ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือน มิถุนายน 2559 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 17, 2016 14:24 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมิถุนายน 2559 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 (YoY) เป็นผลมาจากลดลงของราคาสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามปริมาณผลผลิตส่วนเกินในสินค้าเกษตรที่มีอยู่มาก ประกอบกับสินค้าที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบเกี่ยวเนื่อง ได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ความต้องการของตลาดคู่ค้ายังคงชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ราคายังคงปรับลดลงแต่อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวกว่าเดิม

ดัชนีราคานำเข้าเดือนมิถุนายน 2559 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3 (YoY) สาเหตุจากสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยเกิดจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกในช่วงปีก่อนและส่งผลกระทบต่อระดับราคา นอกจากนั้น ยังมีสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เหล็ก สินแร่โลหะต่างๆ เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย เป็นต้น

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 96.8 (ปี 2555 = 100) และเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 (YoY) เป็นการปรับลดลงในหมวดสินค้าสำคัญ ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม เช่น ยางพารา เนื่องจากมีผลผลิตส่วนเกินในตลาด ประกอบกับเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่มีแนวโน้มชะลอตัว และมีปริมาณสต๊อกยางสะสมเหลือจำนวนมาก สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ราคาลดลงจากผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดมากเช่นกัน หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่องและปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ล้นตลาดในช่วงก่อนหน้า และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย จากผลผลิตในตลาดโลกลดลง ประกอบกับผู้นำเข้ารายใหญ่มีแนวโน้มนำเข้าสูงขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 84.4 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 (ปี 2555 = 100) ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3 (YoY) ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่กดดันให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องมาจากการเกิดภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกในช่วงปีก่อน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งราคาที่ปรับลดลง ยังคงเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาดในช่วงก่อนหน้าเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีสินแร่โลหะต่างๆ ปุ๋ย และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ ที่ราคานำเข้าปรับตัวลดลง

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 96.8 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนพฤษภาคม 2559 เท่ากับ 96.5) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมิถุนายน 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 86.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 98.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 98.7 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 92.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะภัยแล้ง ขณะที่ตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ประกอบกับไทยได้รับการประเมินการปรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในลำดับที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอาหารทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองคำ ราคาสูงขึ้นจากปัจจัยหนุนคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คาดการณ์ว่าจะกำหนดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ความต้องทองคำในตลาดโลกสูงขึ้น สำหรับเคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า ราคาสูงขึ้นตามความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่เริ่มมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ จากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

2.2 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาดโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ทยอยปรับลดลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการบริโภคเพิ่มขึ้น

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มิถุนายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคาส่งออกปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 84.4 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนพฤษภาคม 2559 เท่ากับ 83.6) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมิถุนายน 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 50.1 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 99.0 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 90.5 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 99.3 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 93.3

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

สินค้านำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิง มีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ส่งผลต่อท่อขนส่งน้ำมันและแหล่งผลิตน้ำมันดิบในไนจีเรีย รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลง หลังจากโรงกลั่นยังคงเพิ่มปริมาณการกลั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากวัตถุดิบได้ปรับราคาสูงขึ้น จากการที่จีนได้ปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพและมีนโยบายลดกำลังการผลิตลง ราคาทองคำปรับสูงขึ้นเนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค

2.2 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 4.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง โดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ และปุ๋ย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค นมและผลิตภัณฑ์นม โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะราคาสินค้าในตลาดโลก อาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยเกิดจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการใช้ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคานำเข้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งและหมวดสินค้าทุนปรับตัวสูงขึ้น

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มิถุนายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 6.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงโดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ ปุ๋ย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง ซึ่งในภาพรวมนั้น สินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินในช่วงปีก่อน อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ราคานำหข้าได้มีการปรับตัวสูงขึ้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ