การจัดทำความตกลงโครงการ PD 577/10

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2012 13:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำความตกลงโครงการ PD 577/10 Rev.1 (F) Management of the Emerald Triangle Protected

Forests Complex to Promote Cooperation for Transboundary Biodiversity Conservation between

Thailand, Cambodia and Laos (Phase III)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบในการจัดทำความตกลงโครงการ PD 577/10 Rev.1 (F) Management of the Emerald Triangle Protected Forests Complex to Promote Cooperation for Transboundary Biodiversity Conservation between Thailand, Cambodia and Laos (Phase III) [การจัดการผืนป่าอนุรักษ์สามเหลี่ยมมรกตเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพข้ามเขตแดนระหว่างประเทศไทย (ระยะที่ 3)] กับองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ (International Tropical Timber Organization : ITTO)

2. เห็นชอบให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ลงนามในความตกลงโครงการฯ ดังกล่าว โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจ (Full Powers) เพื่อให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้แทนลงนามในความตกลงข้างต้นต่อไป

และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. โครงการ PD 577/10 Rev.1 (F) (Phase III) เป็นโครงการระยะที่ 3 ที่จะดำเนินการต่อจากโครงการเดิมที่กรมป่าไม้ได้เข้าร่วมดำเนินการอยู่ก่อนแล้วในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยโครงการระยะที่ 3 ได้รับพิจารณาจากคณะกรรมาธิการ ITTO และมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ รวมถึงให้การสนับสนุนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการด้วย โดยคาดว่าจะดำเนินการในปี พ.ศ. 2555 — 2558 ทั้งนี้ ITTO ได้ส่งหนังสือ Ref.L.11-0004 ลงวันที่ 7 มกราคม 2554 เรื่อง PD 577/10 Rev.1 (F) Management of the Emerald Triangle Protected Forests Complex to Promote Cooperation for Transboundary Biodiversity Conservation between Thailand, Cambodia and Laos (Phase III) และร่างความตกลงโครงการฯ มาให้กรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานกลาง (Focal Point) ในการดำเนินการภายใต้ ITTO เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีการลงนามในร่างความตกลงโครงการฯ ดังกล่าว ผลสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการระยะที่ 3 นี้ คือ แผนการจัดการและดำเนินการระยะยาวในการพัฒนาด้านความร่วมมือ และการบูรณาการงานด้านการอนุรักษ์กับการพัฒนา เช่น การวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับสัตว์ป่าและกระบวนการทางนิเวศ การเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการดำเนินกิจกรรมในการปรับปรุงมีความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากพื้นที่อนุรักษ์

2. โครงการฯ ระยะที่ 3 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสามฝ่าย คือ ITTO ประเทศไทย และราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งการที่จะเริ่มดำเนินการโครงการนี้ได้จำเป็นต้องมีการลงนามความตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจาก ITTO ว่าราชอาณาจักรกัมพูชามีความพร้อมที่จะลงนามในความตกลงโครงการดังกล่าวแล้ว และจะเริ่มดำเนินการได้ทันที ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในการเข้าร่วมดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 3 รวมถึงการให้ความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

3. เนื่องจากโครงการฯ ในระยะที่ 2 ได้สิ้นสุด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ดังนั้นจำเป็นจะต้องศึกษาและพัฒนาโครงการฯ ในระยะที่ 3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายแดนของประเทศโดย ITTO พร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานของประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และองค์การระหว่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษา และป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ชายแดนซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว

4. ร่างความตกลงโครงการฯ ระยะที่ 3 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

4.1 ในโครงการฯ ระยะที่ 3 กรมป่าไม้ (ประเทศไทย) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ITTO ในรูปเงินสด (In cash) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 800,280 ดอลลาร์สหรัฐ โดยกรมป่าไม้ สนับสนุนงบประมาณที่ไม่อยู่ในรูปของเงินสด (In kind) ประเมินเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 339,552 ดอลลาร์สหรัฐ

4.2 โครงการฯ ระยะที่ 3 จะนำบทเรียนจากการดำเนินงานโครงการระยะที่ 1 และ 2 มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพและกิจกรรมในการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในโครงการ

4.3 เป้าประสงค์ของโครงการฯ ระยะที่ 3 คือ ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และลาวโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะของโครงการเพื่อเสริมสร้างการป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในบริเวณผืนป่าสามเหลี่ยมมรกต โดยมีการดำเนินงานและพัฒนา ในด้านความร่วมมือตามแผนการจัดการระยะยาว และการบูรณาการงานด้านการอนุรักษ์กับการพัฒนาซึ่งเป็นกรอบงานเพื่อดูแลรักษาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ถาวรระหว่างประเทศทั้งสามประเทศ

4.4 ผลผลิตของโครงการฯ ระยะที่ 3 ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการและดำเนินการในการพัฒนาด้านความร่วมมือและการบูรณาการ งานด้านการอนุรักษ์กับการพัฒนาซึ่งรวมถึงผลจากการวิจัยถึงชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ต่าง ๆ และกระบวนการทางนิเวศวิทยา ที่สอดคล้องกันระหว่างประเทศที่ร่วมโครงการ 2) การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประเมินและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 3) ชุมชนท้องถิ่นจะได้รับการส่งเสริมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น จากการดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านป่าชุมชนของกรมป่าไม้ และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในระดับนานาชาติร่วมกับประเทศในภูมิภาค ได้แก่ กัมพูชา ลาว และไทย เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งสามประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

4.5 เมื่อโครงการฯ ระยะที่ 3 สิ้นสุด คาดว่าจะทำให้พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณชายแดนมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการเคลื่อนย้ายถิ่นและการอยู่รอดในระยะยาวของสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในบริเวณ ผืนป่าอนุรักษ์สามเหลี่ยมมรกต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ