1       13.9
11. ปัญหาด้านการเงิน                        9.1         9.8        8.3        8.1
12. ขาดข้อมูลในการวางแผนทางธุรกิจ            8.7         8.3        8.5        7.9
13. ไม่มีข้อจำกัด                            7.8         9.6        9.1        7.0
หมายเหตุ: ตัวเลขแสดงร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถาม
ที่มา: การสำรวจผู้ประกอบการ

          (*1) แบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Survey) เป็นแบบสอบถามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำเป็นประจำทุกเดือน โดยส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 865 ราย ครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท เช่น ภาคบริการ บริการทางการเงิน การค้า ขนส่งและคมนาคม ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค โดยมีการตอบกลับมาทั้งสิ้นประมาณ 520 รายต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 60
          (*2) รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco-car) มีมาตรฐาน 5 ข้อ ได้แก่ (1) อัตราการบริโภคน้ำมัน  5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร (2) มาตรฐานEmission Euro 4 (3) อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  120 กรัม/กิโลเมตร (4) มาตรฐานความปลอดภัย UNECE Reg.94-95 Rev.0 และ (5) ขนาดกำลังเครื่องยนต์เบนซิน 1,300 ซี.ซี. และขนาดกำลังเครื่องยนต์ดีเซล  1,400 ซี.ซี.
          (*3) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 78.3 เทียบกับระดับ 76.5 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
          (*4) ข้อมูลสำรวจโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
          (*5) Smartphone คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคุณสมบติพิเศษนอกเหนือจากการสื่อสารด้วยเสียงแบบธรรมดา เช่น การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต การรับส่งอีเมล์ Smartphone ในตลาดโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2552 สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนผู้ใช้ Smartphone ร้อยละ 21 จากเดิมมีผู้ใช้เพียงร้อยละ 14 ณ สิ้นปี 2551 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่า Smartphone จะมีส่วนแบ่งตลาดถึงครึ่งหนึ่งของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหรัฐอเมริกาภายในปี 2554 สำหรับในประเทศไทย ผู้ประกอบการคาดว่าในปี 2553 Smartphone จะมียอดขายประมาณ 8 แสนเครื่อง จากยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด 10 ล้านเครื่อง
          (*6) รถยนต์ในโครงการ Eco Car จะได้รับการสนับสนุนจากทางการดังนี้ (1) ภาษีสรรพสามิตลดลงเหลือร้อยละ 17 จากเดิมร้อยละ 30 (2) สิทธิประโยชน์ จาก BOI ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบ
          (*7) จากโครงการทั้งหมด 76 โครงการที่ศาลปกครองสั่งระงับโครงการชั่วคราว ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ 5 กลุ่ม ดังนี้
             1. โครงการที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ จำนวน 12 โครงการ
             2. โครงการที่ศาลสั่งให้สามารถดำเนินการต่อได้เฉพาะการก่อสร้าง จำนวน 9 โครงการ
             3. โครงการที่สามารถดำเนินงานต่อได้ เนื่องจากหน่วยงานราชการพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เข้าข่ายคำสั่งระงับโครงการชั่วคราวของศาลปกครอง จำนวน 11 โครงการ
             4. โครงการที่ยังถูกระงับการดำเนินงานชั่วคราว จำนวน 39 โครงการ
             5. โครงการที่ชะลอหรือยกเลิกโครงการแล้ว จำนวน 5 โครงการ
          (*8) ได้แก่ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 29 ธันวาคม 2552 เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment: EIA) รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) และแนวทางการทำประชาพิจารณ์ โครงการ (Public Hearing) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 12 มกราคม 2553 ว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ 2553 เพื่อจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ในระหว่างที่รอรัฐสภาพิจารณากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระเป็นการถาวรต่อไป
          (*9) ผลจากการศึกษาจากฐานข้อมูลสินเชื่อปล่อยใหม่ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนภายในประเทศ 17 แห่ง โดยคำนวณหา Median Price ด้วยวิธีควบคุมคุณลักษณะบางประการ (Mix Adjusted Quality) เช่น พื้นที่ และ ประเภทที่อยู่อาศัย และถ่วงน้ำหนักตามจำนวนตัวอย่างของที่อยู่อาศัยในแต่ละเขต
          (*10) มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 ได้ต่ออายุมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 ออกไปอีก 2 เดือนจากสิ้นสุดวันที่ 28 มีนาคม 2553 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 และเห็นชอบให้กรมที่ดินเปิดดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2553 และวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2553 เป็นกรณีพิเศษ
          (*11) อัตราการว่างงานปรับฤดูกาล เดือน กุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานปรับฤดูกาลที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2544
          (*12) สัดส่วนตำแหน่งงานต่อผู้ว่างงาน คำนวณจาก จำนวนตำแหน่งงานว่าง / จำนวนผู้ว่างงานหากสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้ว่างงานลดลง แสดงถึงภาวะตลาดแรงงานผ่อนคลาย ผู้ประกอบการสามารถหาแรงงานได้ง่ายขึ้นหากสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น แสดงถึงภาวะตลาดแรงงานตึงตัว ผู้ประกอบการสามารถหาแรงงานได้ยากขึ้น
          (*13) ผลการสำรวจนี้ไม่รวม Non-banks หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางทางการเงินและมีการให้บริการด้านสินเชื่อ เช่นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC), บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), บริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน), บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นต้น
          (*14) ความต้องการสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้บริหารทีม ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ E-Mail: SaovaneC@bot.or.th
           นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ เศรษฐกร NitisanP@bot.or
           นางสาวรุจา อดิศรกาญจน์ เศรษฐกร RujaA@bot.or.th

          ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ (Economic Intelligence Team)
          ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน
          ธนาคารแห่งประเทศไทย
          ที่อยู่ 273 ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
          เบอร์โทรศัพท์ 0-2283-6920, 5646
          เบอร์แฟกซ์ 0-2282-5082
          เวบไซต์ธนาคาร www.bot.or.th

          รายงานแนวโน้มธุรกิจจัดทำขึ้นโดยทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์จากข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจที่ได้จากโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคธุรกิจ (Economic/Business Information Exchange Programme between the Bank of Thailand and the Business Sector) รวมถึงการตอบกลับแบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Survey) ซึ่ง ธปท. จัดทำเป็นประจำทุกเดือน

          รายงานฉบับนี้สามารถดูได้จาก http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/BLP/Pages/index.aspx

          Disclaimer: รายงานฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่ได้สะท้อนความเห็นของ
บริษัทใดบริษัทหนึ่ง คณะกรรมการนโยบายการเงินใช้ข้อมูลนี้เพื่อประกอบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ในการวิเคราะห์และประเมินภาวะเศรษฐกิจ

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ