เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กระทรวงการคลัง (กค.) ได้รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าแร่ใยหิน กค. พิจารณาเห็นว่า ในทางปฏิบัติมาตรการภาษีจะไม่สามารถสกัดกั้นการนำเข้าแร่ใยหินได้ แต่ควรใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจะเกิดผลในทางปฏิบัติมากกว่า เพราะว่าแร่ใยหินตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 25.24 (asbestos) ได้รับการยกเว้นอากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และยกเว้นอากรตามความตกลงเขตการค้าเสรีในกรอบต่างๆ แล้ว ทั้งนี้ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอยู่ด้วยแล้ว ในส่วนของอัตราภาษีการนำเข้าของสารที่นำมาทดแทนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นั้น ส่วนใหญ่มีอัตราอากรร้อยละ 0-5 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว
2. การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา กค. ได้ดำเนินการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยให้หักเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 หรือหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539
3. การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน กค. กำลังพิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการประชุมหารือร่วมกับ ทส. แล้ว
4. การตรวจสอบหาสาเหตุที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบแทนแร่ใยหินมีราคาสูงขึ้นเนื่องมาจากต้นทุนหรือการเพิ่มอัตราภาษี กค. ได้ตรวจสอบสินค้าที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ทดแทนแร่ใยหิน เช่น เส้นใยแก้วทอ เส้นใยเซรามิค เส้นใยยิปซั่ม เส้นใยคาร์บอน เส้นใยที่มีสภาพเป็นพลาสติก พบว่า ส่วนใหญ่วัตถุดิบดังกล่าวมีอัตราอากรร้อยละ 0-5 ซึ่งเป็นอัตราค่อนข้างต่ำ และยังมีเส้นใยที่ได้จากธรรมชาติซึ่งสามารถผลิตในประเทศได้ ดังนั้น อัตราภาษีขาเข้าจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบแทนแร่ใยหินมีราคาสูงขึ้น แต่สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนสินค้าดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นมีปัจจัยมาจากการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทางการผลิตใหม่เป็นหลัก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มกราคม 2555--จบ--