มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 8 การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 21, 2011 15:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 8 การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอ ดังนี้

1. ให้คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งกลไกร่วมในการดำเนินการดังนี้

1.1 แปลงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม สู่แผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ครอบคลุมทุกระดับ รวมทั้งจัดทำมาตรการเร่งด่วน ในการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแบบบูรณาการ ภายในปี พ.ศ. 2554

1.2 ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด จัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่นและเยาวชนทุกระดับ ดำเนินการติดตามประเมินผล ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 และยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

1.3 ประสานการดำเนินงาน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

2. กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ร่วมกับองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมดำเนินงานพัฒนาการเรียนการสอนเพศศึกษา (sexuality education) จริยธรรมและศีลธรรมและจัดให้มีระบบรองรับการแก้ปัญหานักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ในระหว่างการศึกษา โดย

2.1 พัฒนาศักยภาพและสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนและบุคลากรในสถานศึกษา รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้สอนเรื่องเพศศึกษา ให้ครอบคลุมทั้งในและนอกระบบการศึกษา

2.2 จัดให้มีกระบวนการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้าน (Comprehensive sexuality education)ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ โดยเริ่มให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษาและจริยธรรมทางเพศตั้งแต่ปฐมวัย โดยการเพิ่มกิจกรรมนอกหลักสูตรและสร้างเสริมทักษะทางสังคม และให้มีระบบติดตามกระบวนการเรียนการสอนและหนุนเสริมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.3 ให้สถานศึกษาปรับกระบวนการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรถ์ ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 15 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย และมาตรา 24(6) ที่บัญญัติให้จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสนักเรียน นักศึกษา ที่ตั้งครรถ์ได้รับการศึกษาจนจบหลักสูตร โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรถ์

2.4 ให้สถานศึกษาร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่หลากหลายโดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

3. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายเด็กและเยาวชน

3.1 สนับสนุนการดำเนินงานเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์ สำหรับเด็กและเยาวชน

3.2 สนับสนุนให้ชุมชนออกมาตรการทางสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น

3.3 ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ทุกแห่ง พิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อการดำเนินงาน

3.4 ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งดำเนินการในเรื่องสุขภาวะทางเพศวัยเจริญพันธุ์

3.5 สนับสนุนและพัฒนา พื้นที่สื่อ และกิจกรรมที่สร้างสรรค์เดิมและขยายพื้นที่สื่อ และกิจกรรมที่สร้างใหม่สำหรับเด็กและเยาวชน

4. สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะให้ความร่วมมือในการดำเนินงานดังนี้

4.1 ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรณรงค์สร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศในสังคม

4.2 ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนและองค์กรในชุมชน เพื่อการเสริมสร้างครอบครัวเข้มแข็งในชุมชนอย่างเป็น รูปธรรม

4.3 ร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาความรู้ ทัศนคติในเรื่องเพศเชิงบวก จริยธรรม และศีลธรรม ให้แก่เด็ก เยาวชน พ่อแม่และผู้ปกครอง รวมทั้งการจัดทำแนวทางเพื่อส่งเสริมให้สามารถสื่อสารเรื่องเพศได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย และสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

4.4 ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดบริการที่ หลากหลายเป็นมิตรแก่วัยรุ่นสนับสนุนการทำงานของศูนย์ที่เกี่ยวข้อง

4.5 ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แลคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เข้มงวดในการจัดการพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนตามยุทธศาสตร์ นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ

4.6 สนับสนุน เร่งรัด และผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ..... ให้สามารถประกาศใช้ได้ ภายในปี พ.ศ. 2554

5. ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ