ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2020 15:00 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 38.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนพฤษภาคม 2563 ปรับตัวสูงขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 38.1 เมื่อเทียบกับระดับ 33.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ตามการสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 28.0 มาอยู่ที่ระดับ 32.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต สูงขึ้นจากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 42.1 และเป็นการสูงขึ้นในทุกภูมิภาค และทุกอาชีพ

การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนนี้ คาดว่าสาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจการบางส่วนกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้รับจ้างแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ เกษตรกร นักศึกษา และผู้ประกอบการ นอกจากนี้ได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ทั้งการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้า ประปา อินเตอร์เน็ต และค่าโทรศัพท์) และร่วมมือกับผู้ประกอบการจัดหาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้เพียงพอในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกอาชีพโดยกลุ่มเกษตรกร สูงขึ้นจากระดับ 34.2 เป็น 38.3 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 32.2 เป็น 35.5 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 31.1 เป็น 38.7 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 30.8 เป็น 35.6 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 40.8 เป็น 45.8 กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 34.6 เป็น 42.5 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 30.8 เป็น 33.1 การสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในทุกกลุ่ม คาดว่าเกิดจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบครอบคลุมในทุกๆ กลุ่มอาชีพ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลจากระดับ 35.7 มาอยู่ที่ระดับ 38.9 ภาคกลาง จากระดับ 35.9 มาอยู่ที่ระดับ 39.2 ภาคเหนือ จากระดับ 32.1 มาอยู่ที่ระดับ 38.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 40.5 และภาคใต้ จากระดับ 30.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.9

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ในขณะที่ภาคใต้ที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนพฤษภาคม 2563

ความกังวลใจของประชาชนในปัจจุบันพบว่า เรื่องที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุด 5 ลำดับแรกได้แก่

  • ไวรัสโควิด-19 จะยืดเยื้อ ร้อยละ 28.9
  • รายได้ลดลง ร้อยละ 18.5
  • สินค้ามีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 14.6
  • ความไม่มั่นคงในอาชีพ ร้อยละ 10.3
  • การบริหารจัดการภาครัฐ ร้อยละ 8.1
ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนพฤษภาคม 2563

ผลกระทบในการประกอบอาชีพจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า เรื่องที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ รายได้ของกิจการลดลง ร้อยละ 38.2 รองลงมาได้แก่ ได้รับค่าจ้างน้อยลง ร้อยละ 18.6 สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 28.0

การซื้อสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่พบว่า ในช่วงนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.6 เท่าเดิมร้อยละ 28.1 สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อลดลง คิดเป็นร้อยละ 35.3

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ