ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 4, 2022 10:20 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6 เทียบกับระดับ 47.0 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 37.6 มาอยู่ที่ระดับ 35.6 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงจากระดับ 53.2 มาอยู่ที่ระดับ 50.6 แต่ยังคงอยู่ในช่วงที่มีความเชื่อมั่น เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ที่ยังมีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ระงับการเดินทางในรูปแบบ Test & goและ Sandbox outside Phuket ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ต้องสูญเสียรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ภาวะราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารสด ประกอบกับมาตรการของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ได้หมดเขตไปในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาส่งผลให้กำลังซื้อของภาคประชาชนลดลงจากช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง และยังคงอยู่ในช่วงที่มีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ

เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 36.27 รองลงมาคือ ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 27.43 ด้านมาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 12.62 ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 7.03 ด้านการเมืองคิดเป็นร้อยละ 6.05 ด้านเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 4.10 ด้านสังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 3.76 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 2.04 และอื่น ๆ ร้อยละ 0.71 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเกือบทุกภูมิภาค โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวลดลงมากที่สุด จากระดับ 43.8มาอยู่ที่ระดับ 35.4 รองลงมาคือ ภาคกลาง ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 48.3มาอยู่ที่ระดับ 44.4 ภาคใต้ จากระดับ 48.2 มาอยู่ที่ระดับ 45.0 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ48.3 มาอยู่ที่ระดับ 46.8 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย รองลงมาคือ ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของรัฐ ตามลำดับ

ขณะที่ ภาคเหนือ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 44.4 มาอยู่ที่ระดับ 44.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย รองลงมาคือ ภัยพิบัติ/โรคระบาดและมาตรการของรัฐ ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 45.9 มาอยู่ที่ระดับ 41.6 รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 49.2มาอยู่ที่ระดับ 45.4 กลุ่มนักศึกษา จากระดับ41.7 มาอยู่ที่ระดับ 39.0 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 52.7มาอยู่ที่ระดับ 50.5 จากปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรก คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย รองลงมาคือ ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของรัฐ ตามลำดับ กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ปรับตัวจากระดับ 44.0มาอยู่ที่ระดับ 41.5 และกลุ่มรับจ้างอิสระจากระดับ 43.7มาอยู่ที่ระดับ 42.8 จากปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรก คือ ปัจจัยด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด รองลงมาคือ เศรษฐกิจไทย และมาตรการของรัฐ ตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มเกษตรกร ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.8มาอยู่ที่ระดับ 47.0 จากปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรก คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย รองลงมาคือ ภัยพิบัติ/โรคระบาด และราคาสินค้าเกษตร ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากระดับ 50.7 มาอยู่ที่ระดับ 45.8 ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก 7 กลุ่มอาชีพ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ