ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกันยายน 2563 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2020 12:56 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 104.6 เทียบกับเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 1.2 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 2.2 โดยเป็นการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ที่ปรับลดลงร้อยละ 5.5 2.8 และ 0.3 ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญยังคงมาจากปริมาณผลผลิตที่ยังมากกว่าความต้องการ และผู้ประกอบการหลายรายปรับราคาลงเพื่อเร่งระบายสินค้าที่มีการผลิตไว้ล่วงหน้าก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนกันยายน 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการแข่งขันที่ยังสูงอยู่และยังมีความต้องการระบายสินค้าในตลาด หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.8 จากการลดลงของชีทไพล์คอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา ยังคงลดลงจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้มีการแข่งขันสูง หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 5.5 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ซึ่งปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของโถส้วมชักโครก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา และที่ใส่สบู่ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ถังเก็บน้ำสแตนเลส และถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส ซึ่งราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ยังคงเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์มีการหยุดการผลิต (Shut down) ทำให้ปริมาณผลผลิตยางมะตอย ลดลง ขณะที่ความต้องการยางมะตอยเพื่อใช้ก่อสร้างและซ่อมบำรุงทางของโครงการภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น

2. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดซีเมนต์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.8 ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากมีการแข่งขันสูง ประกอบกับผู้ประกอบการต้องการระบายสินค้าในสต็อก จึงทำให้ราคามีการปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตามการสูงขึ้นของราคาเศษเหล็กในตลาดโลก หมวดกระเบื้อง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของราคายางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกลดลง

3. เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 2.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง และบานประตู หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป จากการแข่งขันที่สูงอันเกิดจากการเร่งระบายสินค้าของผู้ประกอบการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การก่อสร้างภาครัฐมีการเร่งดำเนินการเพื่อให้งานเสร็จตามสัญญา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.9 ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากการแข่งขันสูง จากการก่อสร้างภาครัฐที่เร่งดำเนินงานให้เสร็จตามสัญญา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 10.8 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ กระเบื้องแกรนิต ซึ่งราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน-โลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และถังเก็บน้ำสแตนเลส หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ ยางมะตอย ซึ่งเป็นผลจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศสิงคโปร์หยุดการผลิตในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 1.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.2 ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คานคอนกรีตสำเร็จรูป ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 8.1 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรูป I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท โดยลดลงต่อเนื่องจากความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ โถส้วมชักโครก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา และที่ใส่สบู่ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส ถังเก็บน้ำสแตนเลสปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือ สแตนเลส ลวดทองแดงสแตนเลส และทองแดง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย

5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ขาว หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู ซึ่งสูงขึ้นตามการสูงขึ้นของราคาเศษเหล็กในตลาดโลก หมวดกระเบื้อง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของฝักบัวอาบน้ำ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย

6. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 4 ปี 2563

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือโครงการก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการที่เร่งดำเนินงาน ในขณะที่การก่อสร้างใหม่ของภาคเอกชนยังคงซบเซา ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง และราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไม่มากนัก ประกอบกับปริมาณผลผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างยังมากกว่าความต้องการ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกสอง ส่งผลกระทบให้ธุรกิจด้านการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการของสถาบันการเงินที่คุมเข้มขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอการลงทุนในโครงการใหม่ และเน้นการระบายสต็อก ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคและนักลงทุนก็ยังคงชะลอการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวต่างชาติให้กลับมาได้ ประกอบกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่ออกมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ น่าจะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมความต้องการในภาคก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ