รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2016 15:14 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2559

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2559

ปัญหาเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตร ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นฯ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,459 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯมีค่า 35.70ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ที่มีค่า 36.4 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 28.4 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 29.4 รวมทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 40.6 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 41.1 โดยค่าดัชนี ทุกรายการยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ มีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน ทำให้ภาคธุรกิจของไทยต้องปรับตัว เพื่อลดต้นทุนต่างๆ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคแรงงาน แม้ว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบางตัวจะสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ก็เป็นในลักษณะการกระจุกตัว มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากขึ้น หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร กอปรกับราคาข้าวตกต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตล้นตลาดเกินความต้องการของผู้บริโภค โดยรัฐบาลได้พยายามหามาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ที่มีรายได้น้อย โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตแก่ชาวนา โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือชาวประมง รวมทั้ง การขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชน ต่อไปอีก 6 เดือน และคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 46.4 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 46.5 โดยผู้บริโภคมีความกังวลจากปัญหารายได้ ที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54.2 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 54.9 สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม      35.5      35.1      33.8      38.9      36.2      36.4      35.7

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                            พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน      29.9      29.1      27.3      33.8      29.7      29.4      28.4
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต      39.3      39.1      38.0      42.2      40.5      41.1      40.6

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      44.1      43.9      44.2      46.8      44.5      46.5      46.4

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     25.3      23.5      21.4      28.6      24.0      24.0      22.9
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      30.2      28.2      26.1      32.3      31.0      29.2      28.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน         55.4      55.4      52.8      52.5      52.9      54.9      54.2
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า          11.9      13.2      13.0      15.5      14.0      12.4      12.0
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน        22.4      22.0      19.6      23.2      20.8      18.4      18.0
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2559 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 37.2 เป็น 38.3 ภาคกลาง จาก 41.6 เป็น 42.0 ภาคเหนือ จาก 37.8 เป็น 38.1 และภาคใต้ จาก 27.9 เป็น 29.1 ภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคตะวันออก จาก 35.4 เป็น 34.5 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 37.2 เป็น 31.8 รวมทั้ง ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาดเกิน ความต้องการ ส่งผลให้ชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคาทั้งที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ความยากจนจากผลกระทบที่มาจากภัยธรรมชาติ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสะสม ความเหลื่อมล้ำของรายได้และสังคม การสาธารณูปโภคของชุมชนในท้องถิ่นยังไม่ดีพอ ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย หนี้สินเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตลดลง

2. เร่งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง เช่น ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยว และเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

3. สนับสนุนให้มีแหล่งจำหน่ายข้าว จากมือชาวนาถึงผู้บริโภคโดยตรง เพื่อระบายปริมาณข้าวและช่วยเหลือชาวนา พร้อมทั้ง ศึกษาวิจัยแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

4. หาแนวทางช่วยเหลือร้านค้าปลีกขนาดเล็กให้สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้

5. ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

6. กระตุ้นการส่งออกเพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น

ด้านสังคม

1. ป้องกันปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น

2. ปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคม

3. ส่งเสริมให้คนไทยมีความสามัคคีกันมากขึ้น

4. แก้ไขปัญหาความไม่สงบและลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

5. ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ภาคการเกษตรเพื่อช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร

6. ต้องการให้มีโรงพยาบาล/สถานพยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ในพื้นที่ตำบลที่ห่างไกล

7. แก้ไขปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ/หนี้ภาคครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปรับพฤติกรรมของประชาชนเพื่อลดการพึ่งพานโยบายจากรัฐบาลในระยะยาว

8. ส่งเสริมพัฒนาระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นต้นทุนที่มั่นคงของประเทศ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ