ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 4, 2022 15:27 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 117.1 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นร้อยละ 6.7 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยยังคงมีสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน และเหล็ก เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างของประเทศ

ภาพรวมการก่อสร้าง การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซาจากผลต่อเนื่องวิกฤตโรคระบาด ตลอดจนสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ก็สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการในประเทศส่งผลให้มีการชะลอการลงทุน ถึงแม้จะมีปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วงระยะนี้

ในขณะที่การก่อสร้างภาครัฐยังคงดำเนินงานได้ตามงบประมาณ ส่งผลให้มีการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมสินค้าวัสดุก่อสร้างจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน ไม้ฝา และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.5 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ถ่านหิน และน้ำมัน) มีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.3 ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีต เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 14.1 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มที่ราคาจะยังคงสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาเศษเหล็ก และถ่านหิน เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ ราวแขวนผ้าติดผนัง กระจกเงา และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ประตูน้ำ ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และตะแกรงกรองผง เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 5.4 จากการสูงขึ้นของ สินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม ยางมะตอย และอิฐหินดินทราย จากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

2. เทียบกับเดือนมกราคม 2565 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 สูงขึ้นเล็กน้อยจากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากราคาต้นทุนมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 3.1 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ท่อเหล็กร้อยสายไฟ และลวดผูกเหล็ก เป็นต้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากการสูงขึ้นของสายไฟฟ้า VCT สายเคเบิล THW และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของอลูมิเนียมแผ่นเรียบ และยางมะตอย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.1 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา จากการลดลงของที่ปัสสาวะเซรามิก ส่วนกลุ่มสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดกระเบื้อง และหมวดวัสดุฉาบผิว

3. เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน ไม้ฝา และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยวัตถุดิบ (ถ่านหิน น้ำมัน) ปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.5 ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีต เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 12.4 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่มีความผันผวน อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตเหล็กมีการลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาเหล็กยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยที่ยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยยังคงปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ ราวแขวนผ้าติดผนัง กระจกเงา และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ประตูน้ำ ท่อ PVC สามทางท่อประปา และข้องอ-ข้อต่อท่อประปา เป็นต้น เนื่องจากราคาเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 5.0 จากการสูงขึ้นของ สินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม ยางมะตอย และอิฐหินดินทราย เนื่องจากราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบ

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม ปี 2565

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม ปี 2565 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัว โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ยังคงขยายตัวตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก และอุปทานเหล็กที่มีแนวโน้มตึงตัวจากที่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างจีนยังคงขยายเวลาลดกำลังการผลิตเหล็กในแหล่งผลิตสำคัญช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2565 เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการซื้อขายเหล็กจาก 2 ประเทศ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ราคาน้ำมัน วัตถุดิบ ค่าแรง ที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตวัสดุก่อสร้าง และมีผลให้ราคาวัสดุก่อสร้าง อาทิ ยางมะตอย ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นตามลำดับ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ